
คอลัมน์ : Politics policy people forum
เกมอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือดตั้งแต่ระฆังยังไม่เริ่ม
แม้ว่าพรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาชน ได้เวลาอภิปราย 28 ชั่วโมง จากเดิมที่ขอ 30 ชั่วโมง น้อยกว่าที่ขอ 2 ชั่วโมง
แต่ในความเป็นจริง พรรคฝ่ายค้านถูกบีบจากเงื่อนเวลา เพราะฝ่ายรัฐบาลชิงกาปฏิทินการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระบุวัน ว.เวลา น.ไว้ที่ 24-26 มีนาคม
เป็นมติที่ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ
แบ่งเป็น 24-25 มีนาคม เป็นวันอภิปราย
ส่วนวันโหวตคือวันที่ 26 มีนาคม
เมื่อเวลาลงล็อก โดยการซักฟอกแค่ 2 วัน การเจรจาของวิปสามฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และฝ่ายคณะรัฐมนตรี ที่การประชุมลงในรายละเอียด
กลายเป็นว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น.ของวันที่ 24 มีนาคม ไปจนถึง 05.30 น.ของวันที่ 25 มีนาคม
และการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่สอง จะเริ่มใหม่ในเวลา 08.00 น. ไปจนถึง 23.30 น.ของวันที่ 25 มีนาคมแล้วจะนัดลงมติวันที่ 26 มีนาคม
โดยกำหนดกรอบเวลาการอภิปราย แบ่งเป็น ฝ่ายค้าน 28 ชั่วโมง, ฝ่ายรัฐบาล รวมกับ ครม. 7 ชั่วโมง และประธานที่ประชุม 2 ชั่วโมง
บนเงื่อนไข 3 ข้อ 1. เวลาที่ได้รับจัดสรรในวันจันทร์ที่ 24 มีนาคม หากใช้ได้ไม่ครบตามจำนวน จะไม่นำมารวมกับเวลาที่ได้รับจัดสรรในวันอังคารที่ 25 มีนาคม
2.สำหรับการประชุมในวันอังคารที่ 25 มีนาคม ที่ประชุมมีมติให้พรรคร่วมฝ่ายค้านสามารถอภิปรายได้จนครบจำนวนเวลาที่ได้รับจัดสรร
แม้จะเกินเวลา 23.59 น. ของวันอังคารที่ 25 มีนาคม โดยจะไม่มีการปิดการประชุมก่อนที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะได้ไช้เวลา
หากเกิดกรณีดังกล่าว ให้ประธานของที่ประชุมแจ้งยกเลิกการประชุมเพื่อลงมติ ในวันพุธที่ 26 มีนาคม
แล้วบอกนัดประชุมในที่ประชุมเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาประชุมเพื่อลงมติ ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคมแทน
ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 27 มีนาคม ฝ่ายรัฐบาลเตรียมแผนที่จะขยับเป็นการประชุมช่วงบ่ายแทนช่วงเช้าเอาไว้แล้ว
ไม่แปลกที่ “ศิริกัญญา ตันสกุล” สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า..
“เราถอยจนไม่รู้จะถอยอย่างไรแล้ว อภิปรายถึงตีห้าครึ่ง ดิฉันยังรู้สึกเคืองคนที่ไปเจรจาอยู่เลยว่า ได้เวลาแบบนี้ได้อย่างไร”
ซักฟอกครอบครัวชินวัตร
อย่างไรก็ตาม การเตรียมพร้อมของฝ่ายค้าน แม่ทัพฝ่ายค้าน “ศิริกัญญา” ในฐานะเป็นหัวหอกในการเตรียมข้อมูลซักฟอก แม้จะได้เวลาอภิปรายยาวถึง 05.30 น. แต่มองในแง่ดี
“อาจจะไม่ค่อยมีคนประท้วงในช่วงนั้น ทำให้เราสามารถอภิปรายได้อย่างเต็มที่ แต่ข้อเสียคือ ประชาชนอาจจะพลาดการรับชมสด เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีใครอยู่หน้าทีวีอีกต่อไป”
“ยืนยันว่าจะมีการกระจายไฮไลต์ทุกวันแน่นอน แต่จะอยู่ในช่วงเวลาไหน ยังบอกไม่ได้ เพราะเดี๋ยวโดนว่าเข้าไปยุ่มย่ามวุ่นวายกับพยานหลักฐาน”
“ศิริกัญญา” กล่าวว่า มีการจัดกลุ่มผู้อภิปรายแน่นอน ทั้งเรื่องนโยบาย การคอร์รัปชั่น และปัญหาอื่น ๆ แต่ไม่มีกลุ่มที่เป็นเรื่องบุคคลในครอบครัวโดยเฉพาะ
ย้ำว่าเราอภิปรายที่ตัวนายกรัฐมนตรี สำหรับคนที่เกี่ยวข้อง หรือคนในครอบครัวเป็นส่วนเสริมเข้ามา
ขณะที่ “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คำว่าบุคคลในครอบครัวสามารถอภิปรายได้กว้างขึ้น ซึ่งธีมในการอภิปรายครั้งนี้คือคำว่าดีลแลกประเทศ
หมายความว่าเรามองเห็นว่าพรรคเพื่อไทยเอาผลประโยชน์ของประเทศมาแลกกับผลประโยชน์ของบุคคลในครอบครัว
เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนชื่อจากนายทักษิณเป็นบุคคลในครอบครัว สำหรับพวกเราเองมองว่าเป็นการเปิดกว้างในการอภิปรายได้มากขึ้นด้วยซ้ำ
