คอมเพล็กซ์ ถึงคดี ฮั้ว สว. 2 ปม ร้าวลึก เขย่าพรรคร่วมรัฐบาล

อิ๊งค์
คอลัมน์ : Politics policy people forum

ในที่สุด ปม เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ก็ถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อย ๆ 3 เดือน เมื่อรัฐบาลแพทองธาร มิอาจฝืนแรงต้าน-คัดค้านการมีอยู่ของ “กาสิโน” 10% ที่ตั้งอยู่ในเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

แม้กฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร ที่เป็น “ต้นขั้ว” ของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ จะเป็นกระบวนการแรก ที่เตรียมจะเข้าสู่ “รับหลักการ” ในสภา แต่หากรัฐบาลประเมินแรงต้านผิดอาจพังทั้งกระดาน ซ้ำรอยกรณี ออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย

และยังทำให้รอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่มขึ้นเท่าทวีคูณ

รอยร้าวกาสิโน

จับอาการของ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ก่อนการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 เมษายน เพื่อเลื่อนปมเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ออกไป

ระหว่างการ “จัดแถว” ของรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ยืนประกบเคียงข้างนายกฯ ได้หันไปคุยกับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและ รมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติว่า “คนละหมัด เหนื่อยแล้ว”

ก่อนนายกฯจะแถลงว่า หลังการประชุม ครม.ได้หารือกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ได้เล็งเห็นปัญหา วิกฤตต่าง ๆ ที่ประสบอยู่ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเยียวยากรณีแผ่นดินไหว ยังมีเรื่องภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น เรื่องอื่น ๆ คงจะรอได้ และเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและต้องรีบแก้ปัญหาก่อน ซึ่งได้คุยกับพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดแล้ว และเห็นตรงกัน ไม่มีเรื่องที่ไม่เห็นตรงกัน

ADVERTISMENT

เมื่อถึงไฮไลต์สำคัญ นายกฯตอบคำถาม กรณีกระแสข่าว “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ขู่พรรคร่วมรัฐบาล ถ้าไม่โหวตให้กฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ จะขับออกจากการเป็นรัฐบาลว่า “เนี่ยค่ะ พรรคร่วมอยู่ครบแล้วค่ะ สัมภาษณ์ได้เลย จริง ๆ แล้วเราไม่ได้พูดเรื่องนี้เลย เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ขับไม่ขับ ไม่ใช่”

“จริง ๆ แล้วตัวดิฉันในฐานะผู้นำรัฐบาล อยากให้พรรคร่วมเกิดความสบายใจและพร้อมเห็นด้วยด้วยความเต็มใจในการโหวต”

ADVERTISMENT

“นี่คือการนำแบบดิฉัน พรรคร่วมเห็นด้วยตรงกันเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่อยากให้ทำด้วยความรู้สึกว่าเห็นด้วย ตรงกัน พร้อมที่จะนำไปด้วยกัน 100% ทุกคนจะได้ทำงาน 100%”

ในคำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ สะท้อนว่า กฎหมายดังกล่าวยังมีพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค เกิดความไม่สบายใจ ประกอบกับ 1 วันก่อนหน้า มีการเดินเกมปล่อยข่าว ถึงการที่ “ทักษิณ” ขู่พรรคร่วมรัฐบาล ถ้าไม่โหวตจะขับออกจากรัฐบาล กลายเป็นการเร่งกระแส
ต่อต้านจนลุกลามกว่าเดิม

ด้าน “ทักษิณ” ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า “เป็นการพูดกันไปเรื่อย มีคุยกับน้อง ๆ ที่เจอกันว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเพียงการถามความคิดเห็น ไม่มีเรื่องข่มขู่ว่าใครไม่สนับสนุนแล้วต้องพ้นจากพรรคร่วมรัฐบาล แบบนั้นไม่มี”

ขณะที่ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” สส.พะเยา ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม อ้างในฐานะผู้อยู่ในเหตุการณ์ว่า “ต้องพูดเป็นกลางว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีความคิดมาจากท่านทักษิณ ขอยืนยันเพราะอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุด้วย แต่มาจากพรรคร่วมบางพรรคบอกว่า ถ้าเห็นด้วยก็ต้องเห็นด้วยกันทั้งหมด ถ้าไม่เห็นด้วยกันก็ควรที่จะขับออกจากพรรคร่วมรัฐบาล”

แต่อีกด้านหนึ่งในที่อาคารรัฐสภา ก่อนที่นายกฯจะแถลงเลื่อนกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ กลุ่ม สว.สีน้ำเงิน นับร้อยคน นำโดย “พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์” โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา แถลงคัดค้านกฎหมายฉบับนี้

“ควรจะหยุดไว้ก่อนที่ประเทศจะต้องสูญเสียสิ่งที่ไม่อาจประเมินค่าได้ในระยะยาว สุดท้ายหากสภาผู้แทนราษฎรโหวตรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ขั้นตอนต่อไป วุฒิสภาจะเข้าชื่อยื่นร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือศาลรัฐธรรมนูญ ในส่วนความผิดจริยธรรมต่อไป ยืนยันว่า สว.ที่คัดค้านตอนนี้ มีกว่า 90% มีเพียง 5-6 คนเท่านั้นที่ยังเห็นด้วย”

