อนุทินสั่งด่วน ให้คอนโดฯ-หอพัก-ห้าง ต้องตรวจสอบอาคารกรณีแผ่นดินไหว

มหาดไทยออกหนังสือด่วน สั่งการให้กรุงเทพมหานคร แจ้งนิติบุคคลคอนโดฯ เจ้าของโรงแรม หอพัก ห้างสรรพสินค้า และอาคารที่ต้องตรวจสอบตามกฎหมาย ให้ดำเนินการตรวจสอบอาคาร เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้พักอาศัย และผู้ใช้อาคาร หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดแจ้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ดำเนินการ ดังนี้ ให้กรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารตามมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2526 ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรมตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป สถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป อาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป และป้าย ดำเนินการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคารและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ของตัวอาคาร แล้วรายงานผลการตรวจสอบให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบ

เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้พิจารณาตรวจสอบรายงานแล้ว หากสภาพอาคารอาจไม่ปลอดภัยหรือเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน มีอำนาจตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ประกอบกับกฎกระทรวงการแก้ไขอาคารที่มีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย หรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญหรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563 และกฎกระทรวงกำหนดแบบคำขออนุญาต ใบอนุญาต ใบรับรอง คำสั่ง และแบบหนังสือตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2564 ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) กรณีพบว่าอาคารมีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจจะก่อให้เกิดภยันตรายต่อชีวิตหรือร่างกาย ให้มีคำสั่งแก้ไขอาคาร ตามแบบ ค.10 (2) กรณีฉุกเฉินที่ไม่อาจรอช้าได้เนื่องจากอาคารมีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายให้มีคำสั่ง ดำเนินการเพื่อบรรเทาเหตุที่ก่อให้เกิดอันตรายดังกล่าว และห้ามมิให้ใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้อาคาร ตามแบบ ค.11 และ (3) กรณีเจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งแก้ไขอาคารตามแบบ ค.10 และอาคารนั้นมีสภาพที่อาจเป็นภยันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ให้มีคำสั่งรื้อถอนอาคาร ตามแบบ ค.12 และทางกรุงเทพมหานครทำรายงานผลการดำเนินงานให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนในการเข้าใช้อาคารเนื่องจากประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้งานอาคารที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบสภาพอาคารเพื่อประเมินความปลอดภัยในการใช้งานอาคารที่ได้รับผลกระทบ