
เป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ ที่นายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” กำกับด้วยตัวเองตั้งแต่ยังอยู่ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน คือนโยบายซอฟต์พาวเวอร์
“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี หัวหอกสำคัญที่ร่วมผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ตั้งแต่ต้น 15 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่จะเป็น “เครื่องยนต์ใหม่” ในการพลิกประเทศ
พร้อมกับหาคำตอบว่าทำไม การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์เหตุใดจึงดูล่าช้า ขณะเดียวกัน บิ๊กอีเวนต์ใหญ่ ๆ ระดับโลกที่จะเห็นคืออะไร
รูปธรรม THACCA
นพ.สุรพงษ์เริ่มต้นบอกว่า คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกฯมองว่า นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ 15 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมด้านศิลปะ ด้านศิลปะการแสดง ด้านหนังสือ ด้านการออกแบบ ด้านแฟชั่น ด้านเฟสติวัล ด้านภาพยนตร์ สารคดี และแอนิเมชั่น ด้านอาหาร ด้านดนตรี ด้านศิลปะการแสดง ด้านละครและซีรีส์ ด้านกีฬา ด้านการท่องเที่ยว ด้านเวลเนส ด้านโฆษณา เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทย
เพราะนโยบายเศรษฐกิจดั้งเดิมที่เราเคยใช้หลายสิบปีอาจจะไม่ได้ผลอีกต่อไป ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นอนาคตของไทย คือ อาหาร ธุรกิจทางภาคบริการ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือซอฟต์พาวเวอร์ที่จะต้องปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ทำให้ซอฟต์พาวเวอร์สามารถแสดงพลานุภาพของการใช้วัฒนธรรม เป็นเครื่องมือสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศไทย ให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และคนไทยได้หลุดพ้นจากความยากจน
แต่สิ่งที่จะทำให้นโยบายซอฟต์พาวเวอร์เกิดเป็นรูปธรรม จะต้องมีการออกกฎหมาย ตั้งองค์กรที่เรียกว่า THACCA แต่ นพ.สุรพงษ์อธิบายจุดเริ่มต้นปัญหาการขับเคลื่อน คือเรื่องของความเป็นเอกภาพของระบบราชการและภาคเอกชน มาช่วยทำให้ซอฟต์พาวเวอร์เดินต่อไปได้
เพราะช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก กรุงเทพฯเมืองแฟชั่น ไม่สามารถจะพัฒนาต่อยอดไปได้ เพราะว่ายังเป็นลักษณะของการมองอย่างแยกส่วน หน่วยราชการต่าง ๆ เองต่างคนต่างทำ ไม่มียุทธศาสตร์ใหญ่ร่วมกัน
ส่วนภาคเอกชน คือคนที่ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ตัวจริงในอุตสาหกรรมไม่ได้มีบทบาทร่วมการขับเคลื่อน ดังนั้นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งในแง่ของ Mind Set และโครงสร้างครั้งใหญ่ คือทำให้ทางภาคราชการมีโอกาสที่จะมองยุทธศาสตร์ร่วมกัน แล้วก็ใช้ยุทธศาสตร์นี้เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อน
ขณะเดียวกัน ต้องให้ภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ตรงในการขับเคลื่อนได้มีการมาร่วมกัน จึงมีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติขึ้นมา แต่รูปแบบของคณะกรรมการไม่สามารถที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน ถ้าหากมีการเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งในอนาคต
ดังนั้น จะต้องมีองค์กรหนึ่งซึ่งทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ คือสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือ Thailand Creative Culture Agency ร่างเป็นกฎหมายที่จะนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้นำเสนอต่อสภาทั้งสองสภา
