‘เนวินโมเดล’ 15 ปี แกรนด์โอเพนนิ่ง ภาษีรักบ้านเกิด ประชิด ‘กาสิโน’ 

ครั้งแรกในประวัติการเมือง ที่มีการเป่านกหวีดให้ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ มาขับเคลื่อนร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในห้องประชุมเดียวกัน ภายใต้ “เนวินโมเดล” จ.บุรีรัมย์

ภายใต้การขับเคลื่อนของ 2 ผู้นำอาณาจักรพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เนวิน ชิดชอบ และอนุทิน ชาญวีรกูล ฉลองวาระการเมืองหน้าใหม่ ก้าวขึ้น 16 ปี พรรคสีน้ำเงิน

16 ปีที่ผ่านการเมืองมาแล้ว 3 ขั้ว ทั้งรสชาติการเป็นฝ่ายค้าน ร่วมมือกับรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจหลังรัฐประหาร เป็นที่โปรดปรานของหัวขบวนฝ่ายอนุรักษนิยม

การขับเคลื่อนคู่ขนาน ของ 2 ผู้มีบารมี ในจังหวะก้าวเดียวกัน เนวิน ชิดชอบ ผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรค กุมอำนาจและคอนเนกชั่นทุกวงอำนาจการเมือง-วงในที่กุมหัวใจยักษ์ใหญ่ธุรกิจของเมืองไทย กับ อนุทิน ชาญวีรกูล ที่คลุกวงในตั้งแต่ตึกไทยคู่ฟ้า ถึงห้องรับแขกบ้านจันทร์ส่องหล้า อาณาจักรทักษิณ ชินวัตร

ยิ่งตอกย้ำความเป็นผู้มากบารมีการเมือง 28 เมษายน 2568 เปิดสนามแข่งรถและสนามฟุตบอล ช้างฯ ที่บุรีรัมย์ จัดให้ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เคลียร์คิวช่วงเช้าบินไปพบ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ รวมตัวกันเพื่อร่วมงานแชร์ไอเดียแนวทางบริหารท้องถิ่น ก่อนที่ ครูใหญ่เนวิน จะพานายกฯ เดินทัวร์สนามช้างฯ

เนวินโชว์พลังการเมืองท้องถิ่น ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

สำหรับงานดังกล่าวชื่อทางการเป็นประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการบริหารราชการระหว่างภูมิภาคและท้องถิ่นฯ ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ภายใต้การกำกับดูแลของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

ADVERTISMENT

ไฮไลน์นอกจาก นายกฯแพทองธาร บินเปิดงานยังอยู่ที่ เนวิน ประธานสโมสรบุรีรัมย์ฯ ขึ้นเวทีบรรยายพิเศษต่อหน้า ผู้ว่าฯ นายก อบจ. ทั้งในและนอกเครือข่ายค่ายการเมืองสีน้ำเงิน

ยกตัวอย่าง ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา ภรรยา กำนันป้อ-วีรศักดิ์ แม่รัฐมนตรี สุดาวรรณ รมว.วัฒนธรรม พรรคเพื่อไทย, พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี อดีตน้องรักทักษิณ ชินวัตร, พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์, นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา

ADVERTISMENT

วิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ, อุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร, อัครเดช ทองใจสด นายก อบจ.เพชรบูรณ์, วิเชียร สมวงศ์ นายก อบจ.ยโสธร, ศราวุธ เพชรพนมพร นายก อบจ.อุดรธานี, ศรัณยา สุวรรณพรหม นายก อบจ.หนองบัวลำภู และที่ขาดไม่ได้เจ้าถิ่น ภูษิต เล็กอุดากร นายก อบจ.บุรีรัมย์ หลานชายเนวิน เป็นต้น

ผู้บริหารในพื้นที่ เผยว่า การรวมผู้ว่าฯ นายกฯ อบจ.นี้ถือเป็นครั้งแรงของบุรีรัมย์ แต่ที่ผ่านมาเกิดขึ้นสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ยุค มท.1 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งการจัดงานนี้ใช้ระยะเวลาเตรียมตัวไม่นาน แต่ด้วยศักยภาพจังหวัดที่เคยจัดงานใหญ่มากนักต่อนัก จึงพร้อมมากสำหรับการจัดงานครั้งนี้

เปิดหัวใจ 15 ปี “บุรีรัมย์โมเดล” 

ไฮไลท์วันที่ 2 เนวิน ขึ้นเวทีร่ายยาวกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง พูดในหัวข้อแนวทางพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์ยุคใหม่ฯภายใต้ความร่วมมือผู้ว่าฯ และ อบจ.

