
ประธาน กกต.เผย มี 27 คำร้องเข้าข่าย “ฮั้วเลือก สว.” ยันดีเอสไอตั้งสอบเองไม่กระทบไทม์ไลน์ กกต. ยันทำไม่ช้า พร้อมมอง สว.สำรองร้อง 157 “แสวง บุญมี” เป็นสิทธิ แต่ กกต.ทำตามกฎหมาย แจงได้
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการฮั้วเลือก สว. ที่หลายฝ่ายอยากให้ดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยว่า กกต.ดำเนินการไม่ชักช้า จะพยายามรีบเร่ง แต่ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง เปิดโอกาสให้ได้รับทราบ และชี้แจงข้อเท็จจริงพยานหลักฐาน การตรวจสอบบางครั้งใช้เวลา เพราะเกี่ยวข้องกับหลายคน หากมีพยานหลายคน หรือมีข้อสงสัย มีผู้เกี่ยวข้องเยอะเป็นร้อยคนก็ต้องใช้เวลา
ถ้าไปสรุป ก็จะไม่ได้รับความยุติธรรม หรือถ้าเร่งดำเนินการ และเรื่องมาถึงสำนักงาน เลขาธิการ กกต.เห็นว่าการสอบสวนไม่ครบถ้วน อาจจะสั่งให้ไปสอบเพิ่มเติม เมื่อมาถึงคณะอนุกรรมการไต่สวน ก็อาจจะบอกว่าประเด็นนี้ยังไม่มีความชัดเจนอาจให้ไปทำเพิ่ม มาถึง กกต.ก็มีหลายกรณีที่บอกว่าต้องไปสอบเพิ่มอีก ซึ่งกระบวนการก็จะเร่งรัดอยู่เสมอว่าทำโดยไม่ชักช้า แต่ไม่กระทบสิทธิผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่า ระยะเวลาในการเลือก สว. ผ่านมาเป็นระยะเวลานาน จะเป็นอุปสรรคหรือมีข้อจำกัดในการรวบรวมพยานหลักฐานในการตรวจสอบการฮั้ว สว.ด้วยหรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า กกต.เริ่มรับคำร้อง หลังการเลือกระดับอำเภอ เมื่อ 9 มิถุนายน 2567 เมื่อรับเรื่องกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานก็เริ่มตั้งแต่ตอนนั้น แต่ถ้าเมื่อมาร้องหลังการเลือก สว. การรวบรวมพยานหลักฐานก็จะยากขึ้น หากมีพยานบุคคลที่ต้องสอบเยอะก็ต้องใช้เวลา เพราะถ้าไม่ครบจะไม่เกิดความยุติธรรมกับใคร
เมื่อถามว่า คณะ สว. สำรองไปร้องให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของเลขาธิการ กกต. ตามมาตรา 157 นายอิทธิพรกล่าวว่า ก็เป็นสิทธิของทุกคน เพราะว่า กกต.ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการหรือสำนักงาน เจ้าหน้าที่ ถ้าปฏิบัติหน้าที่แล้วคนอื่นหรือใครก็ตาม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ก็เป็นสิทธิของเขาที่จะใช้สิทธิ และ กกต.หากทำตามกฎหมายก็สามารถชี้แจงได้
เมื่อถามว่า กรณีการตรวจสอบการฮั้ว สว. ไม่ใช่ถือเรื่องไว้ให้ผ่านไป 1 ปี แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ยกเรื่องไปใช่หรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า ทุกอย่างที่ทำอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่น
ส่วนกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะตรวจสอบ จะทำให้การทำงานของ กกต.ล่าช้าหรือไม่นั้น อำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน การกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย สว. เป็นหน้าที่ของ กกต. การกระทำใดที่เป็นความผิดตามกฎหมายอื่นก็เป็นหน้าที่หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่รักษากฎหมาย จะไม่เกี่ยวกัน
เมื่อถามว่า การดำเนินการจะไม่ล่าช้าไปกว่าดีเอสไอ เพราะดีเอสไอเพิ่งตั้งเรื่อง ถ้าเขาเสร็จก่อนจะไม่เป็นการเสียหน้าใช่หรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า ดีเอสไอเพิ่งแจ้งให้ กกต.ทราบว่ามีผู้มาร้อง เกี่ยวกับการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย สว. กกต.ก็มาดูว่าเรามีมติให้รับมาทำเอง สืบสวนไต่สวน เรารับด้วยเหตุผลที่ว่าความปรากฏต่อ กกต.มีผู้มาร้องต่อดีเอสไอ จึงรับมาทำเอง
ด้วยเหตุความปรากฏตามกฎหมาย และ กกต.ก็สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ดีเอสไอทำ นำมารวมกันกับที่กกต.พิจารณา ซึ่งมี 3 เรื่องที่อยู่กับดีเอสไอ โดยคำร้องการเลือก สว.ฝ่าฝืนตามมาตรา 77 (1) หรือที่เรียกว่าฮั้ว มีผู้มาร้องต่อ กกต.ทั้งสิ้น 220 เรื่อง และ กกต.จะรับจากดีเอสไออีก 3 เรื่อง เมื่อรับมาแล้วก็ตั้งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เป็นคณะสืบสวนไต่สวนร่วมกับ กกต.ด้วย เมื่อทำเช่นนี้แล้วก็มีความมั่นใจว่า กระบวนการไม่ได้เริ่มต้นจากหนึ่ง แต่จะดำเนินการต่อเนื่องจาก 3 เรื่องของดีเอสไอ
เมื่อถามอีกว่า คำร้อง 220 เรื่อง มีหลักฐานอะไรที่จะมองได้ว่าเป็นการฮั้ว สว. นายอิทธิพรกล่าวว่า เรื่องยังไม่ถึงที่ประชุม กกต. บางเรื่องก็มาถึงแล้ว แต่หลักฐานไม่ชัดเจน ยังไม่ถึงขั้นจะเป็นการฮั้ว แต่ดูแล้วเรื่องที่จะเข้าข่ายการฮั้วมี 27 เรื่อง แต่เรื่องยังมาไม่ถึงที่ประชุม กกต. เมื่อมาถึงแล้ว กกต.ก็สามารถพูดได้ว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอในการตัดสิน หรือไม่จะต้องสอบสวนต่อ เพราะถ้าเป็นการฮั้วก็จะทราบดีว่า จะทำเป็นกระบวนการใช้คนเยอะ
ดังนั้น พยานบุคคลและผู้สอบก็มีเยอะ ถ้าสอบสวนมีการนัดแล้วแต่เจ้าตัวไม่สะดวกก็ต้องนัดใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะต้องใช้เวลา แต่ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้ช้า ต้องทำให้เร็วเพราะ กกต.กำหนดกรอบเวลาไว้แล้ว ก็พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้แล้วเสร็จด้วยความรวดเร็ว แต่บางครั้งก็ไม่สามารถทำให้เสร็จเร็วได้ เพราะจะกระทบกับความยุติธรรม ส่วนเรื่องการกันบุคคลไว้เป็นพยาน หรือขอความคุ้มครอง ขณะนี้ยังไม่มีพยานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือก สว. และไม่คิดว่าจะมี เพราะถ้ามีต้องเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ให้ความเห็นชอบ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็น