
พิชัย รมว.คลัง รับแนวคิด ทักษิณ ซื้อหนี้ประชาชนจากธนาคาร ชี้หลักการแก้ปัญหามี 2-3 วิธี มองใช้โมเดลแก้วิกฤตต้มยำกุ้งปี’40 จ่อถกสมาคมธนาคารไทย
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแนวคิดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการซื้อหนี้ประชาชนจากธนาคาร โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ว่า หลักการแก้ปัญหาหนี้ที่มีอยู่จำนวนมาก ปกติมี 2-3 วิธี อยู่แล้ว คือการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งอาจจะใช้การเจรจา ยืดหนี้ ลดดอกเบี้ย เพื่อทำให้อยู่ได้ และเมื่อทำไปแล้วรู้สึกไม่คุ้มสำหรับเงื่อนไขธนาคารมาก แต่สินเชื่อใหม่ก็ต้องปล่อยออกไปเรื่อย ๆ ก็จะต้องพยายามทำให้ดีที่สุด
นอกจากนี้อีกวิธีคิดหนึ่ง คือใช้วิธีคล้ายกับในปี 2540 (ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง) ก็อาจต้องแยกบัญชี จำแนกประเภทธนาคาร หรือใช้มาตรการส่งเสริมการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (AMC) โดยการดำเนินการต้องร่วมกับธนาคารผู้เป็นเจ้าของหนี้ รวมถึงเอกชนบางรายที่อยากจะเข้ามาบริหาร และต้องพิจารณาด้วยว่าภาครัฐจะเข้าไปช่วยได้อย่างไร
“อันนี้เพียงแค่วิธีคิด และอาจจะต้องใช้เวลาเคลียร์กันอีก แต่อาจจะดำเนินกันอยู่นอกธนาคาร ซึ่งเรื่องนี้ผมได้คิดมาหมดเรียบร้อยแล้ว ว่ามีกี่วิธี หรือจะเริ่มดำเนินการอย่างไรก่อนหลัง” นายพิชัยกล่าว
พิชัยกล่าวว่า สำหรับแนวคิดนี้เป็นไปได้หรือไม่นั้น ก็ยังไม่ทราบต้องขอดูข้อมูล และความเห็นจากทุกฝ่ายทั้งหมดก่อน และในวันนี้ตนจะพบกับสมาคมธนาคาร ไทยคงจะต้องนำเรื่องนี้มาหารือกันด้วย
ส่วนมาตรการดังกล่าวจะไม่ใช้เงินของรัฐบาลแม้แต่บาทเดียวหรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบเงื่อนไข ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้
ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวครอบคลุมไปถึงผู้ที่เป็นหนี้ดีด้วย ไม่ใช่แค่หนี้เสีย (NPL) ซึ่งรวมถึงหนี้บ้านและหนี้รถ ซึ่งของเดิมมีอยู่ประมาณพันล้านนิด ๆ