ครูใหญ่ภูมิใจไทย เริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับ ผู้ว่าฯ นายก อบจ.เกือบทั่วประเทศ ด้วยการหยอดคำหวาน “ทุกท่านคือลมหายใจของบุรีรัมย์เต็มกำลัง การได้เจอทุกคนถือว่ามีความหวัง และมุ่งหวังว่าสิ่งที่จะนำเสนอจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของแต่ละท้องถิ่นในประเทศไทย”

ก่อนเริ่มอธิบายว่า ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีการสร้าง “บุรีรัมย์โมเดล” ตนร่วมกับประชาชน ภาคราชการ ทำให้บุรีรัมย์จากเมืองผ่าน กลายเป็นเมืองพัก เพราะอดีตเป็นเมืองยากจนประชาชนรายได้ต่อหัวต่ำ จนถูกเปรียบเทียบกับจังหวัดใกล้เคียง “บุรีรัมย์เป็นเมืองตำน้ำกิน สุรินทร์เมืองกินน้ำตำ” เป็นประโยคที่อธิบายถึงชาวบุรีรัมย์สมัยก่อนได้ชัดเจน

แต่วันนี้สิ่งที่ทำให้บุรีรัมย์มีชีวิตดีกว่าเดิม มาจาก 2 เหตุผล 1.) พระมหากรุณาของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาดูแลความทุกข์สุขของประชาชน ที่อําเภอกระสัง ในอดีต รวมถึงจุดกำเนิดของชาวบุรีรัมย์ เริ่มต้นที่ราชวงศ์จักรี สมัยในหลวงรัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงเป็นผู้ซึ่งตั้งเมืองครั้งเป็น พระยามหากษัตริย์ศึก

ฉะนั้นเราจึงเปรียบเป็นลูกหลานขอพระองค์ และทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบุรีรัมย์ทำ ทำด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ ที่มุ่งหวังเห็นประชาชนมีความสุขและชีวิตที่สมบูรณ์

2.) สิ่งที่เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ทำให้บุรีรัมย์เปลี่ยนแปลงและเป็นกลไกสำคัญคือ “อำนาจของประชาชน” ที่เปลี่ยนจากเมืองตำน้ำกิน มาเป็นเมืองที่คนทั่วสารทิศเดินทางมาศึกษาดูงาน

จากนั้น เนวิน พูดยิงตรงไปถึง นายก อบจ. ว่าทุกคนมาจากอำนาจประชาชน ส่วน ผู้ว่าฯ มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขเพื่อให้ประชาชนมีความสุข ประเทศไทยมี 77 จังหวัด มีนายก อบจ. 76 จังหวัด แต่เมืองที่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้นมีน้อย เพราะบางเมืองแทบไม่เติบโตหรือแย่ลง เกิดจากความไม่ต่อเนื่องของฝ่ายบริหารรัฐ  และผู้มีอำนาจ นี่จึงเป็นแรงใจที่ทำให้ต่อสู้มา 15 ปี

อดีตบุรีรัมย์ที่ไม่เติบโต ไม่พัฒนาเพราะสะดุดขาดความต่อเนื่องจากคำว่า “นโยบาย” พร้อมยกตัวอย่างว่า กว่า 80% ของผู้ว่าฯ ทั่วประเทศไม่ใช่คนพื้นที่ แต่มาโดยวาระราชการ ทำให้การดำเนินนโยบายเมื่อพ้นวาระ ก็ทิ้งโครงการต่างๆไว้

