
รองหัวหน้าพรรคประชาชน แนะรัฐบาลรับมือกำแพงภาษีสหรัฐฯ แยกผลทางตรง–ทางอ้อม เจรจาอย่างมียุทธศาสตร์ “อย่าทิ้งไพ่ทีเดียวหมด” ชวนเริ่มจินตนาการโลกการค้าที่ไม่มีอเมริกาและจีน
รศ.ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคประชาชน และอดีตอาจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองมหาวิทยาลัย National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) แสดงทัศนะผ่านเฟซบุ๊กถึงผลกระทบจากการประกาศขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 36% ของสหรัฐฯ
รศ.ดร.วีระยุทธ ระบุว่า แยกผลทางตรง–ทางอ้อม ทิ้งไพ่ทีละใบ เปิดเผยคนได้–คนเสีย
การประกาศขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 36% ของสหรัฐฯ ในวันนี้ กลายเป็น “แผ่นดินไหว” ทางเศรษฐกิจรอบใหม่ ที่ไม่ได้สะเทือนแค่การส่งออกเท่านั้น แต่จะลามไปยังจีดีพีปี 2568 ค่าเงิน การจ้างงาน อย่างรุนแรง ในการแถลงข่าววันนี้ ผมเสนอ 3 ประเด็นให้รัฐบาลพิจารณาดังนี้
1. แยกผลทางตรง–ทางอ้อม
เราส่งออกไปสหรัฐฯ ปี 2567 รวมแล้ว 55,000 ล้านเหรียญ คิดเป็น 19% ของการส่งออกไทยทั้งหมด และเกินดุลกับสหรัฐฯ ถึง 45,600 ล้านเหรียญ
สินค้ากลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบทางตรง คือกลุ่มที่พึ่งตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางรถยนต์
กลุ่มนี้จะได้รับผลรุนแรงรวดเร็ว อย่าหลงไปกับตัวเลขการส่งออกตั้งแต่ปลายปีก่อนต่อมาต้นปีนี้ที่ดูเหมือนขยายตัวสูง เพราะเกิดจากบริษัทส่วนใหญ่เร่งส่งออกสินค้าไปสต็อกไว้ที่สหรัฐฯ ก่อน เพื่อหนีความไม่แน่นอนของนโยบายกำแพงภาษี ดังนั้น “การเผาจริง” จะเกิดขึ้นนับจากวันนี้เป็นต้นไป
2. อย่ามองข้ามผลกระทบทางอ้อม 3 ชั้น
นอกจากผลทางตรงแล้ว ยังมีผลกระทบทางอ้อม 3 อีกชั้นที่ห้ามละเลย
ชั้นที่ 1 คือ การขึ้นภาษีกับประเทศอื่นๆ ก็มีนัยต่อไทยเหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ เพราะมีชิ้นส่วนที่เราส่งไปเพื่อประกอบขั้นสุดท้ายเพื่อส่งไปตลาดสหรัฐฯ อีกที เช่น อะไหล่ที่ไทยส่งออกไปเม็กซิโกและอีกหลายประเทศ เพื่อไปประกอบเป็นรถส่งเข้าอเมริกา รวมๆ แล้วก็มีมูลค่าระดับหมื่นล้านบาท การขึ้นภาษีกับเม็กซิโกจึงส่งผลมาถึงบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ไทยเป็นโดมิโนเช่นกัน
ชั้นที่ 2 ถ้าจีนโดนหนักก็ส่งผลกับไทยอีกทาง เพราะมีสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางจากไทย พวกยางพารา ยางสังเคราะห์ เม็ดพลาสติก อะลูมิเนียมรีดสำหรับทำกระป๋อง ถ้าจีนผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ น้อยลง การนำเข้าสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางจากไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนก็จะหายไปด้วย
ชั้นที่ 3 พอตลาดอเมริกาเริ่มปิด การแข่งขันก็จะย้ายไปรุนแรงขึ้นในตลาดประเทศอื่นๆ เช่น ตลาดประเทศออสเตรเลีย ที่เราเคยครองการส่งออกยานยนต์ ปีที่แล้วญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ก็เข้ามาชิงส่วนแบ่งของไทย ตลาดส่งออกประเทศอื่นๆ ที่เคยเป็น “ฐานที่มั่น” ของเราจะยิ่งเดือดขึ้นอีกในปีนี้
3. ยุทธศาสตร์เจรจา “อย่าทิ้งไพ่ทีเดียวหมด”
แนวทางการรับมือเฉพาะหน้าคือไทยต้องเจรจาอย่างมียุทธศาสตร์ “อย่าให้ทีเดียวหมด เก็บไพ่ในมือไว้ปล่อยทีละใบ”
ไพ่ที่เราพอมีในมือเช่น มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ที่รายงานของ SCB EIC คำนวณไว้ว่าไทยมีอยู่ 166 มาตรการ ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดด้านสุขอนามัย โควตาการนำเข้า ที่หากเราเปิด สหรัฐฯ ก็จะส่งสินค้าเข้ามาไทยได้มากขึ้น
มาตรการเหล่านี้ต้องเอามาจัดลำดับความสำคัญ ว่าแต่ละตัวหากเปิดให้สหรัฐฯ แล้วจะส่งผลต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคไทยอย่างไร แล้วเลือกทำเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ก่อน เช่น การนำเข้าไก่และหมูที่ราคาของสหรัฐฯ ถูกกว่าที่ผลิตในไทย แต่โดนกีดกันมาตลอด
ที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลต้องเปิดข้อมูล “ผู้ได้-ผู้เสีย” ด้วยว่าจะเอาอะไรไปต่อรอง อย่ามุบมิบเจรจา เพราะบทเรียนการเปิดเสรีการค้า FTA ที่ผ่านมา เช่นกับจีน คือ คนได้ประโยชน์ไปร่วมต่อรองบนโต๊ะ แต่กลุ่มที่เสียประโยชน์ อย่างผู้ประกอบการและเกษตรกรกลับไม่เคยอยู่บนโต๊ะเจรจาเลย
กว่าจะรู้ตัว สินค้าก็ทะลักเข้ามาล้นตลาดไทยแล้ว รอบนี้ รัฐบาลต้องเปิดเผยและให้ข้อมูลกับทุกกลุ่มธุรกิจอย่างเป็นธรรม เตรียมมาตรการช่วยเหลือให้พร้อม
แต่ในระยะยาว เราต้องเริ่มจินตนาการถึง “โลกการค้าที่ไม่มีอเมริกาและจีน” เพื่อปรับยุทธศาสตร์ซัพพลายเชนแต่ละสินค้าใหม่ทั้งหมด หาจุดที่ได้ประโยชน์จากสงครามการค้ารอบนี้ที่บริษัทเทคโนโลยี รวมถึงแล็บวิจัยสำคัญๆ ในสหรัฐฯ ถูกตัดงบ นำมาเชื่อมต่อกับซัพพลายเชนไทยเผื่ออนาคตไว้ด้วย
ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาชนจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมเปิดวงรับฟังผู้ประกอบการ เกษตรกร และแรงงาน ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ ใช้กลไกกรรมาธิการและการสื่อสารสาธารณะเพื่อเสนอแนะทางออกให้กับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เพราะสงครามการค้าครั้งนี้มีแต่ะรุนแรงและปั่นป่วนขึ้นอีกเรื่อยๆ