
สุริยะเผยนายกฯ สั่งลงดาบแพ่ง-อาญา หากผลสอบพบเป็นความผิดผู้รับเหมาเหตุคานเหล็กถล่ม เล็งทบทวนแบ่งสัญญาผู้รับเหมาไม่ให้มากเกิน ยันถนนเสร็จปี 2568 แน่
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหารือถึงการวางมาตรการความปลอดภัยในการก่อสร้างถนนและเส้นทาง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังเกิดเหตุคานเหล็กถนนพระราม 2 ในโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง ว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ตนเชิญหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน หรือ รฟม. มารายงานถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผู้เสียชีวิต
โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการว่า หากมีการตรวจสอบแล้ว หากเกิดจากความผิดของบริษัทผู้รับเหมา หรือผู้ควบคุมงานก็ให้ใช้กฎหมายที่มีอยู่ ตามบทลงโทษสูงสุดมาตรา 109 หมวด 12 ในพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้าง ปี 2560 ว่าด้วยการทิ้งงาน

เมื่อถามว่า มีการรายงานถึงมาตรการสมุดพกเพื่อตัดแต้มผู้รับเหมาหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่าอธิบดีกรมบัญชีกลางระบุว่ามาตรการปัจจุบันตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างสามารถนำเรื่องดังกล่าวเข้ามาใช้ได้เลย ไม่ต้องรอมาตรการสมุดพก ซึ่งแต่ละกรมต้องใช้ดุลพินิจ และทางเจ้าหน้าที่ก็ห่วงว่าอาจถูกฟ้องร้องได้ อย่างไรก็ตาม คิดว่าควรตรวจสอบให้ชัดเจน และหากเป็นความบกพร่องของผู้รับเหมาก็ยืนยันว่าจะใช้มาตรการสูงสุด
เมื่อถามว่าจะสามารถเอาผิดผู้รับเหมาได้หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่าเรื่องนี้เพิ่งเกิดเมื่อ 2 วันที่แล้ว ซึ่งการทางพิเศษฯ จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง คงใช้ระยะเวลาการตรวจสอบไม่เกิน 1 เดือน
ส่วนจะมีมาตรการอะไรในการป้องกันเหตุไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ช่วงนี้ยังมีการก่อสร้างต่อเรื่อย ๆ และมีประชาชนที่สัญจรผ่านยังบริเวณดังกล่าวห่วงเรื่องความปลอดภัย ตนจึงเสนอให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท.ตรวจสอบกระบวนการและจะจัดจ้างที่ปรึกษา เพื่อดูกระบวนการทั้งหมด คำนวณความปลอดภัยในการก่อสร้างสูง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงได้มีการขอร้องที่ปรึกษาโดยไม่จ่ายค่าจ้าง แต่ขณะนี้คิดว่าต้องมีการจ้างให้เป็นกิจจะลักษณะ เพื่อให้มีบุคลากรมาช่วยดูแล
เมื่อถามว่าจะต้องมีการเอาผิดบริษัทที่ปรึกษาด้วยหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า หากเป็นความผิดพลาดของที่ปรึกษาก็ต้องดำเนินคดีอาญา รวมไปถึงฟ้องทางแพ่ง และหากผิดพลาดก็ต้องยึดใบอนุญาตของที่ปรึกษาด้วย
เมื่อถามว่า หากโครงการนี้แล้วเสร็จ ประชาชนจะมั่นใจได้หรือไม่ ว่าโครงสร้างจะแข็งแรง นายสุริยะกล่าวว่าทุกโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ยังไม่มีโครงการไหนที่ไม่แข็งแรง เพราะตอนออกแบบใช้มาตรการที่เป็นไปตามวิศวกรรม เพียงแต่อุบัติเหตุที่เกิดระหว่างการก่อสร้างเกิดจากความประมาทจากผู้รับเหมา
เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน จะต้องมีการไปตรวจสอบระหว่างการก่อสร้างหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ได้เกิดจากวัสดุในการก่อสร้าง แต่เกิดจากบริษัทผู้รับเหมาและลูกจ้างไม่ได้ทำตามขั้นตอน ซึ่งวัสดุในการก่อสร้างกรมทางหลวงตรวจสอบตลอดเวลาอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าการเกิดเหตุซ้ำแบบนี้ถือเป็นการหละหลวมในเรื่องของมาตรฐานหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ตนได้กำชับกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท รฟม. และหน่วยที่ต้องก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงกำชับให้ตัวอธิบดีไปพูดคุยกับผู้รับเหมา โดยคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้เชิญผู้รับเหมามาย้ำเรื่องความปลอดภัย แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นมาอีก
ตนจึงได้มีการเสนอมาตรการสมุดพกที่จะให้มีการตัดคะแนนผู้รับเหมา โดยมีเหตุการณ์จนถึงการสูญเสีย ก็จะมีการขึ้นบัญชีดำผู้รับเหมารายนั้นไม่สามารถเสนอราคาประมูลงานได้ จึงจะทำให้ผู้รับเหมาทำงานด้วยความระมัดระวัง เพราะหากโดนขึ้นบัญชีดำ 2 ปี อาจจะทำให้บริษัทนั้นล้มละลายได้ แต่ทางกรมบัญชีกลางเสนอว่าไม่จำเป็นต้องรอมาตรการสมุดพก ออกมาตรการที่กรมบัญชีกลางมีอยู่สามารถดำเนินการได้ แต่เจ้าหน้าที่เป็นห่วงเนื่องจากจะต้องมีการใช้ดูแลพินิจของหน่วยงาน
เมื่อถามว่าได้มีการขึ้นบัญชีดำผู้รับเหมาในเหตุการณ์ครั้งก่อนหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่าเหตุการณ์ครั้งก่อนยังไม่มีการขึ้นบัญชีดำผู้รับเหมา เนื่องจากอยู่ระหว่างการทำมาตรการสมุดพกของกรมบัญชีกลางและหน่วยงานรับผิดชอบสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ
เมื่อถามย้ำว่ามาตรการสมุดพกจะแล้วเสร็จและสามารถบังคับใช้ได้เมื่อใด นายสุริยะกล่าวว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ก่อนสิ้นเดือนเมษายน
ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่สามารถเอาผิดผู้รับเหมาได้ นายสุริยะกล่าวว่าที่ผ่านมาเคยพยายามแล้วแต่ไม่สามารถทำได้ เพราะในสัญญาไม่มีการกำหนดข้อห้ามรับงานไว้ จึงมีความคิดทำมาตรการสมุดพกขึ้นมา เพื่อวางแนวทางการทำงานกับผู้รับเหมาให้ได้
เมื่อถามว่ากระทรวงคมนาคมจะทบทวนเกี่ยวกับการแบ่งสัญญาการรับเหมาหรือไม่ เนื่องจากถนนพระราม 2 มีการซอยสัญญาก่อสร้างค่อนข้างมาก นายสุริยะกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการซอยสัญญา แค่ไม่กี่กิโลฯ ก็มีหลายสัญญา เช่น ถนนพระราม 2 มีถึง 14 สัญญา และบางสัญญาไม่แล้วเสร็จ ทำให้เกิดฟันหลอ ที่เหลือก็ต่อเนื่องไม่ได้ ก่อนจึงสั่งการไปว่า ต่อไปนี้ต้องแบ่งสัญญาเท่าที่จำเป็น จะไม่ให้มากเกินไป
เมื่อถามว่า ในโซเชียลมีเดียมีการตั้งคำถามเรื่องความเชื่อจะมีการนำยักษ์มาแบกเสาเช่นเดียวกับถนนวิภาวดีรังสิตหรือไม่ นายสุริยะไม่ตอบคำถามดังกล่าว โดยระบุว่าการที่ประชาชนไม่มั่นใจ ตนเข้าใจความรู้สึก จึงมีความคิดจะออกมาตรการ หากการก่อสร้างมีอุบัติเหตุมีแนวคิดห้ามผู้รับเหมารับงาน และมาตรการนี้จะทำให้ผู้รับเหมาระมัดระวังมากยิ่งขึ้น แต่ระหว่างนี้ยังมีการก่อสร้างอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็จะจ้างสภาวิศวกรรมสถานฯ มาช่วยตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อให้ได้มาตรฐานมากขึ้น
ส่วนที่มีเสียงเรียกร้องจากโซเชียลมีเดียให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาตัวเองจากตำแหน่งนั้น นายสุริยะกล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงดำเนินการมาตลอด เมื่อมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาชัดเจน รวมไปถึงการขึ้นบัญชีดำผู้รับเหมา เชื่อว่าเรื่องความปลอดภัยจะดีขึ้นอย่างแน่นอน และยืนยันว่าการก่อสร้างถนนพระราม 2 จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ตามกำหนดการเดิมอย่างแน่นอน