
ทักษิณ ขึ้นเวทีโชว์วิสัยทัศน์ ปั้นดิจิทัลวอลเลตเต็มระบบ ได้เห็นแน่ปีนี้ หวังลดค่าไฟ เหลือ 2.50 บาท
เวลา 19.43 น. (14 มี.ค.) นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมงาน MFC’s 50th Anniversary_The World’s Next Opportunities and Beyond เปิดโอกาสลงทุนแห่งอนาคต และร่วมเสวนาในหัวข้อ “โอกาสและอนาคตของการลงทุน” โดยพิธีกรได้ตั้งคำถามว่า อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกเรา และการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ในระดับโลกและภูมิภาคในความคิดคุณคืออะไร
นายทักษิณ กล่าวว่า สำหรับพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้คำมั่นสัญญามุ่งมั่นอยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของบล็อกเชนและคริปโทเคอเรนซี ซึ่งเชื่อว่าเรามีความพร้อมและสามารถบรรลุเป้าหมายได้ และวางแผนจะมีแซนด์บ็อกซ์ที่ภูเก็ต โดยใช้คริปโทเคอเรนซีเป็นสกุลเงินในการแลกเปลี่ยน รวมถึงสเตเบิลคอยน์ ด้วยการรองรับจากพันธบัตรรัฐบาลได้เตรียมแผนตรงนี้ไว้
“ปัจจุบันเรากำลังทำดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อปูทางสิ่งเหล่านี้ นำดิจิทัลไอดีให้ประชาชนได้ใช้ และเราจะมาสร้างบล็อกเชนของประเทศ ตนคิดว่าสิ่งเหล่านี้ทุกคนจะเห็นภายในปีนี้แน่นอน” นายทักษิณ กล่าว
นายทักษิณ กล่าวต่อว่า หลังจากที่ได้กลับประเทศ ได้พูดคุยกับหลายคนที่อยากมาลงทุนในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องดาต้าเซ็นเตอร์ AI และระบบคลาวด์ ซึ่งตนมั่นใจว่าไทยมีความสามารถและสามารถดึงดูดนักลงทุนได้ แต่ผู้จะมาลงทุนในประเทศไทยส่วนหนึ่งก็ได้มีการถามถึงพลังงานสีเขียว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำให้ราคาพลังงานในประเทศไทยถูกลงให้ได้ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดพลังงานสีเขียวราคาต่ำ และวงการ AI
นอกจากนี้ ตนมีความฝันอยากให้คนไทยมีความรู้ด้าน AI ภายใน 10 ปีนี้ เพราะ AI มีอิทธิพลและบทบาทในชีวิตของเรามาก และสามารถเพิ่มศักยภาพได้ ถ้าเรารู้วิธีการใช้ ตนพยายามหาวิธีว่าไทยสามารถปรับ AI มาใช้อย่างไรได้บ้างให้เท่าทันโลก เช่น โรงพยาบาลเขต มีหมอ 1 คน คนต่อไปอาจเห็น AI ช่วยวินิจฉัย ประเมินโรค ทำงานแทนคุณหมอได้ในบางพื้นที่ คิดว่าเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ และไม่ต้องรอ เราต้องเริ่มในวันนี้
เมื่อพิธีกรตั้งคำถามว่า ในประเทศไทยถ้าเราไม่ลงมือทำ จะมีผลอะไรตามมา นายทักษิณ ยืนยันว่า เราต้องลงมือทำตอนนี้เลย โดยเฉพาะ AI สิ่งที่เรามีในปัจจุบันคือโครงสร้างพื้นฐาน แต่ถ้าเรานำเทคโนโลยีมาผนวกด้วยก็จะทำให้มีศักยภาพ และมีความสำคัญต่อโลกใบนี้มากขึ้น แต่ถ้าเราไม่นำเทคโนโลยีเข้ามา ก็จะล้าหลัง ตามหลังประเทศอื่นในโลกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการเทคโนโลยีที่ปัจจุบันต้องการบุคลากรจากต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ พวกเรายังมีข้อได้เปรียบที่สามารถดึงดูดคนที่ต้องการมาลงทุนฮับในประเทศไทย ทั้งการแพทย์อาหารและการท่องเที่ยว จะช่วยให้เราเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
