นายกฯอิ๊งค์สั่งจัดทัพ ‘พันศักดิ์-พิชัย’ ลุยศึกภาษี

นายกฯอิ๊งค์สั่งจัดทัพ

ชะเง้อกันมาพักใหญ่ว่า “นายกฯอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร” จะจัดทัพสู้ศึก “ภาษีตอบโต้” ของ “ลุงทรัมป์” กันแบบไหน

เพราะเป็นศึกใหญ่ เมื่อมะกันเล่นแรง ขึ้นภาษีสินค้าจากประเทศไทยไปที่ 36% อันดับต้น ๆ ของอาเซียนเลยทีเดียว

ชาติอื่น ๆ ในอาเซียนไม่แพ้กันเท่าไหร่ เวียดนามหนักหน่อยโดนเข้าไป 46%

เวียดนามพยายามเปิดการเจรจาล่วงหน้า ผู้นำเวียดนาม โทร.ไปคุยกับ ปธน.ทรัมป์ ซึ่งออกมาให้สัมภาษณ์ว่าได้พูดคุยอย่างมีผลดีกับเวียดนาม

มีข่าวตามออกมาว่าเวียดนามพร้อมจะลดภาษีนำเข้าให้สหรัฐเหลือ 0% เลยทีเดียว

ทีมติดตามปัญหาภาษีทรัมป์ของไทยเป็นไปตามที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อวันที่ 5 เม.ย.

ADVERTISMENT

ออกแนวบลัฟ ๆ ว่า ฝ่ายค้าน “ตกข่าว” ที่ออกมาเรียกร้องให้นายกฯ ตั้งคณะทำงานพิเศษ

ความจริง “นายกฯอิ๊งค์” สั่งติดตามปัญหานี้ตั้งแต่ปลายปี 2567 มอนิเตอร์สถานการณ์มา 4 เดือน และเซ็นตั้งคณะทำงานตั้งแต่ 6 ม.ค. 68

ADVERTISMENT

ประกอบด้วย 1.นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี, 2.นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี, 3.นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์, 4.นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, 5.นายฉันทานน์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 6.น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 7.น.ส.ใจไทย อุปการนิติเกษตร รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้, 8.นางขวัญนภา ผิวนิล นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ, และ 9.นายโอม บัวเขียว คณะทำงานประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี

ส่วนมากมาจากภาคราชการ นายพันศักดิ์มาจากฝ่ายการเมือง, นายศุภวุฒิมาจากภาคเอกชน ส่วนนายโอม บัวเขียว มาจากภาคธุรกิจ

อาจารย์พันศักดิ์เป็นมือเศรษฐกิจการเมืองที่คร่ำหวอด จากหัวโต๊ะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2531-2534

บทบาทเด่นเวลานั้นคือ การแก้ปัญหาเขมร 3 ฝ่ายจนยุติ เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า

จากนั้นเป็นประธานที่ปรึกษานโยบายนายกฯทักษิณ ชินวัตร 2544-2549 แล้วเป็นที่ปรึกษานายกฯสมัคร สุนทรเวช ปี 2550-2551

ปี 2566 นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ตั้งเป็นที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

พันศักดิ์ปีนี้อายุ 81 ปีแล้ว อยู่ในวงในของการเมืองและนโยบายรัฐบาลมายาวนาน กลับมาคุมเกมใหญ่เดิมพันสูงอีกครั้ง

ต่อมา 6 เม.ย. “นายกฯอิ๊งค์” ออกแถลงการณ์ ระบุว่าจะส่ง “ขุนคลังพิชัย” บินไปหารือกับหลายภาคส่วนในสหรัฐ ทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ที่มีส่วนได้เสีย

โดยจะสื่อสารกับสหรัฐว่า ไทยไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกเท่านั้น แต่คือพันธมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สหรัฐเชื่อถือได้ในระยะยาว

และจะเจรจาสร้างความร่วมมือ เพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐ ส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐ ลดอุปสรรคการนำเข้า ฯลฯ

เพื่อให้ไทยและสหรัฐยังคงเป็นพันธมิตรและคู่ค้าที่เป็นมิตรต่อกัน ฯลฯ

แถลงการณ์นี้อ้างอิงถึงความเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ระหว่าง 2 ชาติ

อเมริกามีส่วนช่วยประเทศไทยมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในการต่อรองกับประเทศชนะสงครามอย่างอังกฤษ

นายกฯ คนแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ “ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” อดีตทูตไทยประจำสหรัฐและหัวหน้าเสรีไทย สายอเมริกา

ทำให้ไทยกับสหรัฐแนบแน่นกันมากขึ้นตั้งแต่นั้น โดยเฉพาะในการต่อต้านปฏิปักษ์ของสหรัฐ คือจีนและรัสเซีย

ทหารไทยไปรบในสงครามเกาหลี ในเวียดนาม กัมพูชา และลาว

จากปี 2504 ถึง 2519 สหรัฐมาตั้งฐานทัพในไทย 8 แห่ง กระทั่งสงครามเวียดนามยุติด้วยการที่สหรัฐถอนตัวออกไป

จากนั้นความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐก็ปรับตัวไปตามสถานการณ์

ระยะหลังสหรัฐมีท่าทีไม่ยอมรับการรัฐประหารในไทย โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ทำให้ไทยโน้มเอียงไปทางจีนมากขึ้น

แต่ในเรื่องการค้า สหรัฐเป็นตลาดที่ไทยต้องพึ่งพา

ประธานาธิบดีทรัมป์เข้ามารอบนี้เป็นสมัยที่ 2 พร้อมกับนโยบายอเมริกาเฟิรสต์ ทำให้ทุกอย่างต้องไปขึ้นกับแนวทางนี้

ก็เลยเป็นงานยากของรัฐบาล ทีมอาจารย์พันศักดิ์ และรองฯพิชัย

อังคารที่ 8 เม.ย.นี้ นายกฯ ได้เรียกประชุม กก.ชุดอาจารย์พันศักดิ์และผู้เกี่ยวข้อง ก่อนที่รองพิชัยจะบินไปสหรัฐ

รอลุ้นกันต่อไปว่าผลจะออกมาอย่างไร

เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป