
ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาชน เสนอรัฐบาลเตรียมรับมือกำแพงภาษีสหรัฐ ดักคออย่ามุบมิบเจรจา แนะนำไพ่ในมือมาต่อรองทีละใบ อย่าทิ้งครั้งเดียวหมด จ่อเสนอญัตติด่วนเข้าถกในสภา สู้เอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ 9 เม.ย.นี้
ที่รัฐสภา พรรคประชาชน (ปชน.) นำโดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ และนายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรค ปชน. แถลงกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 36% ทั้งนี้ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ ช็อกโลก เป็นพายุหมุนหรือแผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจที่จะกระทบทั่วโลก โดยประเทศไทยที่ถูกจัดเก็บภาษีถึง 36%
ถือเป็นอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซียที่ถูกจัดเก็บภาษีถึง 32% มาเลเซียอยู่ที่ 24% เวียดนามอยู่ที่ 46% และจีนอยู่ที่ 34% ซึ่งการเก็บภาษีนำเข้า 36% กระทบกับไทยบ้างนั้น จากเดิมที่บริษัทส่งออกเคยส่งสินค้าออกไปยังสหรัฐอเมริกาต้องเจอราคาที่รวมภาษีแล้วอยู่ที่ 100 บาท ตอนนี้เพิ่มเป็น 136 บาท
ฉะนั้น การจะรับมือกับเรื่องนี้เราต้องเข้าใจถึงเป้าประสงค์ของสหรัฐอเมริกาว่าไม่ใช่การที่แค่จะทำให้การขาดดุลการค้าระหว่างประเทศอื่น ๆ ลดลง แต่ทรัมป์ยังต้องการรายได้เข้ารัฐเพิ่มเติม เพื่อไปชดเชยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลของสหรัฐอเมริกาที่มีแผนการจะปรับลดลง
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งเป้าว่าจะให้นักลงทุนของสหรัฐอเมริกาย้ายฐานการผลิตกลับประเทศตัวเอง ดังนั้น หากเราคาดหวังผลว่าจะเป็นเหมือนสงครามการค้าในสมัยทรัมป์ 1 ว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตกลับมาที่ประเทศไทย หากประเทศอื่นเก็บภาษีสูงกว่าเรา กรณีนี้อาจจะไม่เกิดขึ้น
ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะภายในวันที่ 5 เมษายนจะถูกเก็บภาษีขั้นต่ำคือ 10% ก่อน จากนั้นประเทศไทยที่ถูกเก็บภาษีมากกว่า 10% จะถูกเก็บทันทีวันที่ 9 เมษายน แต่ก็อาจจะมีสินค้าบางประเภทที่อาจจะไม่ถูกเก็บภาษีตามที่มีประกาศจากทำเนียบขาวมาคือ สินค้าประเภทสิ่งพิมพ์ข้อมูลต่าง ๆ เหล็ก อะลูมิเนียม ยานยนต์ต่าง ๆ ที่เคยถูกเก็บไปก่อนหน้านี้แล้ว
นอกจากนี้ยังมีทองแดง ยา เซมิคอนดักเตอร์ ไม้ รวมถึงสินค้าอื่น ๆ เช่น ทองคำ พลังงาน แร่ ที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้มี ในบรรดาสินค้าที่เราต้องถูกเก็บภาษีจะมีเซมิคอนดักเตอร์ที่จะรอด
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยคือ การค้าต้องมีการหยุดชะงัก มูลค่าการส่งออกอาจจะหดตัวลงมาประมาณ 1% จีดีพีอาจจะหดตัวลงได้มากกว่า 1% ซึ่งอาจจะทำให้จีดีพีของปี 2568 ลดลงต่ำกว่า 2% หากการเจรจาไม่ได้เกิดขึ้นโดยเร็วหรือการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ ในกรณีที่เราสามารถเจรจาได้เป็นผลสำเร็จมากที่สุดคือกลับไปเก็บได้ประมาณ 10% จะทำให้จีดีพีโตลดลงประมาณ 0.3% ยังอยู่พ้นตัวเลข 2% ขึ้นมา
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือสินค้าส่งออกทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สื่อสาร ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ยางล้อ เครื่องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่การส่งออกเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่การลงทุนก็จะหยุดชะงักลงด้วย เข้าใจว่าตอนนี้นักลงทุนอาจจะรอให้ฝุ่นหายตลบก่อน โครงการต่าง ๆ ที่เคยขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอหรือไม่รับบัตรส่งเสริมไปแล้วก็อาจจะชะลอการลงทุนทั้งหมด เพื่อปรับแผนการลงทุนก่อนจะตัดสินใจลงทุนใหม่
