
ประเทศไทยเผชิญโจทย์ใหญ่ 2 ครั้งซ้อน จากกรณีแผ่นดินไหว (ของจริง) ส่งผลให้อาคารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่กำลังก่อสร้างพังถล่มลงมา แต่สิ่งที่พังถล่มมากกว่าตึก สตง. คือ ข้อกังขาเรื่องบริษัทที่ได้รับงานสัมปทานของรัฐบาล
และแผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจ หลังจากสหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าทั่วโลก กระทบสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐ ที่โดนภาษี 36% บวกกับภาษีพื้นฐาน 10%
ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอบทความ “แผ่นดินไหว 2 ครั้งที่กรุงเทพ !” ตั้งคำถามถึงการรับมือของรัฐบาล ยามที่ต้องเผชิญหน้าแผ่นดินไหวทั้ง 2 ครั้ง
แผ่นดินไหว ห้องสอบของรัฐบาล
หากลองเปรียบเทียบถึงสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในปัจจุบันแล้ว อาจกล่าวเสมือนหนึ่งว่า ไทยกำลังเจอกับแผ่นดินไหว 2 รอบ แผ่นดินไหวรอบแรกเป็นเรื่องทางธรรมชาติ ของปัญหาทางธรณีวิทยา แต่ในรอบ 2 เป็นเรื่องทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัฐมหาอำนาจใหญ่คือ สหรัฐอเมริกา
ในทางรัฐศาสตร์ มักจะมีข้อสังเกตว่า ปัญหาของแผ่นดินไหวมักจะมีผลในทางการเมืองอย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ เพราะการเสียชีวิตของผู้คน ที่มาพร้อมกับการพังทลายของตึกรามบ้านช่องนั้น ย่อมเป็นปัญหาทางการเมืองในตัวเอง และยิ่งมีความรุนแรงมากเท่าใด ก็ยิ่งมีผลทางการเมืองมากเท่านั้น
ข้อสังเกตเช่นนี้เกิดขึ้น เพราะความสูญเสียทั้งชีวิต อาคารที่อยู่อาศัย และทรัพย์สินของผู้คนในสังคมนั้น เป็นความท้าทายโดยตรงต่อขีดความสามารถของรัฐ ซึ่งก็มีนัยของการเป็นประเด็นทางการเมืองในตัวเอง เช่น ในสังคมที่มีระบบจัดการปัญหาภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น เมื่อเกิดปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และมีผลกระทบกับชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน รัฐบาลมักจะไม่ตกเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองมากนัก เพราะปัญหาเช่นนี้ ถูกแก้ด้วยการบริหารจัดการในการรับมือกับภัยที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่จะกล่าวว่า “การรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ” คือ กุญแจดอกสำคัญของการลดผลกระทบทางการเมืองจากปัญหาภัยพิบัติดังกล่าว เนื่องจากประสิทธิภาพของรัฐ จะเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงสถานะและขีดความสามารถของรัฐบาลในมุมมองของประชาชน หรืออาจกล่าวในมิติทางรัฐศาสตร์ได้ว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะมีความเป็น “วิกฤต” ในตัวเองด้วย คือ “ห้องสอบ” ของรัฐบาล และคงไม่ผิดนักที่จะต้องกล่าวว่า คนที่ถูกจับให้ทำข้อสอบที่หนักที่สุด ก็คือตัวผู้นำประเทศนั่นเอง และในบริบทของไทยคือ ตัวนายกรัฐมนตรี
ผู้นำประเทศจึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในความเป็นรัฐบาลที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น ฉะนั้น วิกฤตเช่นนี้ในด้านหนึ่งจึงเป็นโอกาสในการแสดงให้เห็นขีดความสามารถของรัฐบาล หรือที่เรามักชอบพูดกันเสมอ
