ครม. เห็นชอบลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนที่อยู่อาศัย หวังกระตุ้นอสังหาฯ ดัน GDP

ครม.เห็นชอบมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย คาดมาตรการนี้ช่วยให้เกิดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ 4.4 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.06 ต่อปี

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้ 1.ให้ความเห็นชอบมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย และร่างประกาศ รวม 2 ฉบับ ดังนี้

1.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

1.2 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีห้องชุด ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

2.มอบหมายให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดสรรงบประมาณ เพื่อชดเชยรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามความเหมาะสม เพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินภารกิจปกติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สาระสำคัญของเรื่อง มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย
ที่กระทรวงการคลัง เสนอ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ

ADVERTISMENT

รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีหลักการเช่นเดียวกับมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

สำหรับที่อยู่อาศัย ปี 2567 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (9 เมษายน 2567) ตามข้อ 2 ซึ่งสิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยรวม 2 ฉบับ ดังนี้

ADVERTISMENT

1.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ ที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท ต่อสัญญา (จากเดิมร้อยละ 2) เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน (จากเดิมร้อยละ 1) เหลือร้อยละ 0.01

สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และบ้านแถวหรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าวโดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน

1.2 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีห้องชุดตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยลดค่าจดค่าจดทะเบียนการโอนห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุดที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา (จากเดิมร้อยละ 2) เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนจำนองห้องชุดอันเนื่องมาจากการจดทะเบียนการโอนในคราวเดียวกัน (จากเดิมร้อยละ 1) เหลือร้อยละ 0.01 โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน

ทั้งนี้ สำหรับผู้ซื้อซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทยที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและผู้ขาย
ที่ต้องการขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ และห้องชุดในราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2569

2.กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว

โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าว จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้จากค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จำนวนไม่เกิน 20,014.65 ล้านบาท (1,334.31 ล้านบาทต่อเดือน) แต่จะช่วยสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชน รักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มูลค่าประมาณ 537,303.88 ล้านบาทต่อปี (44,775.32 ล้านบาทต่อเดือน)

ซึ่งจะช่วยเพิ่มการบริโภคภายในประเทศได้ประมาณ 88,690.22 ล้านบาทต่อปี (7,390.85 ล้านบาทต่อเดือน) และเพิ่มการลงทุนได้ประมาณ 303,434.15 ล้านบาทต่อปี (25,286.18 ล้านบาทต่อเดือน) และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.06 ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