ซึ่งก่อนหน้านี้เราเคยวางไทม์ไลน์ว่าร่างกฎหมาย น่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 แต่เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ต้องตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติขึ้นมาใหม่ นำเสนอกันใหม่อีกรอบหนึ่ง นำมาสู่ความล่าช้า
ดังนั้น ตามไทม์ไลน์ปัจจุบันควรเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมครั้งหน้า (เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม) และน่าจะผ่านทั้งสองสภาภายในต้นปี 2569 ซึ่งก็จะนำไปสู่การตั้ง THACCA อย่างเป็นทางการภายในกลางปี 2569
ของบฯ 5 พันล้าน ได้ใช้แค่ 600 ล้าน
นพ.สุรพงษ์บอกว่า ข่าวคราวเรื่องงบประมาณของซอฟต์พาวเวอร์ ที่มีข่าวว่า 5,000 ล้าน แต่จริง ๆ แล้วนั้นเป็นคำเสนอของคณะอนุกรรมการที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่าง ๆ แล้วคำขอก็ถูกส่งต่อไปเป็นทอด ๆ ถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติไปถึงสำนักงบประมาณ
แต่ด้วยข้อจำกัดของระบบงบประมาณปี 2567 กว่าที่จะได้รับการพิจารณางบประมาณคือเดือนเมษายน 2567 ดังนั้น งบประมาณตัวเลข 5,000 ล้าน พอมาถึงเวลาปฏิบัติจริงกว่าจะได้เงินมาคือเดือนสิงหาคม 2567 แล้วได้แค่ประมาณ 600 กว่าล้านเท่านั้น ล่าช้าไปกว่ากำหนดพอสมควร เม็ดเงินก็น้อยลงไปด้วย
ดังนั้น กว่าที่จะได้เริ่มดำเนินการอบรมอัพสกิล รีสกิล หรือทำเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมไปเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะออกมาได้ก็ประมาณปลายปีที่ 2567 นี่เอง
ขั้นตอนต่อไปนี้ รอการเสนอของบประมาณปี 2569 ซึ่งจะดำเนินการได้เต็มรูปแบบ แต่ช่วงระหว่างนี้ งบประมาณปี 2568 ซึ่งมีการเสนอไปเบื้องต้นแล้ว 2,000 กว่าล้าน ซึ่งต่ำกว่าที่เคยพูดกันคือ 5,000 ล้านพอสมควร แต่ก็สามารถเดินตามแผนงานที่กำหนดไว้ต่อไปได้
บิ๊กอีเวนต์ระดับโลก
ขณะที่การจัดอีเวนต์ระดับโลก “นพ.สุรพงษ์” คลี่แผนให้ดูว่า เราจัดงานระดับโลกเพื่อจะทำให้เกิดความตื่นตัว เช่น งานมหาสงกรานต์ World Water Festival ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้เป็นคาร์นิวัลระดับโลกเทียบชั้นกับบราซิล ทำให้ชาวต่างประเทศรู้สึกว่าชีวิตหนึ่งจะต้องมาประเทศไทยในช่วงสงกรานต์
ในเดือนมิถุนายน จะมีงาน Splash Soft Power Forum จะรวบรวมศิลปะซอฟต์พาวเวอร์ต่าง ๆ ทั้งนำเสนอที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานีรถไฟหัวลำโพง ศูนย์การค้าบางแห่ง รวมทั้งพื้นที่ที่เป็นย่านที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์
เช่น ตลาดน้อย อีกทั้งมีโรงแรม ร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งก็จะเข้าร่วมกิจกรรม อยากให้เป็นงานที่เทียบชั้น South by Southwest ที่ออสติน รัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นงานศิลปะ อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ที่เป็นที่กล่าวขานในระดับโลก
และจะมีกิจกรรม Pride Month มีกิจกรรมที่ทำให้มีชีวิตชีวา มีความสดใส ทำให้คนทั้งโลกมาเยี่ยมชม ส่วน Winter Festival ลอยกระทง ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เคานต์ดาวน์ต่าง ๆ ก็จะมีความตื่นตาตื่นใจมากขึ้น และ Bangkok Illumination Festival ก็จะมีความน่าสนใจมากกว่าปี 2567 อีก
