
คดีฮั้วเลือก สว. เป็นประเด็นร้อนยิ่งกว่าร้อน สะเทือนยิ่งกว่าสะเทือน
เมื่อการเมือง 2 ขั้วข้าง เปิดหน้าชกกันอย่างดุเดือด
ข้างหนึ่ง “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” ถืออำนาจตามกฎหมายคดีพิเศษอยู่ในมือ คอยรุกไล่
อีกข้างหนึ่ง สว.สีน้ำเงิน รอจังหวะสวนกลับ มีกลไกปกครอง และ กระทรวงมหาดไทย เป็นกำลังสนับสนุน
ภาพการประลองกำลังของสองฝ่ายอยู่ในสภาพ สู-สี
เกมนี้มีราคาที่ต้องจ่ายกันทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายไหนพลาดพลั้งมีสิทธิเสียเก้าอี้ ถูกดำเนินคดี
เรื่องนี้จึงใหญ่เกินกว่าผู้มีอำนาจทั้งสองขั้ว แดง-น้ำเงิน ในฐานะคนเดิมเกม จะประนีประนอมทางการเมือง
เพราะ เบี้ย- หมาก บนกระดานของแต่ละฝ่าย ล้วนคอพาดเขียงด้วยกันทั้งคู่
ไม่ว่าจะเป็น สว.ล็อตใหญ่ 53 คน หรือมากกว่านั้น ที่ดีเอสไอบุกไปแปะหมายถึงบ้าน เสี่ยงที่จะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และ ถูกดำเนินคดี
ไม่ว่าจะเป็น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม – ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ที่ถูก สว.ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ข้อหาใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของ กกต. ผิดมาตรฐานจริยธรรม
ยังไม่นับ บุคคลการเมือง ”เบื้องหลัง“ หลายฝัก หลายฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายองค์กรอิสระ และเหนือขึ้นไปกว่านั้น เข้ามาผสมโรงชุลมุน เกมนี้จึงไม่มีใครยอมใคร
ล่าสุด ”อิทธิพร บุญประคอง“ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จะครบวาระการเป็นประธานในเดือนสิงหาคมนี้ กล่าวถึงคดีนี้ ที่ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่ไปปิดหมายแจ้งข้อกล่าวหา สว.ให้มาชี้แจงต่อคณะกรรมการไต่สวน ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ที่สำนักงาน กกต. แจ้งวัฒนะ ว่า
“เป็นเอกสารแจ้งข้อกล่าวหา เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. ที่ กกต. ตั้งขึ้นเป็นพิเศษคือคณะที่ 26 ที่มี ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต. เป็นประธาน และขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ดีเอสไอมาช่วยด้วย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และเมื่อตรวจสอบพยานหลักฐานเบื้องต้นแล้วพบว่าสามารถนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาได้ จึงได้มีการดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยการทำหนังสือนัดหมาย กำหนดเวลา ให้บุคคล 53 คนตามข่าว ให้มารับทราบข้อกล่าวหาและให้โอกาสชี้แจง แสดงหลักฐานของตัวเอง”
“ส่วนกรอบเวลาของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ มีเวลา 90 วัน แต่สามารถขยายได้ หากเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายบุคคล และเมื่อผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจงแล้วก็จะมีการประมวล พิจารณาวินิจฉัย และเสนอความเห็นไปยังเลขาธิการ กกต. ซึ่งกรอบเวลาของเลขาฯมีเวลาพิจารณาอีก 60 วัน”
“จากนั้นจึงจะเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการวินิจฉัยพิจารณากลั่นกรอง เพื่อเสนอความเห็นให้ กกต.ตัดสิน และถ้าหากที่ประชุม กกต.เห็นว่าไม่จำเป็นต้องสอบเพิ่มเติม เนื่องจากข้อมูลหลักฐานไม่เพียงพอก็ยุติเรื่อง แต่หากพบว่ามีความผิดจริงก็ส่งศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง และเข้าสู่กระบวนการของศาลต่อไป ซึ่งถ้าศาลรับคำร้องไว้ก็จะส่งผลให้สมาชิกวุฒิสภาต้องยุติปฎิบัติหน้าที่“
ส่วน สว. มีความผิดเรื่องฮั้วชัดเจนหรือยัง นายอิทธิพร บอกว่า ไม่ใช่มีความผิด แต่มีพฤติการณ์ที่อาจจะเป็นการฝ่าฝืน จะวินิจฉัยว่าผิดเลยไม่ได้ เพราะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และพยานบุคคลที่มี ทำให้เราเชื่อ แต่การตัดสินว่าใครผิดหรือไม่ผิดเป็นหน้าที่ศาล
ส่วนในการวินิจฉัยของอนุกรรมการฯ ก่อนเสนอ กกต.สามารถเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่าไม่ได้เปลี่ยน แต่สามารถแสดงความเห็นได้ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย หรือมีจุดไหนที่ต้องการข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและใช้ดุลพินิจได้อย่างชัดเจนที่สุด ไม่เช่นนั้นจะเกิดความลักลั่น เพราะข้อเท็จจริงยังไม่ชัด
เปิดฐานความผิด
ตามเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาที่ส่งไปถึงบ้าน สว.สีน้ำเงิน ระบุ ฐานความผิดที่ใช้แจ้งข้อกล่าวหามีดังนี้
ความผิดตามพระรบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 70
ผู้สมัครผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกําหนดตามมาตรา 36 (ผู้สมัครอาจแนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต.กำหนด)
ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 5 ปี
มาตรา 77 (1) ผู้ใดกระทําการจัด ทํา ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือถอนการสมัคร หรือกระทําการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกหรือได้รับเลือก หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด
ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท 2 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปี
ดีเอสไอใช้อำนาจอะไรปิดหมาย
ย้อนไปวันที่ 9 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ บุกไปปิดหมายแจ้งข้อกล่าวหากับ สว. ถึงบ้านพัก ทั้งใน กทม. และ ในต่างจังหวัด เป็นภาพที่ “ผิดแผก” ไปจากการดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาตามปกติของ กกต.
