“ผาสุก” ชำแหละนโนบายลดความเหลื่อมล้ำคสช. แนะเก็บภาษีคนรวยเพิ่มสวัสดิการคนจน

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ดิเรก ชัยนาม” ครั้งที่ 2 หัวข้อ “ปริศนาความเหลื่อมล้ำ” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่า ความเหลื่อมล้ำมีหลายมิติ วัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา รายได้ ความมั่งคั่ง การเข้าถึงสวัสดิการสาธารณะ เช่น การศึกษาและกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำที่แอบแฝง ซึ่งบางทีเรามองไม่เห็นอีกด้วย ความเหลื่อมล้ำแต่ละประเภทต่อไปนี้ ล้วนเกี่ยวโยงกัน

ความเหลื่อมล้ำ กว่า 30 ปี “ปริศนาความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมไทยประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ ปริศนาที่หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาหรือไม่ ? นักเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะการดำเนินนโยบายเสรีนิยมใหม่ หรือ นโยบายของรัฐบาลที่เอื้อต่อกลุ่มเจ้าของทุนมากกว่าผู้ใช้แรงงาน บ้างเห็นว่าความเหลื่อมล้ำที่พุ่งสูงโยงกับโลกโลกาภิวัตน์ร่วมสมัยแข่งขันกันแบบตัดราคากันเอง จนในที่สุดไม่มีใครได้กำไร-ทุกคนเสียหมด

“จากความเชื่อที่ว่าความเหลื่อมล้ำทำให้เศรษฐกิจโตเร็ว ขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันข้าม…ประเทศที่เหลื่อมล้ำสูง ยิ่งโตช้าลง เกิดความวุ่นวายไม่รู้จบ เศรษฐกิจอยู่กับที่ หรือ เติบโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน”

ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัจจัยหลักที่อยู่เบื้องหลังความยุ่งยากทางการเมืองในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นปัจจัยรากฐาน เป็นความเหลื่อมล้ำที่รู้สึกได้ อีกนัยหนึ่ง สังคมมาสู่วิกฤตเมื่อรู้สึกว่า สังคมไม่แฟร์

“แม้จะยอมรับว่ามีจุดแตกต่าง (ไม่เท่าเทียม) แต่จุดวิกฤตจะบังเกิด เมื่อคนจำนวนมากขึ้น ๆ รู้สึกว่า ช่องว่างชักจะเกินเลยจนขาดความชอบธรรม”

ศ.ดร.ผาสุกกล่าวว่า ภายหลังก่อการรัฐประหาร เถลิงเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อสาธารณชนใจความว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและเป็นความสำคัญระดับต้นต้องมีนโยบายเพื่อแก้ไข และการชี้นำกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์

“แต่เมื่อความวุ่นวายจางหาย ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำหลุดออกจากความสนใจ รัฐบาลและคสช.ถูกวิจารณ์ว่า ไม่ได้มีความคิดริเริ่มนโยบายใหม่ ๆ ที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ”

อย่างไรก็ตามภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ 6 ด้าน รัฐบาล-คสช.ได้รวมยุทธศาสตร์ด้านความเสมอภาค-ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมไว้ด้วย และดำเนินนโยบาย 2-3 เรื่องเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ได้แก่ หนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีมรดก สอง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) และ สาม ร่างพ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษา

“กฎหมายภาษีมรดกกว่าจะผ่านได้ก็ถูกแก้ไขเอาใจผู้มีทรัพย์และเปิดช่องให้เลี่ยงภาษีได้อย่างถูกกฎหมาย จนถูกวิจารณ์ว่า จะไม่ได้ช่วงแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมได้เลยแต่อาจจะมีผลด้านจิตวิทยาอยู่บ้างและทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นและอาจจะป้องกันไม่ให้ถูกวิจารณ์ว่า ไม่ได้ทำอะไรเลย”

“บัตรคนจนเป็นห่วงว่า กรอบความคิดและวิธีทำ ไม่ได้มาจากสิทธิของประชาชน ซึ่งรัฐบาลต้องตอบสนองเนื่องจากเงินที่ใช้เป็นภาษีที่ประชาชนจ่าย แต่ประหนึ่งเหมือนการกุศลประเภทหนึ่งและทำอย่างเร่งด่วนจนขาดความลุ่มลึก ไม่ได้ประเมินว่า ผู้ได้รับจะตรงเป้าจริงแค่ไหนอย่างไร”

“กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ยังต้องพึ่งเงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค โดยรัฐบาลกำหนดว่าจะลงขันให้ปีละ 1,000 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อไม่ได้รับงบประมาณทั้งหมดอย่างชัดเจนเป็นประจำจนเป็นข้อกังขาว่า ทำได้ผลหรือไม่”

“อีกประการ ขณะที่คสช.ประกาศลดความเหลื่อมล้ำ ได้คุกคามที่จะเปลี่ยนโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประหนึ่งเหมือนต้องการยกเลิกและกลับไปเป็นแบบเดิม ซึ่งนักวิจัยจำนวนมากชี้ว่า โครงการนี้ลดความเหลื่อมล้ำได้ผล ควรทำให้ยั่งยืนต่อไปและปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะใช้งบประมาณไม่มากและคุ้มค่าทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลก”

ศ.ดร.ผาสุก กล่าวสรุปว่า ขณะที่นโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำมีน้อยแต่นโยบายเพิ่มช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกลับมีมาก แสดงให้เห็นจากค่าจีนี แสดงระดับความเหลื่อมล้ำได้ผงกหัวขึ้นอีกหลังจากลดลงในช่วงหลัง 10 ปีที่ผ่านมา

“ขณะนี้ทีมเศรษฐกิจของคสช. บอกชัดว่า ความเหลื่อมล้ำของเมืองไทยจะลดลงเอง เมื่อเศรษฐกิจเติบโตเร็วจากผลของเศรษฐกิจไหลริน ที่เรียกว่า Kicker down effect จากโครงการขนาดใหญ่ เช่น EEC บอกเป็นนัยว่า ไม่ต้องมีนโยบาย หรือ ปฏิรูปอะไรเป็นพิเศษอีกก็ได้ ภายใต้แนวนโยบายการเมืองปัจจุบัน ไม่อาจคาดหวังว่าความเหลื่อมล้ำจะลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้ในประเทศไทย”

ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า ถ้ายังมีคนคิดว่า สังคมไม่แฟร์ เป็นปัญหาแน่นอน เพราะขณะนี้การพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและทางออกเหมือนในช่วง 4 ปีที่แล้วหายไป เพราะประชาชนบอกให้เงียบประหนึ่งเป็นเด็กซุกซน การกำราบ-ปราบปรามไม่ให้แสดงความเห็นนั้นง่ายกว่าการแก้ไข-จัดการกับความเหลื่อมล้ำ ถึงแม้ว่าการพูดถึงความเหลื่อมล้ำหายไปแต่ความรู้สึกของสังคมที่รู้สึกว่าไม่แฟร์หายไปหรือไม่ ?

ศ.ดร.ผาสุกกล่าวว่า ปริศนาที่สอง ต้องใช้เงินแก้ปัญหาจำนวนมากหรือไม่ ? เป็นการตั้งคำถามและวิธีคิดที่ผิด ต้องตั้งคำถามว่า ต้นทุนของการเป็นสังคมความเหลื่อมล้ำสูงเท่าใด ?

“ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำที่สูงอยู่แล้วเป็นต้นทุน หรือ Cost ที่มองไม่เห็น คำถามที่ต้องถาม คือ ถ้าไม่ตั้งใจที่จะลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ ต้นทุน หรือ ผลกระทบด้านสังคม คือ อะไร ผลการศึกษา-วิจัยพบว่า ต้นทุนของความเหลื่อมล้ำมี 3 เรื่องใหญ่ 1.เศรษฐกิจโตช้าลง 2.เกิดปัญหาสุขภาพมากกว่า 3.เศรษฐกิจเสียโอกาสอย่างเต็มศักยภาพ”

“10 ปีของความขัดแย้งทางการเมืองเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านร้อยละ 1-2 ต่อปี ถ้าไม่มีปัญหาดังกล่าวจีดีพีจะเพิ่มได้ร้อยละ 15”

ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า มี 2 เรื่องใหญ่ที่รัฐบาลควรทำอย่างจริงจัง เรื่องแรก การศึกษาทุกระดับ-ทุกพื้นที่และคนรวย-จนต้องได้รับการศึกษาตามาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน และ เรื่องที่สอง สวัสดิการสังคม-คงไว้ซึ่งนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างยั่งยืนและเป็นไปได้เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและส่งเสริมสุขอนามัยแม่และเด็กเพื่ออนาคต

