
รัฐบาลฝ่ายค้านตั้งโจทย์ หนี้ปลอม นายกรัฐมนตรี 4,434.55 ล้านบาท หนีภาษี ? นายกรัฐมนตรี ตอบ 2 ครั้งในรอบ 9 ชั่วโมง
ประเดิมศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจแรก นายกรัฐมนตรี ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ผ่านไป 9 ชั่วโมงเกือบครึ่งทางวันแรก ก็ถูกจัดหนัก โดยขุนศึกตัวจี๊ดพรรคร่วมฝ่ายค้าน ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ที่พุ่งเป้าประเด็น กล่าวหา นายกฯ ทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี โดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) สร้างหนี้ปลอม เลี่ยงภาษีอย่างน้อย 218.7 ล้าน และอาจสูงกว่านี้หากแกะรอย บัญชีทรัพย์สินหนี้สิน 4,434.5 ล้านบาท
วิโรจน์ เริ่มเปิดแผลว่าคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ต้องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง หน้าที่ปวงชนชาวไทย มีหน้าที่เสียภาษีอากรตามกฎหมาย แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้รับการยกเว้น แต่ทว่าตัวนายกฯกลับทำตัวหนีภาษี
จากนั้นขยายแผลเพิ่มว่า หลังนายกฯ รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ได้โอนหุ้นบริษัท 19 บริษัท มูลค่า 9,330.5 ล้านบาท แต่มี 2 บริษัท มูลค่า 393.5 ล้านบาท โอนไปให้มารดาและพี่สาว แต่ไม่ต้องเสียภาษีซักสลึง เพราะทำนิติกรรมอำพรางในการหนีภาษีรับให้มาตั้งแต่ปี 2559 โดยอ้างว่าให้เพราะเสน่หา
และเมื่อไปดูบัญชีทรัพย์สิน พบว่านายกรัฐมนตรี มีหนี้ 9 รายการ เป็นเอกสาร 9 แผ่นกระดาษ วิธีการที่คือทำตั๋ว PN โดยระบุซื้อหุ้นกับพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ แต่ไม่ได้มีการซื้อขายกันจริง ๆ
“ซื้อหุ้นกันภาษาอะไร ไม่มีกำหนดว่าจะจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นกันเมื่อไหร่ ถ้าชาตินี้ไม่มีใครทวง แพทองธารก็ไม่ต้องจ่าย ลืมไปได้เลยว่าเคยเป็นหนี้ เพราะดอกเบี้ยก็ไม่มีใครคิด แพทองธารไม่ต้องกังวลเลยว่าจะต้องมีภาระในการจ่าย พี่ชาย พี่สาว ลุง ป้าสะใภ้ และแม่
เป็นเจ้าหนี้ที่แสนดี มีความกรุณามาก ๆ นอนกอดกระดาษ 9 ใบ โดยที่ไม่รู้ว่าเงิน 4,434.55 ล้านบาท จะได้เมื่อไหร่ โอ้โฮ ถ้าตั๋ว PN ทั้ง 9 ใบนี้เป็นจริงตามที่ผมว่า ก็แสดงว่าการซื้อหุ้นของแพทองธาร ทำนิติกรรมบังหน้า เอาเปรียบประชาชน เป็นการบ่อนทำลายประเทศ” วิโรจน์กล่าว
นายวิโรจน์ยังได้อภิปรายถึงรายละเอียด ตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 4,434.55 ล้านบาท ซึ่งปรากฏในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ น.ส.แพทองธาร แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 โดยเขา ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการทำนิติกรรมอำพรางและมีพฤติกรรมใช้ช่องว่างทางกฎหมายหลีกเลี่ยงการเสียภาษีหรือไม่
สำหรับตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่ น.ส.แพทองธาร ที่แจ้งต่อ ป.ป.ช.ว่า มีหนี้สิน 4,439.98 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้สินอื่น 9 รายการ รวมมูลค่า 4,434.55 ล้านบาท โดยแจ้งว่าเป็น “สัญญากู้ยืมเงิน” หรือ “ตั๋ว PN” เป็นรายการหนี้สินที่ น.ส.แพทองธาร ซื้อหุ้นจากพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ แบบ “ซื้อเชื่อ” แล้วออกตั๋ว PN แทนการจ่ายเงิน ประกอบด้วย
รายการที่ 1 พี่สาว น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ จำนวน 4 ฉบับ ลงวันที่ 8 ก.ย. 2559 รวมเป็นเงิน 2,388.72 ล้านบาท ชำระค่าหุ้นบริษัท พี.ที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด, บริษัท เอสซี ออฟฟิซ พลาซ่า จำกัด และบริษัท เอส ซี เค เอสเทต จำกัด
รายการที่ 2 พี่ชาย นายพานทองแท้ ชินวัตร จำนวน 1 ฉบับ ลงวันที่ 8 ก.ย. 2559 เป็นเงิน 335.42 ล้านบาท ชำระค่าหุ้น บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด
รายการที่ 3 ลุง นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 9 ม.ค. 2566 และ 8 พ.ค. 2566 รวมเป็นเงิน 1,315.46 ล้านบาท ชำระค่าหุ้น บริษัท โอเอ ไอ แมนเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัท บี.บี.ดี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด

รายการที่ 4 ป้าสะใภ้ นางบุษบา ดามาพงศ์ จำนวน 1 ฉบับ ลงวันที่ 8 พ.ค. 2566 เป็นเงิน 258.4 ล้านบาท ชำระค่าหุ้น บริษัท บี.บี.ดี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
รายการที่ 5 แม่ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ จำนวน 1 ฉบับ ลงวันที่ 8 ก.ย. 2559 เป็นเงิน 136.51 ล้านบาท ชำระค่าหุ้น บริษัท โอเอไอ คอนซัลแต้นท์ แอนด์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด
“นายกรัฐมนตรี ใช้ตั๋ว PN สร้างหนี้ปลอม หลีกเลี่ยงภาษีจำนวนสูงถึง 218.7ล้าน หนีภาษีถึงเกือบ 15% ของภาษีมรดกที่จัดเก็บได้ในปี 2567 ซึ่งถ้าพิจารณาถึงกระบวนท่ากันจริง ๆ ถือเป็นกระบวนท่าที่ใช้ภายในจักรวาลชินวัตร” นายวิโรจน์อภิปรายตบท้าย
ทำให้หลังจากนั้น ทีมวอร์รูมเพื่อไทย ที่ตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ในรัฐสภา รีบแก้เกมสักพักใหญ่ก่อนให้ นายกฯ ลุกขึ้นชี้แจงต่อสภารอบสอง เวลา 15.17 น. หลังช่วงเช้าชี้แจงต่อข้อซักฟอกของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
น.ส.แพทองธารยืนยันว่า ข้อกล่าวหาหนีภาษีไม่เป็นความจริง แต่เป็นเรื่องตรงกันข้าม พร้อมมั่นใจว่า “แม้ดิฉันจะอายุน้อยกว่า ท่าน (สส.วิโรจน์) แต่มั่นใจว่าเสียภาษีเข้ารัฐมากกว่าท่านแน่”
ส่วนเรื่องบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ชี้แจงต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรียบร้อยตามขั้นตอนทุกอย่าง ตั้งแต่วันรับดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า ธุรกรรมก่อนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในส่วนหนี้สินและทรัพย์สินกิจการของตนและครอบครัว ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่เคยมีตอนไหนไม่เข้มข้น เพราะทุกบัญชี ทุกธุรกรรมอยู่ที่เปิดเผยและโปร่งใสมานานแล้ว รวมถึงที่ดินทุกตารางวาก็ออกโฉนดจากหน่วยงานรัฐ
“เรื่องหุ้นเกิดขึ้นก่อนปี 2559 ก่อนเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองหลายปี เป็นการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท โดยการซื้อขายผ่านตั๋วสัญญาซื้อเงิน หรือ PN เป็นหนังสือคำสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้กับ อีกบุคคลหนึ่ง ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งหนังสือดังกล่าวติดอากรแสตมป์ตามกฎหมายเรียบร้อย” นายกฯย้ำถึงการดำเนินการเรื่องหุ้น
ส่วนการปรับโครงสร้างหุ้นที่จำเป็นต้องมีการซื้อขาย ณ ระยะเวลานั้น ตนไม่มีความพร้อมชำระค่าหุ้นเป็นเงินสด จึงออกตั๋วสัญญาใช้หนี้แทน ซึ่งแจ้งต่อ ป.ป.ช. เรียบร้อย พร้อมกับมีการพูดคุยกันในครอบครัว ถึงแผนการที่จะชำระ โดยรอบแรกจะเกิดขึ้นภายในปี 2569
น.ส.แพทองธารย้ำว่า “เมื่อมีความโปร่งใส ก็ไม่สามารถหลบเลี่ยงภาษีได้อยู่แล้ว”
ก่อนทิ้งท้ายจิกกลับ สส.ฝ่ายค้าน “จริง ๆ เราเป็นคนรุ่นใหม่ น่าจะพร้อมรับฟัง เมื่อใครหรือผลงานใด ๆ มีประโยชน์ต่อประชาชน ก็ควรจะชื่นชมบ้าง เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงาน มั่นใจว่าทุกคนหวังดีกับประเทศเช่นกัน ฉะนั้นการพูดให้คนเกิดความเกลียดชัง แตกแยก ดิฉันคิดว่า เราผู้มีวุฒิภาวะไม่ควรทำ”
อย่างไรก็ตาม ศึกอภิปรายของนายกฯแพทองธาร ยังไม่จบ ต้องติดตามหลังจากนี้จะถูกฝ่ายค้านถาโถมสาดประเด็นอะไรใส่อีก และจะตั้งรับตอบโต้อย่างไร เพื่อให้สมกับดีกรี “นายกฯน้อย ตระกูลชินวัตร”