“ที่มักจะมีคนบอกว่าเอาแต่จัดอีเวนต์ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ใช้งบประมาณแค่ประมาณ 30% ของงบประมาณที่เราเสนอขอเท่านั้น งบประมาณส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการฝึกทักษะระดับสูง อัพสกิล รีสกิล 40% ส่วนอีก 30% ที่เหลือเป็นเรื่องของการพัฒนาระบบนิเวศ การสร้างกองทุน การส่งเสริมให้มีการผลิตหนังในระดับต่าง ๆ ทั้งหนังยาว หนังสั้น สารคดี”
อัพสกิล รีสกิล 20 ล้านคน
สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลเพื่อไทย ใช้เป็นแคมเปญหาเสียงในโปรเจ็กต์ซอฟต์พาวเวอร์ คือ โปรเจ็กต์ OFOS : One Family One Soft Power ให้ครอบครัวคนไทย 20 ล้านครอบครัวมีงานทำ เพิ่มรายได้ โดยฝึกฝนทักษะที่เขาชื่นชอบ ให้คนไทยพ้นจากเส้นความยากจน
“ถ้าให้คนไทยพ้นจากความยากจน ทุก ๆ ครอบครัวต้องมีอย่างน้อยหนึ่งคนจะเป็นหัวหน้าครอบครัวก็ได้ หรือสมาชิกในครอบครัวเป็นลูกหลานก็ได้ ที่ควรจะได้รับเงินตอบแทน ประมาณ 200,000 บาทต่อปี หรือ 16,000 บาทต่อเดือน ถ้าหากหารด้วยจำนวนสมาชิกในครอบครัวประมาณ 4 คน ที่เป็นค่าเฉลี่ย เท่ากับว่าทุกคนเนี่ยมีรายได้ 4,000 บาทต่อเดือนต่อคน ก็ทำให้เราสามารถจะพ้นจากเส้นความยากจนอยู่แล้ว ซึ่ง 3,000 บาท”
“ถ้าหากตั้งเป้าหมายอย่างนี้ การจะอบรมจึงเป็นเรื่องใหญ่มากที่ต้องอัพสกิล รีสกิล ที่ผ่านมาเรามักจะมีคำพูดหรู ๆ บอกว่าทางออกประเทศไทย ต้องอัพสกิล รีสกิล แต่เราพูดกันอย่างนี้มานานมากแล้ว มันถึงเวลาที่เราจะลงมือทำ ที่น่าจะสอดคล้องความเป็นจริงมากที่สุด คือการฝึกทักษะของมือ หรือทักษะของปาก ทักษะของสมอง ที่ไม่ซับซ้อนอะไรมาก เช่น เรื่องอาหารไทย อยากจะเป็นคนที่ทำอาหารไทยมีรสชาติอร่อย ฝีมือเลิศ”
“ที่ผ่านมาอาจจะไม่มีการประกาศรับกันอย่างเอาจริงเอาจังเป็นทางการ เมื่อเราเริ่มทำ OFOS หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย หรือทำเรื่องเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ ในการทำเมนูเริ่มต้น อาจจะ 50 เมนู ต่อไปก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ”
“จะทำให้คนเริ่มรู้สึกว่า การที่จะฝึกทำอาหารไม่ใช่เรื่องยากแล้ว สามารถที่จะดูจากอีเลิร์นนิ่ง THACCA ที่จะสามารถสอนให้เห็นได้ว่าถ้าจะปรุงอาหารมื้อนี้ใช้วัตถุดิบแบบนี้ ใส่อะไรก่อนใส่อะไรหลังใช้เวลาเท่าไหร่ อย่างนี้เป็นต้น เพราะออกมารสชาติดี ตรงนี้ก็จะเป็นตัวหนึ่งที่จะทำให้เกิดการฝึกทำอาหารได้”
“หรือจะเรียนมวยไทย ก็สามารถที่จะไปฝึกอบรมที่ยิมต่าง ๆ ที่สมัครมาแล้วประมาณ 400 ยิม ซึ่งมีการทดสอบมาตรฐานแล้ว สามารถจะฝึกมวยไทยตั้งแต่เด็ก ๆ ได้ เพราะว่าวันนี้มีทั้งเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง มีความฝันว่าอยากเป็นนักมวยที่มีฝีมือ ในอนาคตเป็นนักมวยเงินล้าน เงิน 10 ล้าน”
เราตั้งเป้าหมายว่าในปี 2570 คนที่จะเรียนออนไลน์ทำอาหาร เรียนออนไลน์ฝึกแต่งหน้า เรียนออนไลน์ฝึกร้องเพลง ก็จะค่อย ๆ เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์ตัวเองได้
เป้าหมายเราทะเยอทะยานมากก็คือ 20 ล้านคน ถ้าเรานับคนที่เริ่มเรียนออนไลน์ไปก่อนก็คงถึงเป้าหมายได้ แต่เราก็ต้องเปิดโอกาสให้สามารถเรียนออนไซต์ เรียนจากการปฏิบัติจริงได้ด้วย ที่คุยกับทีมไว้คือว่าทุกคนที่เรียน มีโอกาสที่จะได้รับประกาศนียบัตรของการเรียนออนไลน์ และสามารถที่จะใช้เป็นดิจิทัลไฟล์เป็นโปรไฟล์ของตัวเองได้
เพราะสิ่งที่เราอยากจะทำคือเราอยากจะให้คนที่เรียน สามารถจะสร้างโปรไฟล์ได้ด้วยตัวเอง ให้เป็นเหมือนกับศิษย์เก่าของ THACCA หรือ THACCA Alumni มีชื่อ มีรูป มีรายละเอียดการศึกษาต่าง ๆ ว่าเรียนออนไซต์อะไร เรียนผ่านออนไลน์อะไร เพื่อที่หากมีร้านอาหารอยากหาคนที่ไปเป็นเชฟ อยากหาคนที่เป็นนักมวยสามารถที่จะเข้ามาเสิร์ชใน THACCA Alumni ได้