
คอลัมน์ : Politics policy people forum
วิกฤตการเมืองไทยภาคใหม่ผ่านสงครามตัวแทนระอุดุเดือดยิ่งยวด
ทั้งที่คู่ขัดแย้งในทศวรรษก่อน เหลือง-แดงมาผสมพันธุ์ ข้ามขั้วลดดีกรีความบาดหมาง กลับสวนทางคู่ขัดแย้งหลักใน พ.ศ.นี้ กลายเป็น แดงกับน้ำเงิน
ย้อนไปสิบกว่าปีก่อน นับตั้งแต่กลุ่มเพื่อนเนวินแยกตัวจากพรรคพลังประชาชน เมื่อต้นธันวาคม 2552 หลังเหตุการณ์การยุบพรรค พลิกขั้วจับมือพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล และถือกำเนิดพรรคภูมิใจไทย
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ร่างใหม่ของพรรคเครือข่ายทักษิณตกเป็นฝ่ายค้าน พรรคภูมิใจไทยได้เป็นกำลังสำคัญทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล
กระทั่งการเมืองต้องเว้นวรรคด้วยการรัฐประหาร 2557 แต่พอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กดปุ่มให้มีการเลือกตั้งในปี 2562 พรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่พรรคเพื่อไทยยังตกเป็นฝ่ายค้าน
4 ปีผ่านไป หลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 พรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาลกันครั้งแรก โดยพรรคภูมิใจไทยมีเสียงมากอันดับ 2 แต่นานวันความสัมพันธ์แดง-น้ำเงินไม่ได้ราบรื่น กลายเป็นว่าความขัดแย้ง 2 ฝ่ายยิ่งดุเดือด นับตั้งแต่ฝ่ายสีน้ำเงินยึดคุมวุฒิสภา (สว.) ได้สำเร็จ
ยกแรกศึกกัญชา
หากนับความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย-พรรคภูมิใจไทย ยกแรกในรัฐบาลเพื่อไทย ต้องย้อนไปในยุคที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ ภายหลังหารือกับหน่วยงานราชการเรื่องแนวทางแก้ปัญหายาเสพติด เมื่อ 8 พฤษภาคม 2567 พร้อมกับมีแนวคิดให้ดึงกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดอีกครั้ง
พรรคภูมิใจไทย ที่มีนโยบายกัญชาทางการแพทย์ คัดค้านทันที พร้อมกับเกิดภาพที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ร่วมก๊วนกอล์ฟที่แรนโช ชาญวีร์ ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
หลังการตีกอล์ฟจบลง รัฐบาลเศรษฐาก็ใส่เกียร์ถอย กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล มาสู่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
เกมล้ม สว.ฐานอำนาจน้ำเงิน
ต่อมาหลังจาก สว.สีน้ำเงินยึดกุมสภาสูงได้สำเร็จ ปรากฏว่าในเดือนกันยายน 2567 เริ่มมีกระบวนการล้ม สว.สีน้ำเงิน เมื่อมี สว.สำรองเข้ายื่นร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เอาผิด สว.สีน้ำเงิน เนื่องจากกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งไม่ถูกต้อง มีพฤติกรรมการ “ฮั้ว” เกิดขึ้น
เรื่องถึงขั้นดีเอสไอรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ เฉพาะคดีที่เกี่ยวกับ “ฟอกเงิน-อั้งยี่” เพื่อส่งสำนวนไปให้ กกต.ประกบกับคดีที่มีฐานความผิด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561
คณะอนุกรรมการไต่สวนของ กกต.ที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอ แจ้งข้อหา สว. 55 คน มีการกระทำเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 70
ผู้สมัครผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกําหนดตามมาตรา 36 (ผู้สมัครอาจแนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต.กำหนด) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 5 ปี
และเข้าข่ายผิดมาตรา 77 (1) ผู้ใดกระทําการจัด ทํา ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือถอนการสมัคร หรือกระทําการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกหรือได้รับเลือก หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนน หรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปี
พร้อมเปิดปฏิบัติการกระจายกำลัง “ปิดหมายเรียก” บ้าน สว.ใน กทม. และต่างจังหวัด เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม และให้มาชี้แจงวันที่ 19-21 พฤษภาคม
ซึ่งฝ่ายดีเอสไอมั่นใจว่ามีพยานหลักฐานมัดแน่น นอกจากเอาผิดด้านกระบวนการ ยังสาวไปถึงขบวนการจัดตั้ง สว.สีน้ำเงิน ขบวนการนี้ยังรวมถึงบุคคลในพรรคการเมือง คนที่มีตำแหน่งในสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ
ขณะที่ฝ่าย สว.ก็เอาคืน ด้วยการให้ สว. 81 คน ลงชื่อยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม กรณีรับสอบฮั้วเลือก สว. ฐานฟอกเงินเป็นคดีพิเศษ
และให้ สว. 92 คนยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม รองประธาน ในข้อกล่าวหาไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้พิจารณา
ซึ่งฝ่าย สว.ย่อมไม่ยอมง่าย ๆ มีการขู่ว่าจะยื่นหลักฐานเพิ่มต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. ว่ากระบวนการสอบสวนของดีเอสไอไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผิด พ.ร.บ.อุ้มหาย โดยมีรายงานว่า ก่อนที่ สว.ทั้ง 55 คนจะไปแก้ข้อกล่าวหาต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน กกต.-ดีเอสไอ จะรวมตัวซักซ้อมแนวทางกันล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายทางการเมืองของฝ่าย “ดีเอสไอ” แม้ไม่มี “อำนาจ” เอาผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา แต่ก็จะแทงเรื่องไปให้ กกต.พิจารณา ว่าจะสั่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งหรือไม่ และเป้าหมายต่อไปคือการให้ สว.สีน้ำเงินนับร้อยคนถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในสภา
ขวาง “คอมเพล็กซ์”
ท่ามกลางอุณหภูมิเดือดทะลุปรอทในเกมล้ม สว. โปรเจ็กต์ที่ชี้เป็น-ชี้ตายของรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งนับถอยหลังเหลือเวลา 2 ปี คือนโยบายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่มี “กาสิโน” เป็นส่วนประกอบ 10%
โปรเจ็กต์ดังกล่าวกลุ่ม สว.สีน้ำเงินประกาศชัดเจน ไม่เห็นด้วยกับการมี “กาสิโน” พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบ แม้ว่าพรรคภูมิใจไทยโดย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ประกาศไม่คัดค้าน แต่ก็แนะทางออกที่ดีที่สุดว่าควรทำประชามติ
“เมื่อนายกรัฐมนตรีผลักดันแล้ว ในฐานะนโยบายรัฐบาล ถ้าเป็น ครม.แล้วมันเป็นไปตามกฎหมาย ต้องช่วยกันสนับสนุน แต่ว่ามันไม่ได้จบตรงนี้ จะเข้าไปที่สภาก็ต้องพิจารณาตามขั้นตอน วาระต่าง ๆ มีการอภิปราย มีการตั้ง กมธ. และไปแปรญัตติ ซึ่งต้องใช้ข้อมูล ความเห็น สรุปว่ายังมอีกหลายขั้น และที่สำคัญที่สุดคือฟังเสียงประชาชน ถ้าดีที่สุดควรทำประชามติให้ประชาชนตัดสินใจ ในเมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ช่วยผลักดันเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียน ฟังแล้วดี ก็ถามประชาชนเลย พรรคภูมิใจไทยสนับสนุนทางนี้ เคยเสนอนายกฯไปแล้ว และท่านก็รับฟัง ถ้ามีประชามติทุกคนสบายใจ” อนุทินกล่าว
ทว่าร่างกฎหมายประชามติขณะนี้อยู่ในระหว่างการ “ถูกแขวน” ไว้ 180 วัน หลังจากร่างกฎหมายประชามติเกิดความเห็นแย้งระหว่าง สส. กับ สว. ในการนับเสียงข้างมากสองชั้น หรือ ชั้นเดียว กว่าจะกลับเข้ามาพิจารณาในสภา คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม และหากทำประชามติจะต้องนับเวลาเพิ่มไปอีก 3 เดือน
เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ อาจตอกเสาเข็มไม่ทันปี 2570
นี่คือสงครามแดง-น้ำเงิน สะเทือนไปทั้งกระดานการเมือง ที่สำคัญกัดกร่อนเสถียรภาพรัฐบาลแพทองธาร
อย่างยิ่ง