“รายจ่ายไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนหรือ Cost ของสังคมที่ความเหลื่อมล้ำได้ก่อขึ้น ได้แก่ ความเติบโตที่หายไป ปัญหาสุขภาพ และความสูญเสียของสังคมที่ไม่ได้ประโยชน์เต็มที่จะประชาชนอย่างเต็มศักยภาพ”

ศ.ดร.ผาสุกกล่าวว่า ปริศนาที่สาม จะแก้ได้อย่างไร ? ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะมีนโยบายหลายอย่าง อย่างไรก็ตามมี 2 เรื่องที่สำคัญที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ คือ การศึกษาและสวัสดิการสังคม

“เรื่องสวัสดิการสังคมยังไม่เป็นที่ยอมรับว่าจำเป็น ประเทศกำลังพัฒนามักมองว่าเป็นความสิ้นเปลืองงบประมาณสาธารณะ ไทยจะมีรัฐสวัสดิการได้หรือไม่นั้น อาจไม่ได้อยู่ที่ว่ามีเงินพอหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะให้สิทธิพลเมืองในเรื่องนี้จริงจังมากมายเพียงใด”

ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า การศึกษา-วิจัยการออกแบบ ระบบภาษีที่ผ่านมาสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มรายได้รัฐ จากการเก็บภาษีเพื่อเป็นแหล่งที่มาของงบประมาณนโยบายรัฐสวัสดิการสังคม

“กรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (เงินเดือน) ได้เก่ง เก็บภาษีจากน้ำพักน้ำแรง แต่รายได้ประเภทกำไร ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า เรียกรวมว่า รายได้จากการลงทุน หรือ รายได้ที่ไม่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรง กลับเก็บภาษีได้น้อยกว่ามากและมักเป็นคนรวยซึ่งมีความสามารถจ่ายภาษีได้สูง”

ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า สาเหตุที่เก็บภาษีได้น้อยเนื่องจากเกิดการแทรกแซงทางการเมืองสูง คนฐานะดีสามารถหลุดรอดจากการเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ท้ายที่สุดเก็บภาษีได้น้อยกว่าความจะเป็น

“ประเทศไทยเก็บภาษีได้ร้อยละ 18 ของจีดีพีและอยู่ในระดับนี้นานแล้วแม้จีดีพีจะสูงขึ้นทุกปี ธนาคารโลกประมาณการว่าหากไทยอุดช่องโหว่ได้ จะได้รับรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 ของจีดีพี มหาศาล”

“ปัจจุบันสวัสดิการต่าง ๆ ที่รัฐบาลจัดให้ประชาชน ไม่รวมบัตรคนจน คิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของจีดีพีเท่านั้น แต่ที่ OECD โดยเฉลี่ยจะใช้เงินเพื่อสวัสดิการทั้งหมดร้อยละ 22 บางประเทศใช้ถึงร้อยละ 30-40 ของจีดีพี”

“TDRI เคยคำนวณ ว่า ถ้าจะให้พลเมืองไทยทุกคนมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าขั้นพื้นฐาน เป็นพลเมืองสุขภาพดีมีคุณภาพเต็มที่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ตามแนวคิดของศ.ดร.ป๋วย อึ๋งภากรณ์ จะต้องใช้เงินคิดเป็นร้อยละ 12.5 ของจีดีพี หรือ ต้องการงบเพิ่มร้อยละ 2.5 ของจีดีพี หาได้จากการปรับปรุงระบบภาษี ถ้าตั้งใจทำให้สำเร็จจะได้เพิ่มร้อยละ 5 ของจีดีพี”

นอกจากนี้หากริเริ่มให้มีภาษีใหม่ ๆ เช่น ภาษีของความมั่งคั่ง (Wealth tax) รวมทั้งที่ดินในอัตราที่ไม่สูงมาก จะสามารถเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีได้ร้อยละ 1 ของจีดีพี

ศ.ดร.ผาสุกทิ้งท้ายว่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลหาเงินเพื่อใช้จ่ายสวัสดิการสังคมไม่ได้ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลตั้งใจจะทำหรือไม่ ต้องอาศัยเวลาแต่ถ้าไม่เริ่มก็จะไม่ถึงเป้าหมาย