ต้องเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส
ในยามที่ประเทศต้องเจอกับปัญหาใหญ่ว่า รัฐบาลต้อง “เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส” ถ้ารัฐบาลสามารถทำได้จริงตามที่กล่าวแล้ว ผลที่ตามมาจะกลายเป็น “คะแนนเสียง” ทางการเมืองชุดใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า แต่ในอีกด้านของปัญหา อาจจะเป็นสภาวะกลับกันคือ “ทำโอกาสให้เป็นวิกฤต” เพราะโอกาสที่เปิดให้รัฐบาล โดยเฉพาะตัวผู้นำประเทศได้แสดงขีดความสามารถนั้น กลายเป็นวิกฤตไปเสียเอง เพราะรัฐบาลไม่มีขีดความสามารถในการรับมือกับวิกฤตที่เกิดได้จริง หรือรัฐบาลไม่สามารถแสดงให้ประชาชนในประเทศเกิดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการของรัฐบาล หรือของตัวผู้นำในการเป็นผู้แก้ไขปัญหาของประเทศในยามวิกฤต
ผลสืบเนื่องทางการเมืองจากสภาวะเช่นนี้ก็คือ วิกฤตที่เกิดขึ้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของรัฐบาล หรือในบางประเทศ วิกฤตเช่นนี้คือ จุดเริ่มต้นของการประท้วงต่อต้านรัฐบาลนั่นเอง เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงขีดความสามารถของรัฐบาลในตัวเอง ที่เปิดประเด็นนำร่องมาอย่างยืดยาวในข้างต้นนั้น ก็เพื่อให้เห็นภาพทางรัฐศาสตร์ถึงผลของวิกฤตที่จะเกิดกับรัฐบาล หรือกับตัวผู้นำประเทศ
ผู้นำต้องกล้าเดินนำแก้วิกฤต
อย่างไรก็ตาม จะไม่มุ่งประเด็นในเรื่องของภัยทางธรรมชาติที่ทำให้ตึกของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มลงมา และมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่อย่างน้อยในกรณีนี้ ก็ดูจะมีข้อวิจารณ์รัฐบาลอยู่พอสมควร และโอกาสที่เปิดรอให้รัฐบาลได้แสดงตนอย่างดีก็คือ การเข้ามาจัดการกับการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่และบุคคลสัญชาติไทย ตลอดรวมถึงการจัดการกับการแสวงหาประโยชน์ของกลุ่มทุนจีน ที่ใช้ความเป็นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เป็นทุนข้ามชาติจากจีน เข้ามาแสวงประโยชน์จากความอ่อนแอของรัฐไทย
ถ้าผู้นำรัฐบาลกล้าพอที่จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสแล้ว การประกาศ “เดินนำ” ในการจัดการกับการคอร์รัปชั่นของข้าราชการไทย บุคคลสัญชาติไทย และบุคคลสัญชาติจีนที่เกี่ยวข้อง จะส่งผลให้ตัวนายกรัฐมนตรีมีภาพทางการเมืองของการเป็นผู้นำประเทศได้จริง เพราะคนในสังคมกำลังรู้สึกว่า “วิกฤตตึกถล่ม” กำลังวัดใจรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นที่เห็นได้ชัดจากภาพข่าวในกรณีนี้
แทบไม่ได้ยินมาตรการรับมือภาษี
ส่วนวิกฤตอีกชุด เป็นดัง “แผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจการเมือง” อันเป็นผลจากการประกาศขึ้นกำแพงภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ไม่มีประโยชน์ที่คนมีตำแหน่งในรัฐบาลจะออกมาอธิบายว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก… คำอธิบายเช่นนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แก่ใจ แต่ทุกคนในสังคมอยากรู้ว่า รัฐบาลจะนำเสนออะไรเป็นแนวทางในการแก้ปัญหากำแพงภาษีของทรัมป์
