ไทยน่วมเสี่ยง ‘ทางตัน’ ต้องแก้ระดับ ‘โครงสร้าง’

นายกฯอิ๊งค์

ปีนี้ 2568 ประเทศไทยเผชิญศึกหนัก คู่ชกตัวใหญ่มาก ๆ

ภายในประเทศ เหตุการณ์แผ่นดินไหวระดับ 8.2 ริกเตอร์ เมื่อวันศุกร์ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา อาคาร 33 ชั้นของ สตง.กำลังก่อสร้าง ทรุดลงมากองอยู่กับพื้น

ทั้งตาย เจ็บ และติดอยู่ในซากตึกอีกจำนวนมาก

ศูนย์กลางอยู่มัณฑะเลย์ เมียนมา พังยับเยิน แต่ที่บ้านเราก็ถือว่าหนักอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อน

ในยุคที่ทุกคนเข้าถึงระบบไอที ภาพนาทีตึกถล่ม ผู้คนหนีตาย แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในระบบออนไลน์ แพลตฟอร์มต่าง ๆ

เป็นโจทย์ให้ผู้รับผิดชอบต้องรีบรับไปแก้ไข แบบเถียงไม่ได้

ADVERTISMENT

กรณีของตึก สตง. ผลงานกิจการร่วมค้า อิตาเลียนไทยกับไชน่า เรลเวย์ ทางดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้ว

งานนี้ “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รมว.อุตสาหกรรม รุดตรวจถึงไซต์ก่อสร้าง-เก็บตัวอย่างเหล็กไปเข้าห้องแล็บ

ADVERTISMENT

พร้อมกับบอกว่า “ผมเห็นแล้วยังอึ้งเลย”

ปัญหามาตรฐานการก่อสร้างต้องเอาจริงเอาจัง จะเอาชื่อของประเทศไปเสื่อมเสียแบบนี้ไม่ได้อีก

ระบบเตือนภัย เป็นอีกโจทย์สำคัญ

งานนี้ “นายกฯอิ๊งค์” ไล่เบี้ยถามเสียงเข้ม เพราะเอสเอ็มเอสแนะนำแนวปฏิบัติไม่ถึงประชาชน ส่วนระบบ Cell Broadcast ที่เตือนได้แบบไม่มีข้อจำกัด คิดกันว่าตั้งแต่สึนามิ 2548

เพิ่งได้งบฯจัดทำ อยู่ในขั้นตอน “เกือบเสร็จ”

คาดว่าเดือน พ.ค.นี้จะเริ่มใช้ได้

ประเทศไทยถือเป็นประเทศชั้นนำในอาเซียน โดยเฉพาะอินฟราสตรักเจอร์ทางด้านไอที

เรามี 5G มาตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด เป็นระบบที่มีบทบาทช่วยเหลืออย่างมาก

คนไทย 96% เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ปีนี้ 2568 จะเปิดให้บริการดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ทำให้มีทางเลือกมากขึ้นอีก

ระบบสื่อสารของเราดี จนแก๊งสแกมเมอร์ แห่เข้ามาใช้งานเพื่อต้มตุ๋นประชาชนคนไทย

การรับมือหลังเกิดเหตุทำได้ดี ทั้งการกู้ภัยของเอกชนและภาครัฐ การเข้าตรวจอาคารสูงของ กทม. การสั่งเปิดสวนสาธารณะรองรับประชาชนที่ไม่กล้าเข้าบ้าน เป็นไปอย่างรวดเร็ว

จุดอ่อนยังอยู่ที่การรับมือในห้วงเกิดเหตุ ต้องมีการสื่อสารจากภาครัฐ ถ้ารถไฟฟ้าหยุด ทางด่วนปิด ก็ต้องมีระบบมาช่วยเหลือประชาชน ไม่ปล่อยให้เคว้งคว้าง

เป็นการบ้านที่ต้องคิดร่วมกัน ผลักดันร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ

โดยต้องคำนึงถึงทุกข์สุขของประชาชนให้มาก

เหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นปลายเดือน มี.ค.