“ในเรื่องของการใช้คำในการอภิปราย ในวันจริงผมเชื่อว่าจะมีคำอีกหลากหลาย นอกเหนือจากคำว่าบุคคลในครอบครัว”
“การใช้คำว่าบุคคลในครอบครัวเป็นภาษาทางการ ที่ใส่เป็นภาษาเขียนไว้ในญัตติ แต่ผมคิดว่าเป็นคำที่ค่อนข้างมีความเหมาะสมดีแล้ว”
ส่วนจะมีชื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในการอภิปรายหรือไม่ “ณัฐพงษ์” กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ แต่ก็อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ที่เรามองว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้
รวมถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ได้เอาผลประโยชน์ของประชาชนของประเทศเป็นตัวตั้ง แต่เอาผลประโยชน์ของบุคคลในครอบครัวชินวัตรเป็นตัวตั้ง
โต้ดีลแลกทักษิณ
ด้าน “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการที่พรรคฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจเวลา 2 วัน 2 คืนว่า
“เครื่องดื่มชูกำลังต้องเข้า ไหว ก็เต็มที่ ก็เตรียมข้อมูลกันไป”
นายกฯ ยอมรับว่าจะอยู่ในสภาฟังฝ่ายค้านไม่ถึง 05.30 น. “คิดว่าอยู่ไม่ถึง 05.30 น. แน่นอน ต้องกลับไปนอนบ้าง เพราะยังมีวันต่อไปด้วย ต้องพูดคุยเพื่อผลัดเวรกัน สลับกัน อยู่คนเดียวทั้งหมดคงไม่มีใครอยู่ได้ตลอด”
ส่วนที่ฝ่ายค้านมองว่าเป็นการนำผลประโยชน์ของตระกูลชินวัตรมาแลกกับผลประโยชน์ของประเทศ นายกฯถามกลับทันทีว่า “ตระกูลชินวัตรได้อะไร” ผู้สื่อข่าวได้ตอบกลับว่า ได้การกลับมาของนายทักษิณ นายกฯ ตอบด้วยน้ำเสียงขึงขังและสีหน้าจริงจังว่า
“ได้คุณพ่อกลับมา เรื่องนี้เรื่องเดียวตลอดไป”
เป็นการดีลให้ “ยิ่งลักษณ์” อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาด้วย นายกฯ แพทองธาร ตอบย้ำคำเดิมว่า “ก็ไม่ใช่ เรื่องเดียวตลอดไป ทำอะไรก็ตามเป็นดีลแลกหมด ที่จริงต้องใช้เหตุผลด้วย อย่าใช้แต่อารมณ์”
แผนตั้งรับฝ่ายค้าน
ส่วนแผนการตั้งรับของฝ่ายรัฐบาลนั้น ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้น จัดทัพไว้รับมือกับฝ่ายค้าน
โดยวางตัว “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” สส.น่าน อดีต รมว.สาธารณสุข ในฐานะที่แม่นข้อบังคับพรรค ได้รับมอบให้ดูแลเรื่องข้อบังคับในสภา ว่าพรรคฝ่ายค้านอภิปรายขัดกับข้อบังคับหรือไม่
ด้าน “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ทำหน้าที่คู่ขนานกับ “ศรัณย์ ทิมสุวรรณ” สส.เลย ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล ดูแลภาพรวมการอภิปรายทั่วไป
ส่วนหน้าที่การสรุปประเด็นอภิปรายในสภา มอบหมายให้ “สุทิน คลังแสง” สส.บัญชีรายชื่อ อดีต รมว.กลาโหม เป็นคนจัดการ
อีกตัวละครหนึ่งคือ “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” สส.บัญชีรายชื่อ เป็นผู้คุมทีมประท้วงฝ่ายค้าน
อย่างไรก็ตาม มีการกำชับในพรรคเพื่อไทยเรื่องประท้วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ต้องไม่มีการประท้วงพร่ำเพรื่อ เนื่องจากการประท้วงไม่ได้แปลว่าประท้วงมากจะได้คะแนน
ดังนั้น จึงมีการกำชับ “ทีมประท้วง” ว่า “จะต้องประท้วงเฉพาะที่มีสาระสำคัญ ถ้าประท้วงแบบไร้สาระจะทำให้เสียคะแนน การประท้วงจะต้องอิงกับข้อบังคับ ไม่ใช่แค่พูดคำว่าทักษิณก็ประท้วง”
ส่วนองครักษ์ข้างกายของ “แพทองธาร” ในการตอบคำถามของฝ่ายค้านคือ “มนพร เจริญศรี” รมช.คมนาคม ทำงานคู่กับ “ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์” รมช.มหาดไทย
ซึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจในแต่ละวัน ฝ่ายยุทธศาสตร์วางแผนไว้ว่า ให้นายกฯ อยู่ตอบฝ่ายค้าน ไม่เกิน 23.30 น. ทั้ง 2 วัน
หลังจากนั้นฝ่ายค้านอภิปรายได้เต็มที่ โดยที่ไม่มีนายกฯอยู่ฟัง
นี่เป็นแผนรับมือฝ่ายค้านของฟากรัฐบาล ป้องกันแชมป์ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจสมัยที่ 1