นอกจากนี้วุฒิสภา ยังเดินเกมตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 3 เดือน

เมื่อมวลชนนอกสภา “ขาประจำ” การเมือง เดินเกมรุกไล่ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ผนึกกับ สว.ตั้งท่า บอยคอต-โหวตไม่รับร่างกฎหมาย และมีการอ้างถึง “สัญญาณพิเศษ”

และยังมีปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 9 เมษายน เมื่อ ไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวกลางสภาว่า

“ผมขอประกาศในสภา อันทรงเกียรติแห่งนี้ว่าผม นายไชยชนก ชิดชอบ ลูกชายคนโตของนายเนวิน และนางกรุณา ชิดชอบ ผมเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย จะไม่มีวันเห็นด้วยกับกาสิโนและไม่ใช่แค่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ทุก ๆ พ.ร.บ.หลังจากนี้ แม้กระทั่ง พ.ร.บ.ของพรรคภูมิใจไทย ที่เราคิดขึ้นมาแล้วนำเสนอเพื่อประโยชน์ของประเทศไทย ผมก็จะไม่พิจารณา เพราะสำหรับผมและทุกอย่างที่ผมได้ศึกษามามันมีเรื่องเร่งด่วนที่ด่วนกว่ามหาศาล”

รัฐบาลจึงไม่อาจนำกฎหมายฉบับนี้ฝ่าไปได้ง่าย ๆ นายกฯได้แต่เพียงบ่นว่า “หัวจะปวด”

รัฐบาล vs สว.สีน้ำเงิน

เช่นเดียวกับอีกเคสหนึ่งที่เป็นปมร้อนในรัฐบาลก่อนหน้านี้ คือเกมล้ม สว.สีน้ำเงิน 138 คน ที่ขณะนี้อยู่ในมือของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งรับเป็นคดีพิเศษ โดยมติเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) อันมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน และ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม เป็นรองประธาน

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวถูกมองว่าเป็นเกม “นิติสงคราม” ระหว่างฝ่ายรัฐบาล กับกลุ่ม สว.สีน้ำเงิน เพราะกลุ่ม สว.สีน้ำเงิน 92 คน เปิดปฏิบัติการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายภูมิธรรม และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

โดยเห็นว่า ภูมิธรรม และ พ.ต.อ.ทวี แทรกแซงหรือครอบงำหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยใช้ดีเอสไอเป็นเครื่องมือแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบการเลือก สว. อันเป็นการกลั่นแกล้ง กดดัน ข่มขู่และครอบงำสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ

ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและฝ่าฝืนหลักนิติธรรม จึงถือได้ว่า “ภูมิธรรม” และ “พ.ต.อ.ทวี” ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

นาทีนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย มีข้อต่อสู้กันคนละมุม

ฝ่ายดีเอสไอ สามารถอ้างการมีอำนาจโดยชอบในการสอบสวนคดี ฮั้ว สว. เพราะเป็นการสอบสวน “กระบวนการ” ก่อนการเข้าสู่ตำแหน่ง สว.ที่มิชอบ คล้ายกับกรณีที่ กกต.รับรองผู้สมัคร สส.ไปก่อน หากพบการกระทำผิด ค่อย “สอยทีหลัง” มิได้สอบสวนความเป็น สว. ในปัจจุบัน

ขณะที่ฝ่าย สว.สีน้ำเงิน สู้ในมุมว่าไม่มีการฮั้วเกิดขึ้น โดยเฉพาะการถือโพยหมายเลขผู้สมัคร สว.เข้าไปในกระบวนการสรรหา เพราะศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 753/2567 คดีหมายเลขแดงที่ 971/2567 และคดีหมายเลขดำที่ 771/2567 คดีหมายเลขแดงที่ 972/2567 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 พิพากษาเพิกถอนข้อ 7 ของระเบียบ กกต. “ที่ห้ามนำเอกสารแนะนำตัวจะแจกจ่ายหรือนำเข้าไปในสถานที่เลือก”

เมื่อศาลปกครองมีคำวินิจฉัยว่าสามารถนำโพยเข้าไปได้ จึงถือว่าไม่ขัดกฎหมาย อีกทั้ง กกต.ยังได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีดังกล่าวแล้ว ดังนั้น การดำเนินการของดีเอสไอ โดยเฉพาะ ภูมิธรรม-พ.ต.อ.ทวี อาจเข้าข่ายใช้อำนาจโดยไม่ชอบ แทรกแซง กกต.

มือกฎหมายเพื่อไทยมองว่า เรื่องดังกล่าวไม่ต่างกับกรณีสอย “เศรษฐา ทวีสิน” ที่อันตรายและแหลมคมยิ่ง เพราะเกมนี้ต้องมีฝ่ายที่รอดเพียงฝ่ายเดียว

ถ้าไม่ใช่ ฝ่ายดีเอสไอ-ภูมิธรรม-พ.ต.อ.ทวี ก็เป็น ฝ่าย สว.สีน้ำเงิน

ดูจากช่วงที่เกมล้ม สว.กำลังเข้มข้น ก็มีการอ้างถึง “สัญญาณพิเศษ”

กลายเป็นอีกหนึ่งปมร้อนระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล