นันทนา แนะ รบ.แจงสังคมโลก ปมส่งกลับอุยกูร์ ชี้ให้เห็นไทยเคารพสิทธิมนุษยชน

นันทนา แนะรัฐบาล ต้องแจงสังคมโลก ปม ‘สภาอียูฯ’ ประณามเหตุส่งกลับอุยกูร์ 

สว.นันทนา แนะรัฐบาลต้องทำการบ้านเตรียมอธิบายสังคมโลก หลัง ‘สภาอียู’ มีมติประณามไทยส่งกลับอุยกูร์ ว่าไทยเคารพสิทธิมนุษยชน-มีความเป็นประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล

น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐสภายุโรป โหวตประณามประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในไทย เรียกร้องให้ใช้การเจรจาการค้าเสรีเป็นแต้มต่อกดดันไทยให้ปฏิรูปกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพ รวมถึงระงับการเนรเทศผู้อพยพชาวอุยกูร์ ว่า เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในมุมกว้าง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องภาพลักษณ์เท่านั้น

แต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะมติที่ออกมามีการพูดถึงเรื่องข้อตกลงทางการค้า FTA ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศในยุโรป ซึ่งส่งผลให้ไทยเผชิญความยากลำบาก ในการทำมาค้าขายกับต่างชาติ เพราะแม้ประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม ก็อาจจะมองว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีอารยะด้านสิทธิมนุษยชน เรื่องความเป็นประชาธิปไตย

ดังนั้น จึงเป็นการบ้านที่รัฐบาลต้องจับตา ว่าจะทำอย่างไรในการอธิบายต่อสังคมโลกได้ว่า เราเป็นประเทศที่เคารพด้านสิทธิมนุษยชน และมีความเป็นประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล

เมื่อถามว่า จะเปิดช่องให้มีการนำเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขต่อรองทางการค้าในอนาคตใช่หรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า แน่นอน เพราะถือเป็นวิธีการที่ประชาคมโลก มาตรฐานในเรื่องสิทธิมนุษยชน หากเราอยู่ในมาตรฐานนั้น ก็ไม่มีปัญหา แต่หากเราอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือกฎเกณฑ์ที่นานาประเทศไม่ยอมรับ เราก็จะอยู่ในประชาคมโลกได้ยาก ทางสังคมและเศรษฐกิจ

เมื่อถามถึง กรณีที่ทางรัฐบาลเตรียมนำสื่อมวลชนไปประเทศจีน เพื่อดูชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์นั้น ที่มีประเด็นดรามาเกิดขึ้นนั้น น.ส.นันทนา กล่าวว่า การนำสื่อเข้าไปในสถานที่ที่ต้องการตรวจสอบ เป็นเรื่องที่ดี แต่เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ และประเทศที่เราจะไปมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนของสื่อมวลชน ซึ่งรัฐบาลก็จะพยายามที่จะคัดกรองให้สื่อที่เข้าไปถึงพื้นที่ได้ทำหน้าที่ เพื่อสื่อสารกับประชาชนและประชาคมโลกอย่างชัดเจน

ADVERTISMENT

ฉะนั้นความหลากหลายของกลุ่มสื่อ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่แค่สื่อของรัฐ หรือลักษณะของสื่อที่รัฐบาลใกล้ชิด ควรจะจะมีความหลากหลายและเปิดโอกาสให้สื่อเปิดประเด็นและนำเสนอเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้รัฐบาลต้องมีคำตอบว่าวิธีการคัดเลือกสื่อที่จะพาไปนั้นเป็นอย่างไร

ส่วนมองหรือไม่ว่ารัฐบาลเกรงว่าจะมีการนำเสนอ ข่าวตรงข้ามกับที่รัฐบาลต้องการจะสื่อสาร น..นันทนา กล่าวว่า สื่อมวลชนมีจรรยาบรรณ เขาต้องรายงานสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดไม่ใช่แค่บางส่วน และต้องยืนอยู่บนหลักการที่นำเสนอข่าวโดยไม่เลือกข้างและเป็นกลาง หากสื่อไปแค่นำเสนอบางเรื่องบางด้าน ต้องบอกว่าขาดจรรยาบรรณของสื่อ และหากรัฐบาลสนับสนุนให้ทำเช่นนั้น รัฐเองก็ถือว่าทำลายจรรยาบรรณของสื่อด้วย ฉะนั้นจึงควรเปิดโอกาสให้มีการนำเสนอข่าวอย่างรอบด้านเพื่อให้ความจริงประจักษ์กับประชาชน

ADVERTISMENT

ภาพ : มติชนสุดสัปดาห์