อีกไม่กี่วันจะถึงวันสงกรานต์ ที่คนจะต้องกลับไปเยี่ยมบ้าน เร่งรีบทำงาน เพื่อรวบรวมค่าแรงกลับไปฉลองกับพ่อแม่พี่น้อง

หลายครอบครัวจะต้องผ่านเทศกาลนี้ไปอย่างโศกเศร้า เพราะสมาชิกกลับมาไม่ครบ

ส่วนศึกนอก ประธานาธิบดีทรัมป์ ยืนตระหง่าน เซ็นคำสั่งขึ้นภาษีแบบรัว ๆ

ทุกประเทศโดนหมด 10% แล้วเพิ่มเติมสำหรับ ประเทศที่อยู่ในลิสต์ได้เปรียบดุลการค้า โดยเฉพาะในอาเซียน วิ่งแก้เกมกันขาขวิด

อย่างเวียดนาม ที่เป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ เป็นเสือปืนไว ลดภาษีหลายรายการ เพื่อเอาใจสหรัฐ

ประธานาธิบดีทรัมป์เซ็นคำสั่งเมื่อ 2 เม.ย. สินค้าไทยโดนภาษี 36% หนักที่สุดเป็นอันดับ 14 จากมาตรการภาษีรอบนี้

“ประเทศที่ทำผิดร้ายแรงที่สุด” 60 ประเทศ โดนเรียกเก็บตามสูตรที่คำนวณไว้ มีผล 9 เม.ย.นี้

สหภาพยุโรป 20%, จีน 34%, ญี่ปุ่น 24%, ไต้หวัน 32%, อินเดีย 26% หรือเวียดนาม ที่พยายามวิ่งแก้ปัญหา โดนไป 46%

ที่แน่ ๆ ข้าวหอมมะลิไทย ที่มีสัดส่วนในตลาดสหรัฐปี’67 สูงกว่า 850,000 ตัน ปกติเฉลี่ยตันละ 900-1,000 เหรียญ เจอภาษี 36% จะพุ่งเป็น 1,400 เหรียญทันที

อาจจะเป็นโอกาสของข้าวเวียดนามที่แม้จะโดนภาษีหนัก แต่ราคาถูกกว่า เพียงตันละ 600-700 เหรียญเท่านั้น

ภาคธุรกิจประเมินออกมาแล้วว่า ผลจากมาตรการภาษีของสหรัฐ จะทำให้ GDP ของไทยในปี 2568 ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ 2.4-2.9%

ขณะที่รัฐบาลประกาศเป้าหมายไว้ที่ 3%

ข้อเสนอจากภาคธุรกิจ คือ ประเทศไทยต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งจากภายใน

ที่พูดถึงกันมานานแล้ว คือ การปรับในระดับ “โครงสร้าง”

คือ การยกเครื่องระเบียบ กฎหมายต่าง ๆ ให้ทันสมัย และยืดหยุ่น สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทิ้งความ “ตายตัว” ให้ได้

ให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ในการเปลี่ยนนโยบาย หรือดำเนินนโยบายใหม่ ๆ ที่มีผลทางเศรษฐกิจ

ซึ่งแน่นอน จะโยงไปถึงเรื่อง “การเมือง” ด้วย

การเมืองไทยถึงเวลาต้องเป็นไปตามระบบสากล ให้รัฐบาลเป็น “ผู้นำ” ในการแก้ปัญหา ดำเนินนโยบายต่าง ๆ

และเป็นผู้นำในการปรับโครงสร้างการเมือง แก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

รัฐสภาต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้ง สส. และ สว. ไม่ใช่มาจากไหนก็ไม่รู้

ยิ่งสถานการณ์ดูวิกฤต และเหมือนกับเผชิญทางตัน

มีแต่จะต้องแก้ปัญหาในระดับ “โครงสร้าง” เท่านั้น