‘จุลพันธ์’ รมช.คลัง ‘พ.ร.บ.คอมเพล็กซ์’ ให้ประชาชนตัดสิน

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายภาคส่วน รวมถึงความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นทั้งจากปัญหาแผ่นดินไหวในประเทศไทย และรับมือการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา ทำให้รัฐบาลตัดสินใจเลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่จะนำเข้าสภาผู้เแทนราษฎรออกไปในการประชุมสมัยหน้า

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เปิดทางรับมือแผ่นดินไหว-ทรัมป์

“ไทม์ไลน์ในจังหวะเวลาเข้ามาพร้อมกันทั้งเรื่องแผ่นดินไหว ทั้งเรื่องของการปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐ เราต้องเรียงลำดับความสำคัญ ว่าอะไรที่เร่งด่วน หรือไม่เร่งด่วน สุดท้ายนายกรัฐมนตรี (น.ส.แพทองธาร ชินวัตร) ก็ได้เชิญทางหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเข้าไปพูดคุยกัน ซึ่งทุกพรรคการเมืองยืนยันว่าพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายของรัฐ ซึ่งเราได้แถลงต่อรัฐสภาแล้ว มีความเชื่อมั่นว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าได้ แต่เมื่อมีประเด็นในเรื่องของจังหวะเวลา จึงต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นสมัยประชุมหน้า เพื่อให้มีเวลาในการทำความเข้าใจกับสังคม เพื่อให้ทุกคนได้ไปพูดคุยกับพรรคการเมืองตัวเอง”

เราไม่ได้จะเปลี่ยนใจใคร แต่หากมีการตั้งกรรมาธิการศึกษาก็พร้อมจะเชิญให้เข้ามาหารือร่วมกัน รัฐบาลพร้อมรับฟังให้มากขึ้น นำเหตุและผลมากางบนโต๊ะ แล้วดูว่าจะสามารถถอยคนละก้าวได้หรือไม่ เพื่อกฎหมายพอออกมาแล้วทุกคนจะอยู่ในจุดที่พอจะรับได้ แล้วเดินหน้าต่อไป

ญี่ปุ่น-ดูไบเดินหน้าไปแล้ว

ตอนนี้ต้องยอมรับว่ามันมีการพูดคุยกันในสังคม และมีความสับสน บางคนเอาเรื่องนี้ไปเรียกว่าเป็นกาสิโน ซึ่งไม่ใช่เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เป็นสถานบันเทิงครบวงจร เป็นการพัฒนารูปแบบใหม่ และเป็นโมเดลธุรกิจที่ต่างประเทศก็ใช้ อาทิ ญี่ปุ่นเริ่มแล้ว ดูไบก็เริ่มแล้ว รวมถึงจะมีเวลาที่รัฐบาลสามารถสื่อสารกับประชาชนเพิ่มขึ้นให้เห็นภาพจับต้องได้ เห็นได้จริง เพื่อให้สามารถดำเนินการในจุดนี้ได้

พี่น้องประชาชนจะได้นึกภาพออกมากขึ้น เพราะหลายคนก็อาจไม่เคยเห็น ไม่เคยไปสัมผัส หรือเคยเห็นอยู่แถวชายแดนประเทศไทย ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ไม่ใช่โมเดลที่รัฐบาลจะนำมาใช้ เรื่องของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เรายืนยันว่าไม่เท่ากับกาสิโน แต่คือการลงทุนขนาดใหญ่ ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เปลี่ยนโฉมภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติมาอย่างยาวนาน เริ่มถึงจุดอิ่มตัว

ADVERTISMENT

ตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า กระแสสังคมไม่ได้เป็นส่วนหลักที่ทำให้รัฐบาลต้องเลื่อนออกไปก่อน แต่เป็นเรื่องสถานการณ์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งแผ่นดินไหวและการขึ้นภาษีของทรัมป์ แม้ตอนการประชุมจะมีคำถามว่า ทำไมถึงนำเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มาตัดหน้าเรื่องแผ่นดินไหว ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่าเป็นแค่การขอเลื่อนระเบียบวาระ ใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น แต่พอมีการโต้เถียงกันก็กินเวลาไป 3 ชั่วโมงเศษ

เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ผูกโยงกับการรับมือมาตรการทางภาษีของรัฐบาล เพราะไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ถามว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือไม่ ต้องถามตัวเองว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลก็ยอมรับมาตลอดตั้งแต่วันที่เข้ามาทำงาน เราอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจมันอยู่ในจุดที่ค่อนข้างวิกฤต พยายามที่จะปรับแก้ตั้งแต่การเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย

ADVERTISMENT

ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าหนัก

เรียนตรง ๆ ว่าเหนื่อย เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ประกอบกับงบประมาณที่ล่าช้า การอยู่กระทรวงการคลังจึงค่อนข้างเครียด แต่เราใช้มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการขับเคลื่อนหลายอย่าง ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2567 โตมาเป็น 2.3% ไตรมาสที่ 3 โต 3% และไตรมาสสุดท้าย 2567 ปิดที่ 3.2 หมายความว่าเราอยู่ในขาขึ้น

ขณะที่เศรษฐกิจไตรมาส 1 ของปี 2568 นี้ มีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่าง รวมถึงการแจกเงินหมื่น ตัวเลขออกมาแล้วก็อยู่ในจุดที่น่าพอใจ ประมาณ 3% กว่า ทำให้หากส่งโมเมนตัมที่ดีอย่างนี้ต่อไปได้ ก็มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถประคองเศรษฐกิจให้จบปีในตัวเลขที่ดีได้ แต่เมื่อมีการขึ้นภาษีของสหรัฐ ความเสี่ยงไม่ได้อยู่แค่ประเทศไทย ความเสี่ยงกระทบภาคการส่งออกอย่างชัดเจน

