
สื่อหลายสำนักพาดหัวข่าวว่า ดีเอสไอจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนทำคดีฮั้วเลือก สว.
นับไป 3 เดือนก็จะตกประมาณเดือน มิ.ย. จะได้รู้ว่าชะตากรรมของ สว.ที่มาจากกระบวนการเลือกกันเองจะเป็นอย่างไร
ดีเอสไอหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษจะสอบในเรื่องการฟอกเงิน อันเป็นเรื่องที่มีอำนาจ
เป็นอำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
มาตรา 3 ของ พ.ร.บ.นี้ระบุมูลฐานความผิดฟอกเงินไว้ 28 ประเภท
นอกจากความผิดยาเสพติด คดีทางเพศ ค้ามนุษย์ ฉ้อโกงประชาชน ที่มักจะพบเห็นข่าวคราวการสอบสวนบ่อย ๆ แล้ว
ยังรวมถึงการทุจริตเลือกตั้ง ทั้ง สส., สว., และเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย
เมื่อเกิดการร้องเรียนกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิด โดยเฉพาะในเรื่องที่กระทบต่อสังคม
ทางออกที่ดีคือ การนำเรื่องเข้ากระบวนการยุติธรรม เพื่อหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น
หากไม่พบการละเมิดกฎหมาย เรื่องก็จบ ถ้าพบความผิด ก็ดำเนินการตามกฎหมาย
ปัญหาการเลือก สว. ทำให้ สว.บางกลุ่มเป็นเดือดเป็นแค้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะที่เป็นต้นสังกัดของดีเอสไอ
มีข่าวจะยื่นต่อองค์กรต่าง ๆ ให้ถอดถอน สอบสวน ไปจนถึงให้ยุบหน่วยงาน
สะท้อนความไม่พอใจของ สว.อันเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ไม่ธรรมดา
ก็คงมีผลกระทบต่อการสอบสวนของดีเอสไออยู่ไม่น้อย แต่คดีนี้อยู่ในความสนใจของประชาชนและสังคม
เพราะที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏเรื่องราวลักษณะนี้มาก่อน
การเข้าไปทำหน้าที่ของดีเอสไอ จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนสนับสนุน
พ.ต.อ.ทวีให้สัมภาษณ์ถึงการสอบสวนว่า ดีเอสไอจะสอบสวนร่วมกับอัยการ หลังจากรับเป็นคดีพิเศษแล้ว พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจะต้องมีการประชุมร่วมกัน และเสนอแผนการสอบสวน
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจะทำหนังสือไปถึงอัยการสูงสุด ในการประสานงาน และสำนักงานอัยการสูงสุดตั้งเป็นคณะทำงาน เพราะคดีนี้มีพยานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยหลังจากนี้จะเป็นเรื่องของพยานหลักฐาน
ในเรื่องของกรอบระยะเวลา พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า กฎหมายระบุไว้ว่าให้สอบสวนโดยเร็ว คดีนี้เรารู้ชื่อพยานเยอะแล้ว และในการชี้แจงจะมีข้อมูลอยู่แล้ว หากจะให้เสร็จโดยเร็ว คาดว่าน่าจะใช้เวลา 3 เดือน หากมีคนผิดจะแจ้งข้อกล่าวหา และหากจะสรุปสำนวนส่งอัยการอาจจะใช้เวลามากกว่านั้นอีกนิดหน่อย
ยืนยันว่าไม่ได้มีบุคลากรจากกรมสอบสวนคดีพิเศษอย่างเดียว แต่จะมีเจ้าหน้าที่จากอัยการ และหลังจากนี้จะมีการตั้งบุคคลภายนอก เช่น ตำรวจ และผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ด้วย ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งใคร เราดูทั้งกฎหมาย
รวมถึงประสานงานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. วันนี้ กกต.ยังไม่ได้เรียกสำนวน ทั้งที่ได้แจ้งให้ทาง กกต.ทราบแล้ว ตามกฎหมายต้องเรียกสำนวนภายใน 7 วัน อีกทั้งเอกสารมีค่อนข้างมาก และเป็นความลับ รวมถึงพยานจำนวนมากส่วนใหญ่จะขอคุ้มครองพยาน
เมื่อถามว่า สว.ร้อง ป.ป.ช.ว่าพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ดีเอสไอมีดูไม่น่าเชื่อถือ
พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ยินดีให้ตรวจสอบ เมื่อท่านถูกเรียกเข้ามาให้การ หรือแจ้งข้อกล่าวหา เราให้ความร่วมมือ และพร้อมให้ความเป็นธรรม
ส่วนที่ สว.เสนอให้ยุบกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น ถือเป็นสิทธิ และคงคิดว่าเขามีชื่ออยู่ในโพย
ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษต้องรับฟัง และต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมโดยชอบตามกฎหมาย รมว.ยุติธรรมกล่าว
ปัญหาการเลือก สว.จะเป็นการทำงานของ 2 หน่วยงาน นอกจากดีเอสไอ ยังได้แก่ “กกต.”
กกต.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ก่อตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 เคยสร้างผลงานดีเด่นในการกำกับการเลือกตั้งในปี 2544
กกต.มีที่มาจากการสรรหา และรับรองโดย สว. ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ให้มาจากเลือกตั้ง 100%
หลังรัฐประหาร 2549 ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้รัฐธรรมนูญ 2550 จากคณะรัฐประหาร
ที่มาของ สว.เปลี่ยนแปลงไป จึงมีผลต่อ กกต.พอสมควร
ผลงานของ กกต.ได้เห็นกันมาแล้วจากการเลือกตั้ง สส. 2 รอบ และการเลือก สว.ในปี 2567
และต้องรอดูกันต่อไป จากการสอบคดีฮั้ว สว.ในครั้งนี้