16 ปี ภูมิใจไทย ในเกมอำนาจ รุก ‘นิติบัญญัติ-ท้องถิ่น-องค์กรอิสระ’

พรรคภูมิใจไทย
คอลัมน์ : Politics policy people forum

นาทีนี้ ในทางการเมืองอาจกล่าวได้ว่า “พรรคภูมิใจไทย” แข็งแกร่งที่สุด

อาจแข็งแกร่งยิ่งกว่าพรรคเพื่อไทย ทั้งที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ล่าสุดวันครบรอบสถาปนาพรรคภูมิใจไทยครบ 16 ปี เมื่อ 6 เมษายนที่ผ่านมา มีการรีแบรนดิ้ง-เปลี่ยนโลโก้ใหม่ จากเดิมที่มี “รูปแผนที่ประเทศไทย” เป็นสีแดง ใช้มาตั้งแต่ปี 2552 มาเป็น “สีน้ำเงิน” ทั้งหมด ตอกย้ำพรรคสีน้ำเงิน

“อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กล่าวตอนหนึ่งระหว่างพิธีเปลี่ยนโลโก้หน้าที่ทำการพรรคว่า

“จากนี้ไปเมื่อกล่าวถึงพรรคสีน้ำเงิน ให้เป็นที่รับรู้ว่าคือพรรคภูมิใจไทย”

“ความเป็นพรรคสีน้ำเงินของพรรคภูมิใจไทย จะเป็นสถาบันทางการเมืองที่เป็นหลักให้กับการเมืองไทยก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง เข้มแข็ง ด้วยความสงบ สันติ สามัคคี”

ADVERTISMENT

“สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ประเทศไทย และธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขตลอดไป”

เส้นทางภูมิใจไทย

16 ปีก่อนหน้า พรรคภูมิใจไทยถูกสถาปนาขึ้นโดยกลุ่มเพื่อนเนวิน ของ “เนวิน ชิดชอบ” นำ สส. 30 กว่าชีวิต แปรพักตร์ แยกตัวจากพรรคพลังประชาชน ย้ายสลับขั้วไปหนุนพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พร้อมชู อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการสิ้นสุดของพรรคพลังประชาชน จากเหตุยุบพรรค

ADVERTISMENT

พร้อมกับจับมือกับกลุ่มมัชฌิมาธิปไตยของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ก่อตั้งเป็นพรรคภูมิใจไทย

พรรคสีน้ำเงินเป็นมาแล้วทุกสถานะ ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายค้าน

ช่วงเลือกตั้ง 2562 พรรคภูมิใจไทยเข้าป้ายมาเป็นอันดับ 3 มีเพียง 51 เสียงในสภา ร่วมรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่หลังจากนั้นได้ปฏิบัติการ ดึง สส.เข้าสังกัด จนทำให้มี สส.ในมือเกิน 100 คน เพื่อรับศึกการเลือกตั้ง 2566 บนสมมติฐานว่า ในการเลือกตั้งในจำนวน สส. 100 คน จะได้รับเลือกตั้งกลับเข้าสภาได้ 70 คน

และถ้าพรรคจะได้ร่วมเป็นรัฐบาล มีเก้าอี้รัฐมนตรีแน่ ๆ ต้องมีเสียง สส. 30 กว่าเสียง แต่ถ้าจะได้เป็นรัฐบาลและมีอำนาจต่อรองในการเลือกกระทรวงสำคัญๆ จะต้องได้ 70 กว่าเสียงขึ้นไป แต่ไม่ควรได้ สส.เยอะเกินไปจนกระทั่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

นาทีนี้พรรคภูมิใจไทยมี สส.ตามเป้า 70 คน ตามแผน ได้กำกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ถือดุลอำนาจ สส.-สว.

นอกจากเวลานี้พรรคภูมิใจไทยจะมี สส.70 คน เป็นพรรคอันดับสองในรัฐบาล และอันดับสามบนกระดานอำนาจการเมือง

แต่เมื่อรวมกับ สว.สายสีน้ำเงิน ซึ่งว่ากันว่าเป็น “เครือข่าย” ของพรรคภูมิใจไทย ที่มีอยู่ 137-140 เสียง จะทำให้พรรคภูมิใจไทยและเครือข่ายมีจำนวนมือ ถึง 210-220 เสียงเป็นอย่างน้อย เป็นดุลอำนาจที่ใหญ่ที่สุด

ตัวอย่างเกมคัดง้างอำนาจที่เคยทำให้เห็นมาแล้ว กรณีร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ลดเกณฑ์ตัดสินประชามติจากเสียงข้างมาก 2 ชั้น เหลือเสียงข้างมากชั้นเดียว เพื่อกรุยทางสู่การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ แม้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นด้วย