พิธีกรตั้งคำถามอีกว่า 1 สิ่งที่อยากเห็นในประเทศไทย อีกใน 12 เดือนข้างหน้า นายทักษิณ กล่าวว่า ตนอยากหาสักที่ในกรุงเทพฯ ให้เป็นดาต้าเซฟโซน ทำให้โซนนั้นเป็นดิจิทัลเอ็มบาสซี่ หรือ สถานทูตดิจิทัลที่หลายประเทศมาอยู่ตรงนั้น และจะทำให้ประเทศไทยเป็น AI ฮับ นี่คือความฝันของตน และจะทำให้เป็นจริงได้มันจะไม่ใช่ความฝัน มันยาก มันท้าทายแต่มันเป็นจริงได้ เราต้องทำให้ต้นทุนค่าพลังงานต่ำที่สุดเพื่อให้ได้ก่อนมิฉะนั้นเราจะไม่สามารถทำเหล่านี้ได้
จากนั้นเป็นคำถามของผู้ที่มาร่วมงาน โดย นายทอม เครือโสภณ ได้สอบถามเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ในไทย ซึ่งนายทักษิณ กล่าวว่า ตอนนี้มีพลังงานนิวเคลียร์หลากหลาย ซึ่งเทคโนโลยีนี้ค่อนข้างใช้เยอะแล้ว เช่น จีน ญี่ปุ่น แต่ก็ยังแพงอยู่ สำหรับพลังงานสีเขียว เช่น โซลาร์เซลล์ ถือว่าต้นทุนพลังงานลดลงไปมากแล้ว อาจจะเหลือ 1 บาทด้วยซ้ำ ถ้าเราสามารถใช้พลังงานสีเขียวมากขึ้น โดยที่ต้นทุนต่ำ และใช้น้ำมัน ถ่านหิน น้อยลง ตนคิดว่าจะทำให้ต้นทุนลดต่ำลงอีก 6-7 เซนต์ แต่ขณะเดียวกันเรื่องการบริหารจัดการไฟฟ้า เราจะต้องเพิ่มการใช้ สมาร์ทกริด (Smart Grid) มากขึ้น (Smart Grid คือระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่นำเทคโนโลยีหลากหลายประเภทเข้ามาทำงานร่วมกัน)
ส่วนเรื่องค่าไฟจาก 11 เซ็นต์ เป็น 3 เซ็นต์ จะมีวิธีการลดต้นทุนพลังงานอย่างไร นายทักษิณ กล่าวว่า ทั่วโลกเวลาพูดถึง 2 เซ็นต์ เราต้องมีแผนการเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถแข่งขันได้ แต่มันไม่ง่าย เพราะตอนนี้เราต้องใช้พลังงานจากถ่านหิน และนำเข้า แต่ก็ไม่พอ ฉะนั้น ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ แอลเอ็นจี ทำให้ต้นทุนพลังงานสูง และปัจจุบันเราต้องใช้รูปแบบนี้ ส่วนโซลาร์เซลล์ก็ดีขึ้น แต่ต้องใช้พื้นที่เยอะในการติดตั้ง
ดังนั้นถ้าเราไปติดตั้งโซลาร์เซลล์ ก็จะเสียพื้นที่การเกษตร ก็ต้องวางแผน และคิดแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้ลดต้นทุนได้ในการผลิตพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน 8 เซ็นต์น่าจะเป็นไปได้ 2 เซ็นต์น่าจะอีกไกล แต่ 11 เซ็นต์ไป 8 เซ็นต์ เราจะทำให้ได้ ไม่งั้นเราจะแข่งขันกับใครไม่ได้เลย เพราะหลายประเทศอยากมาลงทุน ตนได้คุยกับหลายบริษัท 6 -7 เซ็นต์ ยอมรับได้ แต่มันต้องลดให้เหลือ 2.50 บาท ตอนนี้ 4.12 บาท ตอนนี้ต้องมีแผนการ
ส่วนจะเตรียมตัวอย่างไร ในฐานะคนวางนโยบายในการรับมือกับสังคมดิจิทัล ให้แข่งขันอย่างยุติธรรม นายทักษิณ ระบุว่า เราพูดถึงเรื่องนี้มา 20-30 ปีแล้ว แต่ตอนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ก็จะให้แท็บเล็ตฟรี เพื่อพยายามจะลดช่องว่างทางเทคโนโลยี แต่ตอนนั้นถูกรัฐประหารไป จึงยกเลิก
ปัจจุบันเรามีสมาร์ทโฟน สำหรับอุปกรณ์ดิจิตอล ก็พัฒนามากขึ้น รัฐบาลก็พยายาม ลด 2G เอาสมาร์ทโฟนมาแทนอนาล็อกโฟน เราน่าจะฝึกคนไทย อบรมให้การศึกษา ให้ทันการใช้ AI ได้มากขึ้น เราไม่ต้องเขียนซอฟต์แวร์ เอง AI สามารถช่วยเราทำตรงนี้ได้