ครม.ไฟเขียว “ไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน” วงเงิน 5,000 ล้านบาท

โทเคน

ครม.ไฟเขียว “ไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน” ทางเลือกใหม่ในการระดมทุนของรัฐบาลวงเงิน 5,000 ล้านบาท

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ การขออนุมัติวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ด้วยการออก Government token หรือ G-token ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ 2548

เป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสและส่งเสริมการเข้าถึงการลงทุนที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชน โดยผลักดัน Token Digital ของรัฐบาลให้เป็นเครื่องมือการระดมทุนรูปแบบใหม่ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีการเงินมาประยุกต์ใช้ เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้ประชาชนเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ การออก G-token ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยรัฐบาลเน้นย้ำเรื่องระบบและกระบวนการที่ปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามกฎหมาย และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร

นายพิชัย​ ชุณหวชิร​ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง​ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการ “ไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน” เป็นทางเลือกใหม่ในการออมและการลงทุนให้กับประชาชน และเป็นการเพิ่มช่องทางการระดมทุนของรัฐบาล ซึ่งเบื้องต้นกำหนดวงเงินประมาณบวก/ลบ 5,000 ล้านบาท

ADVERTISMENT

“ยืนยันว่าจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงการลงทุนของประชาชนมากขึ้น ในสัดส่วนที่เหมาะสม รายย่อยสามารถเข้าไปถือได้ โดยผู้ถือหน่วยลงทุน หรือผู้ถือเครื่องมือการลงทุนไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคนนี้ จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนและถือ นับเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ ไม่ได้เป็นการพิมพ์เงินใหม่ทั้งสิ้น และไม่ได้เป็นประเภทคริปโตเคอเรนซีอย่างแน่นอน“

นอกจากนี้ ยังได้รับข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาพิจารณาทั้งหมด ยืนยันว่าไม่ได้เป็น Digital Payment ไม่เป็นตั๋วชำระสินค้า

โดยมีข้อดีคือ ประชาชนสามารถลงทุนในสัดส่วนน้อยในรูปแบบดิจิทัล ตั้งแต่หลักร้อยบาทเป็นต้นไป ทำให้รัฐบาลขยายฐานการลงทุนได้ เนื่องจากผู้ที่มีความสามารถในการลงทุนน้อยจะเข้าถึงรูปแบบการลงทุนดังกล่าวได้ และเป็นการวางรากฐานนวัตกรรม Digital Economy ด้วย ซึ่งรูปแบบการลงทุนเข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดหนึ่ง หากในอนาคตมีเครื่องมือการระดมทุน จะสามารถเข้าไปเทรดใน Digital Exchange ได้ และได้ผลตอบแทนที่มั่นคงและสม่ำเสมอ

ด้านนายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า คาดว่าจะสามารถออกได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ และอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ส่วนช่องทางการซื้อนั้น จะมีความคล้ายกับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา โดยผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งประชาชนจะสามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวก และมีความปลอดภัย