ฉะนั้น จึงขอเรียกร้องให้มีการทบทวน โดยนำตัวเลขอื่น ๆ ที่สหรัฐอเมริกายังไม่นำมาคำนวณ เช่น ดุลบริการ ที่สหรัฐอเมริกาได้ดุลกับไทยอยู่แล้ว
ด้านนายวีระยุทธกล่าวว่า ตนเสนอให้แยกผลกระทบออกเป็น 2 ส่วน คือ ผลทางตรง ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่พึ่งตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก เช่น คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางรถยนต์ ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับผลรุนแรงรวดเร็ว เพราะเราส่งออกไปสหรัฐอเมริการวมแล้ว 55,000 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 19% ของการส่งออกทั้งหมด
และเกินดุลกับสหรัฐอเมริกาถึง 45,600 ล้านเหรียญ แม้การขยายตัวของการส่งออกช่วงไตรมาสแรกปีนี้ค่อนข้างดี เพราะบริษัทส่วนใหญ่เร่งส่งออกสินค้าไปสต๊อกไว้ที่สหรัฐอเมริกาก่อน หนีความไม่แน่นอนของนโยบายกำแพงภาษี ของจริงจะเกิดขึ้นนับจากวันนี้เป็นต้นไป
นายวีระยุทธกล่าวต่อว่า ผลกระทบอีกด้านที่ไม่ควรละเลยคือ ผลกระทบทางอ้อม 3 ชั้นที่ไม่ควรมองข้าม โดยชั้นที่ 1 สินค้าที่ส่งไปยังประเทศที่ถูกสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษี เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ไทยส่งออกไปเม็กซิโก เพื่อประกอบส่งเข้าสหรัฐอเมริกาอีกทีก็มีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท
ชั้นที่สอง การแข่งขันรุนแรงขึ้นในตลาดประเทศอื่น ๆ จากการที่ผู้ส่งออกหนีจากตลาดสหรัฐอเมริกา เช่น ในตลาดประเทศออสเตรเลีย ก็มีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เข้ามาชิงส่วนแบ่งของไทย
ชั้นที่สาม คือ สินค้าขั้นกลาง เช่น ยางพารา และเม็ดพลาสติกที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อเข้าตลาดสหรัฐอเมริกา เมื่อตลาดตรงนี้ปิด ยอดในส่วนนี้ก็จะตกลงไปด้วย ดังนั้น ผลกระทบต้องมองทั้งทางตรงและทางอ้อม และแยกยุทธศาสตร์ออกจากกัน
โดยทางตรงเราต้องมีการเจรจา ซึ่งหากดูจากรายงานตัวแทนของสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกาเรามีปัญหาอยู่ 4 ข้อที่เราควรนำไปเป็นประโยชน์ในการต่อรอง คือ 1.มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี หรือ Non-Tariff Barriers ที่ไทยมีอยู่ 166 มาตรการ ที่เรากีดกันสินค้าอเมริกา เช่น สารเร่งเนื้อแดง เพราะเรามีข้อจำกัดเรื่องสุขอนามัย
2.เขามองว่าเรามีสินค้าปลอมแปลง มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เยอะ 3.เรามีข้อจำกัดเรื่องการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมที่จำกัดผู้ถือหุ้นต่างชาติเอาไว้ และ 4.เรื่องสิทธิแรงงาน ที่กฎหมายยังไม่รองรับ โดยควรนำทั้ง 4 ข้อนี้มาเป็นไพ่ต่อรองในมือ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องดุลบริการที่ควรนำไปต่อรอง
นายวีระยุทธกล่าวอีกว่า ดังนั้น จึงมีข้อเสนอคือ 1.เอามาตรการที่เรามีอยู่แล้วสหรัฐอมริกามองว่าเป็นอุปสรรคมาเป็นไพ่ต่อรอง อย่าทิ้งทีเดียวหมด ค่อย ๆ ทิ้ง ทิ้งอย่างมียุทธศาสตร์ 2.อย่ามุบมิบเจรจา อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับการเปิดเสรีกับจีนที่ผู้เสียประโยชน์ไม่รู้ตัว และไม่ได้รับความช่วยเหลือให้เตรียมพร้อมรับมือ ควรเปิดเผยข้อมูลผู้ที่จะได้และเสียประโยชน์จากการที่เราจะเอาอะไรไปต่อรองให้สาธารณะได้รับรู้