คอมเพล็กซ์กระตุ้นท่องเที่ยว

เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เป็นเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว ในระยะยาวสร้าง Tourist Man Made Destination ปรับปรุงสร้างภาคการท่องเที่ยวไทย หากทำได้สำเร็จ ในอนาคตข้างหน้าอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้น 5-10% เทียบกับการไม่มี และมีการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท ในกรณีของกลุ่มที่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาในจุดเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

ลองนึกสภาพว่าประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวสวย ๆ เยอะ อาทิ วัด ถามว่านักท่องเที่ยวมาแล้วต้องไปเที่ยว เสร็จแล้วจากนั้นหากมาเที่ยวไทยอีกครั้งจะกลับไปเที่ยวที่เดิมหรือไม่ มีการมาซ้ำอีกหรือไม่ ซึ่งเราต้องการสร้างสถานที่ซึ่งสามารถกลับมาได้เรื่อย ๆ เพื่อที่จะดึงคนที่เป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มเดิมกลับเข้ามาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มาใช้เงิน นำเงินมาจับจ่ายใช้สอยให้มันเกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจ

“เพราะฉะนั้นเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จึงเป็นจุดดึงดูด โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเรา ซึ่งมีความจำเป็น”

ทักษิณไล่พรรคร่วม-ไม่จริง

สำหรับกระแสข่าวการขู่ไล่พรรคร่วมรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ยืนยันว่าไม่ใช่ความจริง เพราะหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคก็ยืนยันว่าไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เป็นเพียงหนึ่งกฎหมายที่ไม่ได้คอขาดบาดตาย ไม่ใช่กฎหมายทางการเงิน เป็นแนวความคิด และเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ที่ต้องการขับเคลื่อนให้สำเร็จ และได้รับการยืนยันจากหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค ว่าทุกคนพร้อมที่จะร่วมลงเรือลำเดียวกันในการขับเคลื่อนให้มันสำเร็จ

ส่วนความกังวลการล็อกสเป็กกลุ่มทุนที่จะเข้ามาทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ขอชี้แจงว่ากระบวนการเรื่องการประมูลโดยปกติจะไปอยู่ในระเบียบประกาศของกรมบัญชีกลาง กลไกทั้งหมดถูกกำกับโดยหน่วยงานของรัฐอีกหน่วยงานหนึ่งที่ต้องยึดถือ เพราะว่ามีทั้ง พ.ร.บ.วินัย พ.ร.บ.วิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีอยู่แล้ว

หาก พ.ร.บ.เสร็จ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการจัดตั้งสำนักงานตามกฎหมาย จัดตั้งคณะกรรมการทั้งระดับนโยบายและระดับควบคุม กำกับ เสร็จแล้วต้องศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งเราต้องจ้างเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือทำ ผ่านการแข่งขันกัน เพื่อที่จะจัดจ้างมา จากนั้นต้องบอกว่าข้อศึกษาสรุปมาอย่างไร ประเทศไทยควรจะมีหรือไม่ มีกี่ที่ ที่ไหนเป็นตัวอย่าง

ให้ประชาชนตัดสินใจท้ายสุด

“ส่วนกฎหมายจะผ่านในรัฐบาลนี้หรือไม่ ต้องบอกว่าโจทย์ของผม ผมเป็นคนทำงาน มีความตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จ แต่กฎหมายลักษณะนี้หากเข้าสภาแล้ว 1 ปียังไม่รู้จะอยู่หรือไม่ แล้วยังต้องไปวุฒิสภาอีก จึงใช้เวลาจริง ๆ หากเราทำไม่เสร็จ กฎหมายก็คาไว้ รัฐบาลใหม่เข้ามามีหน้าที่จะยืนยันหรือไม่ยืนยัน หากไม่ยืนยันก็ตกไป หากยืนยันก็ต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่กรรมาธิการวาระ 1 คือต้องมาเริ่มพิจารณากันใหม่ตั้งแต่ต้น”

ตรงนี้มองว่าเป็นโอกาสที่เราไม่ควรจะรอ เพราะรอมาหลายสิ่งหลายอย่างแล้ว เราเคยคุยกันเรื่องนี้มา 20 กว่าปี จนตอนนี้สิงคโปร์เกิดก่อน ก้าวล้ำประเทศไทยไปแล้วในหลาย ๆ มิติ ญี่ปุ่นที่คุยหลังเรา วันนี้ลงเสาเข็มเริ่มที่โอซากาแล้ว รวมถึงดูไบ เริ่มแล้วในเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นมา ทั้งที่เป็นประเทศมุสลิมด้วยซ้ำ จึงมองว่าโอกาสมีต้นทุน การช้า การเสียเวลามันคือต้นทุนอย่างหนึ่งของสังคม

เหมือนกับที่เรารอรถไฟความเร็วสูง แล้วเราก็โดนคำถามว่า ควรทำเรื่องของถนนบางประเภทเสร็จก่อนหรือไม่ สุดท้ายเป็นการเสียโอกาส ที่ผ่านมาถึงวันนี้ก็ยังทำไม่เสร็จ อันนี้คือต้นทุนของประชาชนและประเทศไทย ต้นทุนค่าเสียโอกาสในเรื่องของเวลา ส่วนในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