ฉะนั้นสาเหตุ 15 ปี ที่บุรีรัมย์เปลี่ยนแปลงได้ เพราะอำนาจประชาชนแข็งแรง มีจุดยืนและอำนาจมากกว่าฝ่ายบริหาร นี่จึงเป็นหัวใจสำคัญ ฉะนั้นการจะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองต้องยึดประชาชนเป็นสำคัญ และทุกฝ่ายต้องเสียสละเพื่อประชาชน

“15 ปี คนบุรีรัมย์เรายืนบนพื้นฐานว่า เราจะเปลี่ยนบ้านเปลี่ยนเมือง แต่ไม่เปลี่ยนแนวทาง ไม่ว่าใครจะไปจะมา หรือใครสั่งอะไร เราจะไม่ทำ เราจะดำรงความมุ่งหมายใช้ทรัพยากรทุกอย่างของคนบุรีรัมย์ เพื่อพัฒนาจังหวัดให้ต่อเนื่อง ยั่งยืน มั่นคง และเป็นของชาวบุรีรัมย์อย่างแท้จริง”

เนวิน ย้ำว่าสิ่งที่จะพัฒนาจังหวัดได้จริงๆ คืออำนาจประชาชน ที่ต้องร่วมแรงร่วมใจในการสร้างบ้านสร้างเมือง ก่อนย้ำให้ นายก อบจ. มั่นคงแน่วแน่ต่อคำสัญญาประชาชน

“ไม่มีใครหวังดีกับบ้านเมืองเรา มากกว่าคนที่เกิดที่นั่น และตายที่นั่น” เพราะคำสำคัญที่สุดคือบ้านเกิดเมืองนอน

ชงขยายอำนาจ อบจ.คุมจังหวัดแบบ ยาว ๆ

เนวิน กล่าวกับ นายก อบจ. ว่าความสำเร็จของบุรีรัมย์ ตนในฐานะที่เคยทำการเมือง มีโอกาสใกล้ชิดได้เห็นโครงสร้างวิธีคิดฝ่ายการเมือง ส่วนราชการ วิธีการกระจายอำนาจทางปกครองของคนที่หวงอำนาจของส่วนกลาง ได้เห็นวิธีการกระจายอำนาจทางการคลังของคนที่ไม่อยากกระจายอำนาจแบบส่วนกลาง นี่จึงจะเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ นายก อบจ. ต้องต่อสู้บนความร่วมมือ ผู้ว่าฯ

วันนี้มีคำถามว่า องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอำนาจบริหารและแก้ปัญหาแท้จริงหรือไม่ หรือเป็นได้แค่แคชเชียร์ เพราะงบประมาณต่างๆ จากส่วนกลางที่ส่งมาเป็นการแค่ผ่านให้ประชาชน ดังนั้น อปท. ตัดสินใจเองกี่เปอร์เซ็นต์ และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในประเทศได้อย่างไร เพราะทุกเรื่องต้องรอของบประมาณจากส่วนกลางทั้งสิ้น

เนวิน มองว่าความยั่งยืนที่จะสร้างให้บ้านเกิดเมืองนอนมีความเจริญ เปลี่ยนแปลงได้ สิ่งเดียวที่ต้องให้และต้องทำ คือให้อำนาจประชาชน อาทิ การเลือกผู้นำท้องถิ่น ที่กำหนดให้ดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระ เพราะส่วนกลางกลัวว่ามีอำนาจมากและแข็งแรงเกิดไป สำหรับตนขอถามว่าใช่หรือ เพราะคนที่ออกกฎหมายไม่ทราบบริบทท้องถิ่นเท่ากับประชาชนพื้นที่

ครูใหญ่การเมืองสีน้ำเงิน ระบุว่าเรื่องนี้ตนถ่ายทอดให้ลูกหลานในพรรคภูมิใจไทย ต้องอย่าลืมว่าคำว่าอำนาจของประชาชนคืออะไร ให้เค้าตัดสินใจชีวิตเอง ฉะนั้นต้องให้อำนาจประชาชนในการตัดสิน ว่าอยากให้ใครเป็นผู้บริหารท้องถิ่นเขา แต่วันนี้มันย้อนแย้งเพราะส่วนกลางพยามเตะสกัด

