
รองนายกฯพิชัย หัวหน้าทีมไทยแลนด์ เจรจาสหรัฐ ประชุมถกเข้มกับทีมที่ปรึกษาฯ ก่อนเดินทางไปเจรจา ย้ำข้อมูลพร้อมเกือบร้อยเปอร์เซนต์ เชื่อมั่นจะลดแรงกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ได้
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายวันนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เชิญคณะทำงานการเจรจาเรื่องภาษีของสหรัฐอเมริกา หารือร่วมกับทีมที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจ
นำโดยนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี และ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจ ณ บ้านพิษณุโลก ก่อนออกเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาในวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายนนี้
โดยการหารือในครั้งนี้เป็นการประเมินสถานการณ์ล่าสุด และวางกรอบยุทธศาสตร์การเจรจาอย่างรอบด้านทั้งมิติด้านการค้า การลงทุนและภาคการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายุทธศาสตร์ของไทย เช่น เกษตร พลังงาน และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
นอกจากนี้ ทีมที่ปรึกษายังได้ร่วมกันพิจารณารายชื่อคู่เจรจาสำคัญจากภาครัฐ เอกชน และสมาคมธุรกิจต่าง ๆ ของสหรัฐที่จะเข้าพบในครั้งนี้ เพื่อเสริมความพร้อมให้การเจรจามีน้ำหนัก มีเป้าหมายชัดเจน และสามารถตอบโจทย์ความคาดหวังของฝ่ายสหรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
โดยวันพรุ่งนี้ (15 เมษายน) คณะทำงานจะประชุมหารือในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง นายจิรายุกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมหารือมาตรการรับมือกับนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกา โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทั้งนี้ นายพิชัย ในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทีมเจรจาได้สรุปประเด็น 5 ข้อที่จะไปพูดคุยกับสหรัฐ ประกอบด้วย
ประเด็นที่ 1 การหาโอกาสจากการนำเข้าพืชผลทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์จากสัตว์จากสหรัฐเพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหาการขาดดุลทางการค้า เช่น การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของสหรัฐเข้ามาผลิตเป็นอาหารสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาหารขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศ และนำเข้าเครื่องในสัตว์มาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าและส่งออก
ประเด็นที่ 2 การผ่อนคลายการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ โดยบริการจัดการด้านภาษีเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค และการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ ที่มีอยู่กว่า 100 รายการ จะดำเนินการตามโควตาที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ประเด็นที่ 3 การแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า ผ่านการลดขั้นตอนที่นอกเหนือจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎระเบียบขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขทั้งหมด
ประเด็นที่ 4 การตรวจสอบคัดกรองสินค้าป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของสหรัฐจากประเทศอื่น ๆ โดยจะมีการออกใบรับรองต้นถิ่นกำเนิดสินค้าให้รอบคอบมากขึ้น เพื่อป้องกันสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านให้น้อยที่สุด
และประเด็นที่ 5 การหาโอกาสการลงทุนในสหรัฐ เช่น การพิจารณาลงทุนด้านการการขนส่งในแหล่งก๊าซธรรมชาติของสหรัฐ ในอลาสก้า หรือการลงทุนแปรรูปสินค้าเกษตรในสหรัฐ