แต่เมื่อถึงชั้น สว.กลับไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ฝ่าย สส.อนุมัติ พร้อมปรับแก้ให้เป็นเสียงข้างมาก 2 ชั้นตามเดิม ก่อนที่จะหาข้อสรุปด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม แต่ฝ่าย สส.ก็ยังโหวตแพ้ในชั้นกรรมาธิการ ท้ายที่สุดต้องแขวนร่างกฎหมายประชามติไว้ 180 วัน เพื่อที่ให้สภาผู้แทนราษฎรยืนยันร่างกฎหมายฉบับที่ผ่านสภา คือเสียงข้างมากชั้นเดียว ส่งผลกระทบต่อไทม์ไลน์การแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เสร็จไม่ทันการเลือกตั้งปี 2570

ดังนั้น กฎหมายเศรษฐกิจ-การเมืองสำคัญของรัฐบาลที่เร่งผลักดัน แต่มีแรงต้านทั่วทุกทิศ อย่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ย่อมต้องผ่าน สว. การต่อรอง-การออกกฎหมายจึงจะยิ่งเข้มข้น

คุมกลไกรัฐ-องค์กรอิสระ

ที่สำคัญอำนาจของ สว. นอกจากกลั่นกรองกฎหมาย ยังต้องให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการองค์กรอิสระ ประกอบด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

และเห็นชอบองค์กรอื่นตามกฎหมายที่ต้องใช้อำนาจ สว.เห็นชอบ คืออัยการสูงสุด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) ประธานศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

ดังนั้น จะเริ่มเห็นว่าการสรรหาองค์กรอิสระ อาทิ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นบุคคลที่เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดีในกระทรวงคมนาคม ยุคที่พรรคภูมิใจไทยมีอำนาจคุมกระทรวงอยู่สมัครเข้ารับการสรรหาด้วย

อีกด้านหนึ่ง การที่พรรคภูมิใจไทยคุมกระทรวงมหาดไทย เท่ากับคุมกลไกการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แบบยกแผง คุมงบฯ-เงินท้องถิ่น ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

จึงปรากฏฉากที่ “ครูใหญ่” เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์ยุคใหม่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์การบริหารส่วนจังหวัด” แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายก อบจ.ทั่วประเทศ

อีกขาหนึ่งที่สานต่อจากยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ช่วงที่พรรคภูมิใจไทยกำกับกระทรวงสาธารณสุข มีการใช้กลไก “อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน” หรือ อสม. ให้เป็นกลไกสำคัญในทางการเมือง ผนึกกำลังกับ นายก อบจ.ที่อยู่ในเครือข่ายพรรคภูมิใจไทย ประมาณ 20 กว่าจังหวัด แม้ อสม.จะอยู่ภายใต้การกำกับของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ต่าง ๆ แต่หน่วยงานที่จ่ายเงินเดือนให้กับ อสม. คือ อบจ.เท่ากับ นายก อบจ.คุม อสม.ในจังหวัดนั้นๆ

พรรคภูมิใจไทยจึงกระจายกำลังไว้ทุกจุดในจังหวัดที่เป็นยุทธศาสตร์ของพรรค

ผลักดันกฎหมายเรือธง

นอกจากนี้ พรรคภูมิใจไทย ยังมีการผลักดันกฎหมายสำคัญ ๆ อาทิ ร่างพระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน พ.ศ… โดยอัพเกรดสวัสดิการ อสม. 1 ล้านคน อาทิ ได้รับสวัสดิการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล เช่น ค่าห้องและค่าอาหารพิเศษ, ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนสนับสนุนการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาเท่าเทียม ฉบับที่ พ.ศ…. สาระสำคัญ อาทิ ให้ประชาชนจะต้องมีความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าประชาชนจะอาศัยในเขตเมืองหรือชนบท, กำหนดให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีการอื่นใดนอกสถานศึกษาได้

ล่าสุดพรรคภูมิใจไทยเตรียมชงร่างพระราชบัญญัติภาษีบ้านเกิดเมืองนอน ให้ประชาชนเป็นคนกำหนดภาษีรายได้ส่วนบุคคล ภาษีรายได้นิติบุคคล ซึ่ง 30% ของภาษีนิติบุคคลคือ 195,000 ล้านบาท นำไปกระจายสู่ท้องถิ่น ให้อำนาจผู้เสียภาษีสามารถกรอกได้ว่าอยากจะบริจาคไปพัฒนาท้องถิ่นใด ๆ จำนวนเท่าไหร่ในแต่ละปีได้ด้วยตัวเอง แต่กฎหมายฉบับนี้อาจถือเป็น “กฎหมายการเงิน” ซึ่งนายกฯ ต้องลงนาม รวมถึงแก้ไข พ.ร.บ.การพนัน ที่ยังอยู่ในการยกร่าง จึงยังต้อง “งัดข้อ-ต่อรอง” กับรัฐบาลอีกหลายตลบ

แต่วันนี้ พรรคภูมิใจไทย ครบรอบ 16 ปี จากพรรคงูเห่า สู่ พรรคที่มีอำนาจ Power Full