ชงกฎหมายจ่ายภาษีให้บ้านเกิด-ประชิด พ.ร.บ.กาสิโน

อีกหลักการพัฒนาเมืองบุรีรัมย์ ตลอด 15 ปี เนวิน เผยว่าการที่บุรีรัมย์เติบโตแข็งแรงได้ด้วยคาถาข้อเดียวที่เราเชื่อ “ทรัพยากรมีจำกัด แต่ความคิดสร้างสรรค์ไม่มีจำกัด” คำตอบและการพิสูจน์คือ คนรวยที่สุดในโลก มักมาจากความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่มีจำกัด เช่น สตีฟจ็อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Apple, แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบา คนเหล่านี้เริ่มโดยไม่มีฐานะร่ำรวย แต่ร่ำรวยสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์

ก่อนกล่าวแซวและยกตัวอย่างจังหวัดนครราชสีมา ของ ยลดา หวังศุภกิจโกศล ที่นั่งฟังการบรรยายอยู่ ว่าเมื่อไหร่ อบจ.โคราช ไม่มีทรัพยากรที่จะไปดูแลเขาใหญ่ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเพียงพอ โคราช จะคล้ายกับเมืองท่องเที่ยว เชียงราย เชียงใหม่ ในปัจจุบัน ที่มีแต่คนมาใช้ แต่ไม่มีผู้รักษา เพราะเพียงแค่งบ อบจ. คงไม่พอที่จะไปดูแลทรัพยากรเขาใหญ่

สุดท้ายเมื่อมีแต่คนบุกจนทำให้ป่าไม้หาย อนาคตเขาใหญ่จะไม่ต่างจากดอยสุเทพ พื้นที่ของ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายก อบจ.เชียงใหม่ สุดท้ายนักลงทุน นักท่องเที่ยว และที่สำคัญคนในพื้นที่จะไม่อยากอยู่

ฉะนั้น การวางทิศทางเมืองเพื่อให้อยู่ได้ ต้องจัดสรรงบประมาณต่างๆ ดูแลพื้นที่แต่ละท้องถิ่นให้อุดมสมบูรณ์ ควบคู่กับการสร้าง Man-made Destination หรือจุดหมายปลายทางที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ เรื่องนี้ตนบอกลูกหลานในพรรคภูมิใจไทย ว่ามันถึงเวลาที่ต้องกล้าพอในการเสนอกฎหมาย ให้อำนาจประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี สามารถเลือกว่าจะส่งเงินที่เสียภาษีไปท้องถิ่นใด เพื่อพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน

นี่เป็นวิธีเดียว ที่ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งและการแก้ปัญหาจากนโยบายที่ถูกกำหนดและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ช่วงแรกอาจเริ่มที่การเสียภาษี ภ.ง.ด.9 ฯ (90 – 91 – 94 ภาษีบุคคลธรรมดา) หากเปิดโอกาสให้ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจเรื่องเงินที่เสียภาษี ก็จะส่งผลดีต่อท้องถิ่น

“ผมถามว่าทำไมสามารถบริจาคเงินเข้าพรรคการเมืองได้ แต่ไม่สามารถส่งเงินกลับท้องถิ่นได้ เรื่องเหล่านี้ต้องต่อสู้ร่วมกัน นายก อบจ. ต้องกลับไปล็อบบี้ สส. ไม่เช่นนั้นก็ให้ สส.ไปเอาคะแนนเสียงที่กรุงเทพ เพราะทุกวันนี้เงินภาษีทั้งหมดกองอยู่ที่ส่วนกลางจุดเดียว”

ฉะนั้นเมื่อ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขียนว่ารัฐพึงอุดหนุนงบ 35% ให้ท้องถิ่น จึงเสนอกับลูกหลานผู้ใหญ่ไทย ให้เสนอว่างบ 35% นี้ ผู้เสียภาษีควรเลือกกลับสู่ท้องถิ่นได้ นี่ถือเป็นหลักคิดการสร้างความยั่งยืนกลับสู่ท้องถิ่น

เนวิน เปิดเผยว่า วันนี้ ไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นำทีมพรรคภูมิใจไทยเสนอกฎหมายแล้ว ก่อนพูดติดตลกว่า แต่อะไรคงไม่เร่งด่วนเท่าเอ็นเตอร์เทนคอมเพล็กซ์

ก่อนย้ำกับ นายก อบจ. ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่มีผู้คัดค้าน เพราะเป็นการให้อำนาจประชาชนโดยตรง

จุดแข็งบุรีรัมย์-เทียบภูเก็ตเมืองระดับโลก

เนวิน ประเมินถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่รวดเร็ว จะทำให้ผู้คนในอนาคตและปัจจุบัน แตกต่างจากอดีตมาก ขอทำนายว่าถ้า นายก อบจ. และ ผู้ว่าฯ ไม่รีบปรับตัวอาจมีปัญหา เพราะประเทศไทยแม้มี 77 จังหวัด แต่จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจะเหลือไม่ถึง 10 จังหวัด หากไม่ทำอะไรเมื่อวันนั้นมาถึง จังหวัดท่านจะกลายเป็นเมืองผ่าน เหมือนบุรีรัมย์ 15 ปีก่อน “อนาคตถ้าใครหรือจังหวัดใด ไม่สร้างแม็กเน็ตให้กับจังหวัดตัวเอง  ก็จะกลายเป็นเมืองผ่าน”

ฉะนั้นวันนี้ต้องคิดว่าจะสร้างแม็กเน็ตให้จังหวัดอย่างไร เพื่อให้คนมาเที่ยว มาพัก มาใช้เงิน ไม่เช่นนั้นก็อยู่ไม่ได้ นี่เป็นเหตุผลที่บุรีรัมย์สู้มาเมื่อ 15 ปีก่อน ด้วยการสร้างทุกอย่างเพื่อเป็นแม็กเน็ต

“เรารู้ว่าความจน การที่เป็นเมืองผ่านในอดีต ที่เราต้องตำน้ำกิน เพราะไม่มีแม็กเน็ตในการสร้างให้ตัวเองเป็นจุดหมายปลายทาง”

เนวิน ยกตัวอย่างอีกว่า ภูเก็ต ถูกขนานนามเป็นไข่มุกอันดามัน แต่มีปัญหาเรื่องการอยู่ร่วมกันของคนพื้นที่มากที่สุด แต่ไม่ใช่เรื่องคนภูเก็ตแตกความสามัคคี แต่เป็นเรื่องนักลงทุนที่เข้าไป กับคนภูเก็ตที่ไม่ได้ประโยชน์ เห็นได้จากช่วงโควิด เจ้าของธุรกิจเรียกร้องต้องการเป็นแซนด์บ็อกซ์ให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนเข้ามากักตัว

แต่คนชุมชนภูเก็ตไม่เอาเพราะเขาก็กลัวตาย เพราะกำไรรายได้แหล่งท่องเที่ยวส่วนในภูเก็ตเจ้าของอยู่กรุงเทพ ซึ่งถือเป็นการที่ทุกคนไปแสวงหาผลประโยชน์และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ แต่กลับให้ชาวบ้านแบกรับภาระต่างๆ

“ผมสร้างเมืองบุรีรัมย์ ผมทำทุกอย่างกับบุรีรัมย์ แต่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของประชาชน เราพิสูจน์ให้คนเห็นว่า นี่คือโมเดลที่แตกต่างระหว่างภูเก็ตกับบุรีรัมย์”

เนวิน บอกอย่างภาคภูมิใจ ว่าสร้างบุรีรัมย์โมเดลร่วมกับ ผู้ว่าฯ ข้าราชการ ประชาชนในพื้นที่มากกว่า 15 ปี แรกๆไม่มีโรงแรมสองดาวเลย ที่ดินรอบสนามช้างราคาไร่ละไม่ถึงล้าน แต่พอสร้างสนามแข่งรถและสนามฟุตบอลเสร็จ ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา มีโรงแรมใหม่ๆที่ดีขึ้น ที่ดินรอบสนามช่างวันนี้เริ่มต้นไร่ละ 5 ล้าน ทำให้เศรษฐกิจบุรีรัมย์กระจายตัวและดีขึ้น

การสร้าง Man Made Destination มีคาถา 3 ข้อ คือ 1.แปลก เพราะถ้าไม่มีความน่าสนใจคนก็จะไม่มา 2.ความอลังการ เช่นการจัดงานผ้า ที่บุรีรัมย์ ใช้ดอกสะแบง กว่า 10 ล้านดอกมาประดับในงาน และหัวใจสำคัญ 3.การแชร์ เพราะทุกวันนี้โลกโซเชียลไปเร็ว จึงต้องทำให้นักท่องเที่ยวเกิดการบอกต่อ เพื่อให้คนทั่วโลกเห็นของดีในจังหวัด แต่ทุกอย่างต้องดำเนินการโดยมีมาตรฐานระดับอินเตอร์

“ฉะนั้นถึงเวลาที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องจับมือกัน เพื่อกำหนดข้อจำกัดและกติกา เพื่อดูแลพื้นที่รวมถึงการใช้ภาษีในการพัฒนาจังหวัดให้ถูกที่ถูกทาง”

ปลุกพลังผู้ว่าฯ ซัพพอร์ต อบจ.ที่ชาวบ้านเลือก  

เนวิน ทิ้งท้ายว่าสิ่งที่อยากฝาก ผู้ว่าฯ งบพัฒนาจังหวัดควรเอาไว้พัฒนาจังหวัด ไม่ใช่มรดกเจ้าคุณปู่ เพราะ นายก อบจ. เขาเกิดโตและต้องตายในพื้นที่ ฉะนั้นควรเอางบพัฒนาจังหวัดมาช่วยกันต่อยอดสร้างแม็กเน็ต สร้างเมือง สร้างความยั่งยืนให้ชุมชน ประชาชนที่ท่านไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นี่คือสิ่งที่ผมอยากขอ

“สิ่งที่สำคัญ ท่านต้องใช้งบร่วมกับท้องถิ่น เพื่อสร้างแม็กเน็ตโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ในท้องถิ่น เพื่อทำให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน ส่วนถนน แหล่งน้ำควรขอกับหน่วยงานปกติ ถ้าไม่สามารถสร้างหมุนเวียนภายในเมือง ก็จะกลายเป็นจังหวัดทางผ่าน แล้วมันจะเงียบและตาย”

เนวิน เผยความรู้สึกต่อผู้นำท้องถิ่นว่า เราควรมาช่วยกันสร้างสิ่งที่ยั่งยืน เป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะบุรีรัมย์เลือกที่จะใช้งบเหล่านี้ มาสร้างรายได้ให้ประชาชน และคิดหาวิธีทำให้คนเข้าถึงมากที่สุด

“ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดครับ ขอความกรุณาเถอะนะครับ การทำงานร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่น เอาเขา(ผู้บริหารท้องถิ่น)เป็นหลัก อย่าเอาท่าน(ผู้ว่าฯ)เป็นหลัก เพราะท่านมาแล้วก็ไป ฉะนั้นฟังผู้บริหารท้องถิ่นมากๆเถอะครับ ซัพพอร์ตเขามากๆ เพราะเค้ามีภาระที่ต้องรับผิดชอบต่อความศรัทธาของประชาชนที่เลือกพวกเขามา”

ก่อนทิ้งท้ายให้กำลังใจเหล่า นายก อบจ. ว่าทุกคนมีพลังในตัวเอง ฉะนั้นถ้าอยากเห็นอำนาจประชาชนเกิดขึ้น ท้องถิ่นเกิดความเจริญอย่างยั่งยืน ไปบังคับ สส.ของท่านให้ทำเรื่องภาษีบ้านเกิดเมืองนอน ทำเรื่องอำนาจประชาชนที่มาจากประชาชนโดยท้องถิ่น ในการทำให้ท้องถิ่นแข็งแรงและอยู่ได้อย่างยังยืน