
สหรัฐ ยุค “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศเมื่อ 2 เม.ย. ตั้งกำแพงภาษีสูงลิ่วให้บรรดาคู่ค้าและมิตรประเทศ ต้องปีนป่ายขึ้นไปเจรจาต่อรอง เพื่อจะได้ทำการค้าการขายต่อไป บางประเทศอย่างจีน ในฐานะมหาอำนาจ ตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีขึ้นมาสู้ แลกคนละหมัดสองหมัด ยังไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดตรงไหน แต่พอเชื่อได้ว่า น่าจะหืดขึ้นคอกันไปทั้งโลก
หลายประเทศ เลือกใช้ทั้งวิธีการแบบไฮบริดหรือลูกผสม ทั้งตอบโต้และเจรจา อย่างอาเซียนมีหลายแนวทาง อย่างเวียดนามใช้วิธีโทร.ต่อรอง ทำให้ “ปธน.ทรัมป์” พออกพอใจ แต่ที่ปรึกษาการค้าของทำเนียบขาว ไม่ค่อยพอใจนัก แต่อีกหลายประเทศยังหาลู่ทางเข้าไปเจรจาด้วยข้อเสนอที่พอเหมาะ
สำหรับประเทศไทย ซึ่งโดนเข้าไป 36% ถือว่าหนักหน่วงสำหรับประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของอเมริกาในภูมิภาคนี้
“น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการมาติดตามนโยบายสหรัฐ นำโดย “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” ซึ่งในวัย 82 ยัง “คม” และทันสถานการณ์
และเตรียมจะส่งทีมเจรจา นำโดย “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯและ รมว.คลัง บินไปเจรจา
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า คณะทำงานจากไทยที่นำโดยนายพิชัย เตรียมเดินทางไปเจรจาร่วมกับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR)
เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเข้าไปหารือเร็วที่สุด ไม่เกินหลังสงกรานต์นี้ โดยคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย การขึ้นภาษีสหรัฐมีผลกระทบแน่นอน แต่จะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไร ยังตอบไม่ได้ เนื่องจากยังมีกระบวนการเจรจาที่ต้องรอผลอยู่
วิธีการแก้ตามหลักคิด ได้แก่ 1.การนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.การส่งออกให้มากขึ้น และ 3.การเพิ่มปริมาณการค้ามากขึ้น
การส่งออกเราลดไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นเครื่องยนต์กลไกหลักในการสร้างรายได้ให้ไทย ต้องใช้วิธีการเพิ่มปริมาณการค้า และการนำเข้าจากสหรัฐให้มากขึ้นแทน โดยต้องพิจารณาว่าแต่ละเซ็กเตอร์มีสินค้าใดที่ไทยนำเข้ามาจำเป็นต้องใช้อยู่แล้ว สามารถเปลี่ยนต้นทางจากประเทศอื่นเป็นสหรัฐแทนได้บ้าง ส่วนนี้จะเพิ่มปริมาณนำเข้าจากสหรัฐมากขึ้น
ส่วนสินค้าที่ถูกตั้งคำถามในเรื่องแหล่งกำเนิด รวมถึงเรื่องสินค้าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ โดยส่วนนี้ประเทศไทยจะต้องรับโจทย์มาแล้วปรับโครงสร้างการผลิตสินค้า ว่าต้องทำอย่างไรได้บ้าง ไม่ใช่หวังเพียงตัวเลขการส่งออกอย่างเดียวเท่านั้น
ซึ่งมองว่าไม่ใช่เรื่องแก้กฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องยืนยันเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าในการส่งออกได้แบบชัดเจน โดยสินค้าที่กึ่งสำเร็จรูปที่เข้ามาในประเทศไทยแล้วทำการส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ ส่วนนี้กรมศุลกากร และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้องตรวจสอบอย่างจริงจัง โดยการเจรจาการค้าร่วมกับสหรัฐ มีความหวังผลสำเร็จ แต่ไม่ได้คิดว่าจะเสร็จภายใน 3-5 วัน ของแบบนี้ต้องใช้เวลา
“สินค้าส่วนหนึ่งที่มองว่านำเข้าได้ง่ายที่สุด เป็นหมวดพลังงาน แต่การจะนำเข้าอะไรก็ตาม โจทย์สำคัญคือ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อคนไทยมากเกินไป ดูให้มีความสมดุล ดูต้นทุนของสินค้าแต่ละอย่างด้วย อาทิ สินค้าเกษตร หากมีการนำเข้ามามากขึ้นแล้วกระทบกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อันนี้ก็ปล่อยไม่ได้ เราโชคดีที่ภาคเอกชนไทยพร้อมประคับประคองเรื่องราคาให้กับพี่น้องเกษตรกรก่อน เพื่อให้หลาย ๆ อย่างกลับสู่สมดุลได้”
นายจุลพันธ์ยังกล่าวว่า รัฐบาลผ่านคณะทำงานได้เดินหน้าศึกษาการเจรจาในกรอบอาเซียนแล้ว แต่รายละเอียดในลักษณะนี้มีความแตกต่างกัน อาทิ สิงคโปร์ ที่ถูกเก็บภาษี 10% ทั้งที่ขาดดุลการค้ากับสหรัฐด้วยซ้ำ จึงอาจไม่มีความจำเป็นมากนักในการเจรจาการค้าเหมือนประเทศไทย
ส่วนกัมพูชา ถือว่าถูกปรับขึ้นภาษีสูงมาก ทั้งที่ปริมาณการค้าขายไม่ได้สูงมากนักเทียบกับไทย ซึ่งไทยได้ดุลการค้าจากสหรัฐกว่า 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นเม็ดเงินที่ค่อนข้างเยอะ รัฐบาลจึงรับทุกข้อเสนอที่เข้ามา เพราะประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่จนสามารถใช้การตอบโต้กลับแบบรุกรานหรือก้าวร้าว (Aggressive) ได้
รมช.จุลพันธ์กล่าวด้วยว่า ไทยต้องมองโอกาสที่จะเกิดขึ้น เพราะเวลาที่เกิดสงครามการค้า อาทิ จีนตั้งกำแพงภาษีสู้กับสหรัฐ จะเกิดช่องว่างสำหรับการค้าขายใหม่ ๆ ในประเทศ เพราะสินค้าต้องวิ่งอยู่ดี การบริโภคต้องมี แล้วประเทศไทยจะคว้าโอกาสนั้นได้หรือไม่ จะมีโอกาสในการหาเข้ามาได้ อย่างการดึงเม็ดเงินลงทุนที่ถูกตัดจากการเข้าไปลงทุนในสหรัฐจากฝรั่งเศส สุดท้ายเงินลงทุนเหล่านี้ต้องหาที่ไป
แล้วไทยจะมีโอกาสดึงเข้ามาได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระบวนการมองและคิดต่อไป
นั่นคือแนวคิดและแนวทางเบื้องต้น ในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐ
เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ควบคู่ไปกับการเกาะติดสถานการณ์ในสหรัฐ ที่คลื่นความไม่พอใจของคนอเมริกันต่อประธานาธิบดีของตนเอง
ก่อตัวและกำลังรุนแรงมากขึ้น