“ประยุทธ์” เคาะประตู อังกฤษ-ฝรั่งเศส ดึง “ไทยเบฟ/โรลส์-รอยซ์/แอร์บัส” ร่วมขบวน

การเดินทางเยือนสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) และสาธารณรัฐฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการเพื่อหารือทวิภาคี วันที่ 19-25 มิถุนายน 61 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นับเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี

เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำ 1 ในสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) กับ “ผู้นำทหาร” ใกล้ชิดกันมากขึ้น ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์-คสช.รีสตาร์ตความสัมพันธ์กับโลกประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 57

การข้ามน้ำ-ข้ามทะเล “บินลัดฟ้า” ในภาคพื้นยุโรปครั้งนี้ วาระทางการเมือง-เศรษฐกิจตลอด 7 วันของ “พล.อ.ประยุทธ์และคณะ” โดยมี “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็น “กุนซือ” และ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประกบซ้าย-ขวา

เบื้องแรกวาระ-เส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ถูก “ปิดเงียบ” ไว้เป็น “ความลับสุดยอด” เพราะ ฝ่าย “เสธ.ทำเนียบ” ประเมินว่าการเดินทางเยือนยุโรปในครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะ “ตกเป็นเป้า” ชุมนุม-ขับไล่จากกลุ่มการเมืองที่ขอลี้ภัยอยู่ต่างประเทศเฉกเช่นเมื่อครั้ง พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดเอเชีย-ยุโรป ที่มิลาน อิตาลี

วันที่ 20-22 มิถุนายน 61 พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดการเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการเพื่อหารือทวิภาคีกับ นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเปิดงาน “Transforming Thailand” ณ โรงแรมเดอะ แลนด์มาร์ค ลอนดอน และพบปะชุมชนไทยในอังกฤษและหารือกับผู้บริหารชั้นนำ 3 ราย ได้แก่ นายเกรกอรี ฮอดคินสัน ประธานบริษัท อาหรัป และ นายมาร์ค อี. ทักเคอร์ ประธานกลุ่มบริษัท เอชเอสบีซีและผู้บริหารบริษัท โรลส์-รอยซ์

โดยมีภาคเอกชนไทยร่วมเดินทางไปด้วย อาทิ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกลุ่มนักธุรกิจ Thai-UK Business Leadership Center (BLC) นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ กรรมการบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะรองประธานกรรมการหอการค้าไทย ทั้งนี้ ประเทศอังกฤษถือเป็นดินแดนที่มีนักลงทุนไทยรายใหญ่ไปลงทุนหลายราย อาทิ พีทีที โกลบอลเคมิคอล ซี.พี.และดั๊บเบิ้ลเอ

วันที่ 23-25 มิถุนนายน 61 พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดการเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการเพื่อหารือกับนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

ไฮไลต์กลางกรุงปารีส คือ นายกรัฐมนตรีไทยกับประธานาธิบดีฝรั่งเศสร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลงสัญญากรอบการร่วมทุน (Joint Venture Company Principles Agreement) ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท Airbus Commercial Aircraft และสัญญาซื้อขายดาวเทียมธีออส 2 (THEOS II) ระหว่างสานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)-(GISTDA) กับบริษัท Airbus Defence & Space SAS 

นอกจากนี้จะพบหารือกับนายกีโยม โฟรี ประธานบริษัท Airbus Commercial Aircraft ณ บริษัท Airbus Commercial Aircraft เมืองตูลูส และเข้าร่วมพิธีเปิดตัวแบบจำลองศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)

อีกไฮไลต์ คือ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงสัญญากรอบการร่วมทุน (Joint Venture Company Principles Agreement) ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับบริษัท Airbus Commercial Aircraft 

เยี่ยมชมศูนย์แสดงแบบจำลองอากาศยานของ Airbus (Airbus Mock-up Center) และเยี่ยมชมศูนย์สายการผลิตของชิ้นส่วนอากาศยาน A380 (A380 Final Assembly Line)

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะพบหารือภาคเอกชนไทยในฝรั่งเศสและนักธุรกิจไทยและมอบนโยบายแก่ทีมประเทศไทยและหารือกับภาคเอกชนฝรั่งเศสที่สนใจลงทุนในประเทศไทย

ก่อนจะกล่าวเปิดงาน Business Conference จัดโดยสภานายจ้างฝรั่งเศส ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนจะพบหารือกับภาคเอกชนฝรั่งเศสที่สนใจลงทุนในประเทศไทยกลุ่ม VINCI Group ได้แก่ นายนิโกลา โนเตอแบร์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท VINCI Concessions

วาระหลักของ พล.อ.ประยุทธ์-ดร.สมคิด ถือ “ธงนำ” เยือนอังกฤษ-ฝรั่งเศสในครั้งนี้และในครั้งต่อไป อาทิ เบลเยียมและสำนักงานใหญ่อียู คือ การหอบ “โปรเจ็กต์” ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการดึงดูดนักลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (new S-curve)

ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์-คสช.ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับประเทศสมาชิกอียูก็ “ห่างเหิน” มาโดยตลอด จนกระทั่งประธานาธิบดีสหรัฐ-โดนัลด์ ทรัมป์ ขาใหญ่โลกประชาธิปไตย ดำเนินนโยบาย “อเมริกา เฟิร์สต์” โดยไม่ไยดีในเรื่องประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน

ตั้งแต่อียูส่งสัญญาณฟื้นความเชื่อมั่นทางการเมือง-ยกระดับความความสัมพันธ์ทางการค้าผ่านแถลงการณ์ 14 ข้อ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560 โดย 2 ข้อ ใน 14 ข้อ มีนัยสำคัญทั้งทางการเมือง-เศรษฐกิจ

ข้อ 10 ในบริบทนี้ คณะรัฐมนตรีขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปสำรวจความเป็นไปได้ในการกลับมาเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างยุโรป-ไทย (EU-Thailand Free Trade Agreement)

ข้อ 11 การลงนามในกรอบข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement-PCA) และการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศไทยจะสามารถดำเนินการได้กับรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หลังจากนั้นเป็นต้นมา โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม 61 “สัญญาณบวก” เริ่มเห็นชัดขึ้นเมื่อนักธุรกิจ-ผู้แทนรัฐบาลสมาชิกสหภาพอียู-ผู้แทนอียูและองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอียูที่ “เปลี่ยนท่าที” เดินทางมาเข้าพบผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลทหาร ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์-ดร.สมคิดและรองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลชนิดหัวบันได (ทำเนียบรัฐบาล) ไม่แห้ง


ก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปี”62