ถ้าคำตอบของรัฐบาลในการสู้กับมาตรการภาษีคือ การเปิดสถานบันเทิงกาสิโนแล้ว ก็ตอบได้ว่า รัฐบาลกำลังสร้าง “วิกฤตศรัทธา” ให้กับตัวเองอย่างช่วยไม่ได้ เพราะขณะที่คนมีตำแหน่งในรัฐบาลไทยนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศด้วย “บ่อนกาสิโน” นั้น ผู้นำในประเทศเพื่อนบ้านกลับเสนอยุทธศาสตร์ และแนวทางที่พยายามสร้าง “อำนาจการต่อรอง” ให้ประเทศในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ข้อเสนอภาษีสินค้าสหรัฐนำเข้าเวียดนามที่ 0% หรือการออกมาสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในบ้านของผู้นำสิงคโปร์ เป็นต้น
แต่จนถึงวันนี้ เราแทบไม่ได้ยินมาตรการในการรับมือกับกำแพงภาษีของทรัมป์จากรัฐบาลไทยแต่อย่างใด… เราไม่เห็นภาพของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องเรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจ และทีมที่ปรึกษาในเรื่องนี้ (ถ้ายังมีสภาพจริง !) ในเรื่องบทความนี้เขียนในวันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน ยังไม่เห็นภาพเช่นนั้น) ทั้งที่ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์นั้น กำลังก่อวิกฤตกับเศรษฐกิจไทยอย่างที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหรือนักเศรษฐศาสตร์คนในมาอธิบาย
วิกฤตเศรษฐกิจโลกกำลังก่อตัว
ภาวะเช่นนี้กำลังเป็นคำตอบในตัวเองว่า วิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ในเวทีโลกกำลังก่อตัวขึ้น พร้อมกับภาวะของ “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐกับจีน จะมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย และตอบได้ง่ายว่า เศรษฐกิจโลก 2568 ไม่มีทางที่จะสดใสอย่างแน่นอน พร้อมกับเศรษฐกิจไทยที่ก็มีปัญหามาระยะหนึ่งแล้ว
ฉะนั้น ปัญหาความท้าทายเฉพาะหน้าที่สำคัญ 2 ประการคือ 1.อะไรคือ “แนวทาง” ที่รัฐบาลโดยตัวนายกรัฐมนตรีจะบอกให้คนในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมไทยเตรียมตัว และ 2.อะไรคือ “แนวคิด” เชิงนโยบายที่จะรับมือกับกำแพงภาษีของทรัมป์
การนำเสนอเช่นนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นถึง “การรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ” ของรัฐบาลต่อวิกฤตที่เกิดขึ้น… วันนี้ ผู้คนในสังคมไทยจึงใจจดใจจ่ออย่างยิ่งที่จะได้ยินสิ่งเหล่านี้จากปากของนายกรัฐมนตรีเองในฐานะผู้นำประเทศ ไม่ใช่ในแบบแถลงการณ์
แต่ถ้าคิดอะไรไม่ออก… นายกรัฐมนตรีควรจะใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมของอเมริกันโชว์ทรัมป์ และประกาศซื้อเครื่องบินรบแบบ F-16 ของสหรัฐเพื่อเอาใจทรัมป์ไปเลย แทนที่จะปล่อยตามใจทหารแถวดอนเมือง ที่คิดได้แค่ซื้อเครื่อง “กริปเพน” ของสวีเดน หรือทหารแถววังเดิม ที่อยากซื้อ “เรือรบจีน” ไม่หยุด
การซื้ออาวุธวันนี้ต้องช่วยในการแก้ปัญหาประเทศ ไม่ใช่การซื้อตามใจผู้มีอำนาจในกองทัพ เพียงเพราะการวิ่งเต้นของพ่อค้าอาวุธ
แต่ถ้าดีที่สุด รัฐบาลอาจจะต้องยุติการใช้งบประมาณที่ไม่ตอบโจทย์กับการแก้วิกฤตเศรษฐกิจในอนาคตไปทั้งหมด เพราะสถานะทางเศรษฐกิจของไทยกำลังอยู่ในภาวะที่ล่อแหลมเป็นอย่างยิ่ง