
สส.พรรคประชาชน โพสต์ถามย้ำปมนายกฯ ใช้ตั๋ว PN เลี่ยงภาษี ในการอภิปรายเมื่อวานนี้ สังคมยอมรับได้หรือไม่ หลังหลายคนแจงว่าเป็น ‘การวางแผนภาษี’ ย้อนถามกลับ ถ้าทำได้อย่างถูกกฎหมายแท้จริง ทำไมไม่มีใครกล้าตอบ
หลังจากนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนที่รัฐสภา อภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ามีการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยง “ภาษีการรับให้” ด้วยการใช้ตั๋ว PN อย่างดุเดือดเมื่อวันที่ 24 มี.ค.
ล่าสุด นายวิโรจน์ย้ำเรื่องนี้อีกครั้งผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Wiroj Lakkhanaadisorn – วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ใจความว่า มีหลายคนที่พยายามจะอธิบายว่า นายกฯ ใช้ตั๋วสัญญา PN เป็นเพียงการวางแผนภาษี แต่เมื่อเขาถามกลับว่า มีใครบ้างที่ทำแบบนี้ ไม่มีใครกล้าตอบ จึงแสดงให้เห็นว่า ถ้าวิธีการนี้ถูกต้องตามกฎหมายจริงก็ไม่มีอะไรต้องกลัวหรือปิดบัง
ขณะที่ประชาชนต้องเสียภาษีอย่างสุจริต กลับต้องมาเห็นคนบางกลุ่มเดินข้ามช่องว่างของกฎหมายได้อย่างแนบเนียนจนสรรพากรทำอะไรไม่ได้
ข้อความทั้งหมดระบุดังนี้
“มีคนจำนวนไม่น้อยพยายามอธิบายว่า การที่คุณแพทองธาร ชินวัตร ซื้อหุ้นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note – PN) ที่ไม่มีกำหนดชำระ และไม่มีดอกเบี้ยนั้น เป็นเพียง “การวางแผนภาษี” ที่ไม่ผิดกฎหมาย และใคร ๆ เขาก็ทำกัน
แต่เมื่อถามกลับว่า “ใครล่ะที่ทำแบบนี้ ?” ช่วยยกตัวอย่างให้ดูหน่อยสิ ปรากฏว่าไม่มีใครกล้าตอบ ไม่มีใครกล้าระบุชื่อ หรือแสดงตัว เหตุผลที่ได้ยินอยู่เสมอคือ “กลัวสรรพากร”
คำถามก็คือ ถ้าวิธีการนี้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างแท้จริง แล้วจะต้องกลัวอะไร ถ้าไม่มีอะไรต้องปิดบัง ทำไมถึงไม่กล้าบอกชื่อ หรือเปิดเผยว่าใครทำแบบเดียวกัน
ลองเปรียบเทียบกับการลดหย่อนภาษีที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เช่น การซื้อประกันชีวิต กองทุน SSF, RMF หรือ Thai ESG ที่ประชาชนทำกันอย่างเปิดเผย ธนาคารยังกล้าโฆษณา แข่งกันเสนอโปรโมชั่นให้ลูกค้าซื้อ
คนที่ลงทุนก็บอกต่อ แชร์ข้อมูล และแนะนำกันได้อย่างภาคภูมิใจ ไม่มีอะไรต้องหลบซ่อน เพราะเป็นวิธีที่กฎหมายส่งเสริม และรัฐเองก็สนับสนุน
เพราะสิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างวินัยทางการเงินระยะยาว ลดภาระรัฐในอนาคต ทั้งด้านการดูแลผู้สูงวัยและเหตุไม่คาดฝัน เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ตรงกันข้าม การใช้ตั๋ว PN แบบไม่มีกำหนดจ่าย ไม่มีดอกเบี้ย มาซื้อหุ้นในครอบครัว โดยไม่ต้องเสีย “ภาษีการรับให้” แล้วอ้างว่าเป็นวิธีบริหารภาษี ทั้งที่ไม่เคยเปิดเผยกับสาธารณชนว่าใครใช้บ้าง นี่คือสูตรลับเฉพาะของคนบางกลุ่มหรือเปล่า
หากกรมสรรพากรยอมรับวิธีการเช่นนี้โดยไม่มีการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย นั่นเท่ากับเปิดประตูให้ใครก็ตามสามารถ “ขาย” หุ้นหรือทรัพย์สินให้ลูกหรือเครือญาติ แล้วให้ลูกออกตั๋ว PN แบบไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีกำหนดชำระมาแลกเปลี่ยน แทนการโอนแบบให้โดยตรง
เมื่อไม่ใช่ “การให้” ตามนิยามทางกฎหมาย กรมสรรพากรก็จะไม่มีสิทธิเก็บ “ภาษีการรับให้” อีกต่อไป หรือเก็บได้น้อยลงอย่างมาก
หากวิธีนี้กลายเป็นแบบอย่าง จะไม่มีใครโอนทรัพย์สินให้ลูกหลานโดยตรงอีกแล้ว ทุกคนจะ “ขาย” แล้วเอาตั๋ว PN มาแลก ทั้งที่ไม่คิดจะเก็บเงินจริง เพราะตั้งใจจะยกให้กันอยู่แล้ว
คำถามคือ เราจะยอมรับเรื่องนี้กันจริงหรือ ?
ในวันที่ประชาชนต้องเสียภาษีอย่างสุจริต กลับต้องมาเห็นคนบางกลุ่มเดินข้ามช่องว่างของกฎหมายได้อย่างแนบเนียน ด้วยเครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อน จนกรมสรรพากรเองยังทำอะไรไม่ได้
นี่หรือคือความยุติธรรมของระบบภาษีไทย”
