
คอลัมน์ : Politics policy people forum
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับเสียงโหวต “ไว้วางใจ” จากพรรคร่วมรัฐบาลแบบ “ไม่แตกแถว” ด้วยเสียง 319 ต่อ 162 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง
ผ่านบททดสอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกในชีวิต อย่างไม่สะทกสะท้านทางการเมือง
เพราะนอกจากเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลแน่นปึ้ก และยังมี “งูเห่า” เติมเสียงเพิ่มถึง 7 เสียง
ทว่า หลังจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลแพทองธาร ยังเจอโจทย์ร้อน-ด่านหิน อีกหลายด่าน นับจากนี้
ฝ่ายค้าน โรยเกลือ
โดยเฉพาะยุทธการโรยเกลือของพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาชน-พรรคพลังประชารัฐ ที่เตรียม “ต่อยอด” จากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร้องต่อหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์กรอิสระตรวจสอบต่อ
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า เรากำลังดูข้อกฎหมาย มีหลายประเด็น ซึ่งยุทธการโรยเกลือยังมีช่องทางอีกหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนในกรรมาธิการ หรือไปยื่นตามที่ต่าง ๆ มีตามมาแน่นอนไม่ต้องห่วง และกำลังพูดคุยกันภายในพรรคว่าจะจัดการอย่างไรต่อ
“ผมเชื่อว่ามีหลายช่องทางที่เราสามารถดำเนินการทำได้ เช่น เรื่องภาษีถึงแม้ไม่ต้องร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ แต่การทำหน้าที่ตรวจสอบ โดยการนำข้อมูลมาเปิดเผยในสภา ก็สามารถทำให้ครอบครัวของนายกฯจ่ายภาษีได้ เราทุกคนก็ได้ประโยชน์ รวมถึงยังมีอีกหลายช่องทางมากมาย เป็นสิ่งที่พวกเราศึกษากันอยู่”
ในช่วงการอภิปราย “แพทองธาร” เผชิญข้อกล่าวหาที่ต้องตอบด้วยตัวเองอย่างน้อย 3 เรื่อง ข้อกล่าวหาการสร้างหนี้ปลอม เพื่อเลี่ยงภาษี ด้วยการออกตั๋วสัญญาการใช้เงิน P/N (Promissory Note) ปมที่ดินอัลไพน์ และกรณีโรงแรมเทมส์วัลเลย์ เขาใหญ่
หลายถ้อยคำของฝ่ายค้าน พุ่งเป้าไปยังการ “ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม” โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ นำไปสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วินิจฉัยต่อได้
ขณะที่มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ 2561 ซึ่งจะต้องนำมาบังคับใช้กับ สส. สว. และคณะรัฐมนตรี
ระบุในหมวดที่ 1 ข้อ 7 ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตําแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ซึ่งการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ระบุอยู่ในข้อที่ 27 การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวดที่ 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ซึ่งจะโยงมาสู่คุณสมบัติการเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) (5)
รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ในมิติของศีลธรรมจรรยาและความผิดต่อหลักจริยธรรมร้ายแรงในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นยังไม่จบ นายกรัฐมนตรียังต้องต่อสู้และพิสูจน์ในเรื่องนี้ต่อไปแม้ว่าจะได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจถึง 319 เสียงก็ตาม
“ส่วนตัวมองว่านอกจากฝ่ายค้านแล้ว มีความเป็นไปได้ที่ภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งประเด็นทางสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่ฟังการอภิปรายแล้วรู้สึกว่ายังไม่ได้รับคำตอบหรือคำอธิบายที่กระจ่างเพียงพอจะเข้ามาร่วมผลักดันเรื่องนี้อีกแรงหนึ่ง”
“แน่นอนว่าเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องใหญ่สำหรับนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดกว่าประชาชน ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่นายกฯจะต้องต่อสู้และต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อไปหลังจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ”
ยุทธการโรยเกลือ ไม่ใช่เพิ่งมีขึ้นในยุคที่ “พรรคประชาชน” เป็นแกนนำฝ่ายค้าน ทว่าชื่อ “ยุทธการโรยเกลือ” มีตั้งแต่พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ลุยตรวจสอบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมื่อกาลเวลากลับกลาย พรรคเพื่อไทยจึงเผชิญหน้ากับการโรยเกลือ ในยามที่พรรคเพื่อไทยอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับองค์กรอิสระมาโดยตลอด
เขย่าปรับ ครม.