นอกจากนี้ ควรพร้อมที่จะเยียวยาผู้ที่จะเสียประโยชน์ ซึ่งมักเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย อย่างไรก็ตาม อยากให้จินตนาการถึงโลกที่ไม่มีอเมริกาและจีนไว้ด้วยว่าไทยจะปรับซัพพลายเชนแต่ละสินค้าอย่างไรเพื่อรับมือภาวะสงครามการค้าที่จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะที่นายสิทธิพลกล่าวว่า ขอแนะนำว่าเราควรมีการเตรียมความพร้อมรับมือการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจีนที่จะรุนแรงขึ้นอีก หลายเรื่องรัฐบาลพูดมานานว่าอยู่ในแผนที่จะทำ แต่ยังไม่มีกำหนดเสร็จชัดเจน เช่น การกำกับแพลตฟอร์ม การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลในไทย เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มออนไลน์มีส่วนรับผิดชอบหากปล่อยให้มีการขายสินค้าไม่ได้มาตรฐานบนแพลตฟอร์ม และการเพิ่มจำนวนมาตรฐานบังคับเพื่อขยายความคุ้มครองประเภทสินค้าให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงและเจ้าหน้าที่สามารถยึดอายัดได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้รัฐบาลพูดมาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2567 ที่ผ่านมาแต่ยังไม่มีการออกมาตรการมาบังคับใช้
เช่น เรื่องการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลในไทย เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ คำถามคือเรื่องนี้จะเสร็จเมื่อไหร่ ตราบใดที่ยังไม่เสร็จ รัฐก็ไม่มีประสิทธิภาพในการกำกับควบคุมมาตรฐาน คุณภาพสินค้า การตรวจสอบภาษี ตลอดจนการลงโทษหากผู้ประกอบการต่างชาติกระทำผิด
นายสิทธิพลกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้า วันนี้มีเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการจำนวนมากว่าถูกสินค้าจากต่างชาติทุ่มตลาด หลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด กระทั่งได้รับการสนับสนุนอย่างไม่เป็นธรรม
ซึ่งภายใต้กระบวนการปัจจุบัน ภาคเอกชน ผู้ประกอบการประสบความยากลำบากในการรวบรวมหลักฐาน เพื่อดำเนินการเรื่องเหล่านี้ด้วยตนเอง รัฐจะสามารถช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกมากกว่านี้ได้อย่างไร เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด การตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ในเรื่องมาตรฐานบังคับ
ผ่านมาครึ่งปี ที่อยู่ในลิสต์ว่าจะออกมาตรฐานก็มีจำนวนเท่าเดิม จำนวนที่เพิ่มและมีผลบังคับใช้แล้วมีเพียง 1-2 มาตรฐาน ความเร็วในอัตรานี้ ไม่เพียงพอต่อการกำกับสินค้าต่างชาติ นอกจากนี้ยังควรเร่งรัด คือการตรวจจับที่ด่านศุลกากรให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพราะเป็นด่านแรกของการที่สินค้าเหล่านี้เข้ามาในประเทศ แม้รัฐบาลจะบอกว่าปัจจุบันตรวจสอบหรือสกรีนเพิ่มขึ้นแล้ว บางช่องทางถึงขนาดบอกสกรีน 100% แต่การที่สินค้าเหล่านี้ยังรอด แสดงให้เห็นว่าการตรวจยังมีช่องโหว่
เมื่อถามว่า เรื่องนี้ในส่วนของพรรคประจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า จริง ๆ เรื่องนี้เราอยากให้มีการเสนอเป็นญัตติด่วนในสภา ในวันที่ 9 เมษายนนี้ แต่คงต้องสู้รบปรบมือกับฝั่งรัฐบาล เนื่องจากจะมีการพิจารณาเรื่องร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งเราคิดว่าเรื่องนี้เร่งด่วนกว่ามาก เราอยากนำเข้าโดยเร็วที่สุด
โดยอาจจะต้องมีการประสานกับทางรัฐบาล แต่หากไม่ได้อย่างไรคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร จะรับเรื่องนี้ไปพัฒนาต่อ แม้ก่อนหน้านี้ มีความพยายามที่จะเข้าไปเจรจากับทางผู้แทนการค้าของสหรัฐ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้วก็ตาม แต่เราก็ยังโดนเก็บภาษีอยู่ดี ถ้ารัฐบาลจะสร้างความมั่นใจจริง ๆ ก็คงจะต้องมีรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนเชื่อได้จริง ๆ ว่า สามารถที่จะรับมือได้และมีไพ่ในมือเพียงพอที่จะไปเจรจาต่อรองกับสหรัฐอเมริกาได้
ย้ำว่ายังมีประชาชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกมากมาย ที่อาจจะไม่สามารถรับมือกับความโกลาหลปั่นป่วนที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