เพราะตามปกติแล้ว กกต.ใช้วิธีส่งเจ้าหน้าที่ไปยื่นหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา หรือ ส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาผ่านไปรษณีย์
ตัวอย่างเช่น กกต.แจ้งข้อกล่าวหากับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ในคดีถือหุ้นสื่อ กกต.มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหายังที่ทำกาพรรคอนาาคตใหม่ และ ส่งหนังสือไปที่บ้านของธนาธร โดยมีทนายความเป็นผู้รับหนังสือ
อย่างไรก็ตาม การที่ดีเอสไอ “ปูพรม” ส่งเจ้าหน้าที่ – ตำรวจ ไปแจ้งข้อกล่าวหาโดยวิธี “ปิดหมาย” ที่บ้านของ สว.สามารถทำได้ ตามมาตรา 43 วรรคสอง ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 กำหนดว่า
ให้เจ้าพนักงานจะแจ้งโดย ”วิธีปิดหมาย“ หรือ “ส่ง ณ ภูมิลําเนา“ หรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือ ”แจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์“ ก็ได้ ตามวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกําหนด และเมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว
และในหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา ยังอ้างถึง ข้อ 54 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 ที่ขยายความเรื่องการแจ้งข้อกล่าวหา
ทั้งนี้ ข้อ 54 ของระเบียบดังกล่าว กำหนดให้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนแจ้งข้อกล่าวหา จัดทําบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา โดยเขียนข้อเท็จจริง พยานหลักฐานโดยสรุป 1 ฉบับ และเก็บไว้ที่คณะกรรมการไต่สวนอีก 1 ฉบับ
ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหา มีวิธีดังนี้
วิธีที่ 1 ส่งด้วยตนเอง
วิธีที่ 2 ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาทราบ ณ ภูมิลำเนา ที่อยู่ตามหลักฐานการสมัครรับเลือกตั้ง หรือ หลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือ ภูมิลำเนาทางการ
วิธีที่ 3 แจ้งโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์
วิธีที่ 4 แจ้งโดยวิธีปิดหมาย
โดยกรณี “ปิดหมาย” มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น โดยจะต้องปิดบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและหนังสือเชิญมาให้ถ้อยคําไว้ในที่ “มองเห็นได้ง่าย” ณ ภูมิลําเนาที่อยู่ตามของผู้ถูกกล่าวหา
โดยให้มีเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในท้องถิ่น หรือเจ้าพนักงานตํารวจเป็นพยานร่วมด้วยอย่างน้อย 1 คน
และให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาและกําหนดนัดดังกล่าวนับแต่ได้ดำเนินการปิดหมายแล้ว
สิทธิชี้แจงของ สว.
ขณะเดียวกัน มาตรา 43 วรรคหนึ่ง ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 ให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาไว้ว่า ต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหารับทราบรับทราบข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานโดยสรุป
“ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะให้ถ้อยคําหรือแสดงพยานหลักฐานภายในเวลาที่กรรมการหรือเจ้าพนักงานกําหนด และมีสิทธิที่จะให้ทนายความหรือบุคคลซึ่งไว้วางใจเข้าร่วมฟังการไต่สวนได้ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาให้ถ้อยคําหรือแสดงพยานหลักฐานภายในเวลาที่กําหนด ให้กรรมการหรือเจ้าพนักงานมีอํานาจดําเนินการไต่สวนต่อไปได้”
เกมเดือด ดีเอสไอ ล้ม สว.ยังเดินหน้าต่อ
แต่ท้ายสุดเกมนี้ต้องมีผู้แพ้ และ ผู้ชนะ และราคาของผู้แพ้อาจต้องจ่ายหนัก แบบแพ้หมดรูป