หลายครั้งเอฟเฟ็กต์จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ย่อมส่งผลสะเทือนทำให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แม้ว่า “แพทองธาร” จะออกมายืนยันว่า ยังไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) “ยังไม่มีแพลนจะปรับ ครม.ค่ะ” และบอก “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้เป็นพ่อ ว่าไม่ปรับ
“ที่จะอภิปรายรอบนี้มีการพูดกับนายทักษิณ อยู่แล้ว ว่ายังจะไม่ได้ปรับ ครม. ซึ่งนายทักษิณก็บอกว่า อ๋อ เหรอ โอเค อย่างนี้ค่ะ มีแค่นี้ ก็เลยยังไม่คิดจะปรับ ครม. ตอนนี้คุณพ่อไม่ได้ถามเรื่องปรับ ครม. คุยกันอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้ยังไงจะปรับหรือไม่ปรับ เป็นการคุยกันว่ายังไง ดิฉันก็คุยกับคุณพ่ออยู่แล้วว่ายังไม่ปรับ ครม. และเขาก็รับทราบ”
ทว่า คนในพรรคเพื่อไทยก็ลุ้นกันตัวโก่ง โดยเฉพาะช่วงปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2568 โฟกัสไปที่เดือนเมษายน -พฤษภาคมอาจจะมีเซอร์ไพรส์ เพราะในพรรคเพื่อไทยก็มีแรงกระเพื่อม หลังจากมีการเปิดปฏิบัติการ “เขย่า” เก้าอี้รัฐมนตรีบางราย มาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะรัฐมนตรีสายเศรษฐกิจ
กับดักฮั้ว สว.
อีกเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม คือ เกมเขย่าเก้าอี้ของ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานกรรมการคดีพิเศษ และ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรองประธานกรรมการคดีพิเศษ
ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของกลุ่ม สว. 92 คน กล่าวหา “ภูมิธรรม-ทวี” ใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นเครื่องมือแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบการเลือก สว.อันเป็นการกลั่นแกล้ง กดดัน ข่มขู่ และครอบงำสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ และฝ่าฝืนหลักนิติธรรม
จึงถือได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสองไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
ด้านภูมิธรรมชี้แจงว่า “ไม่วิตกกังวลใด ๆ ก็อยู่ดุลพินิจของศาล และที่ผมไม่วิตกกังวล เพราะรู้ว่าเราทำอะไร เราทำตามหน้าที่ที่ควรจะทำ ตนเชื่อว่าประชาชนทั้งประเทศก็รู้ว่าผมทำอะไร”
ในทางการเมือง การตรวจสอบปมฮั้ว สว. ฝ่ายผู้มีอำนาจสีแดง ต้องการ แปะป้าย สว.สีน้ำเงิน 138 ชีวิต มีข้อหาการกระทำ “ฟอกเงิน” ติดตัว เพื่อลดอิทธิฤทธิ์ทางการเมือง ของ สว. ก่อนส่งให้ กกต.ตัดสิน อีกต่อหนึ่ง หาก กกต.เพิกเฉยต่อการตรวจสอบของดีเอสไอ ก็จะมีขบวนการเอาผิด กกต.ซ้ำอีกต่อหนึ่ง ทว่า…เกมขั้วอำนาจ แดง-น้ำเงิน ในปม ฮั้ว สว.เป็น “เกมยาว” ต่างไม่มีใครยอมใคร เพราะผูกโยงอยู่กับดุลอำนาจนิติบัญญัติ คาบเกี่ยวไปยังองค์กรอิสระ เกมเขย่าเก้าอี้ ภูมิธรรม-ทวี จะร้อนแรงในอีกไม่นาน
รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร หลังจบศึกซักฟอก ยังต้องผ่านศึกหลายยก