
กกต.ผนึกกับดีเอสไอ ออกหมายแจ้งข้อหาฮั้วเลือก สว. ลอตแรก
มี สว.โดนเรียกแล้ว 54 ราย ล้วนแต่ชื่อดัง ๆ หลายคนเป็นระดับ “คีย์แมน”
ในจำนวนนี้มี ประธานวุฒิสภา กับรองประธานวุฒิสภา รวมอยู่ด้วย
นั่นคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 9 พ.ค.
จะมีการเรียก สว. มารับข้อหาฮั้วเลือก สว. เพิ่มเติมอีก เป็นลอตที่ 2
หลังจาก สว.ที่ต้องข้อหา ชี้แจงต่อ กกต. จะเป็นขั้นตอนของการสรุปความผิด หนักสุด คือให้ใบแดง
แล้วส่งเรื่องให้ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ส่วนคดีพิเศษ คือฟอกเงินและอั้งยี่ ที่อยู่ในอำนาจของดีเอสไอ มีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องยาวเหยียด
ดีเอสไอ คงจะเรียกแจ้งข้อหา สำหรับคดีเป็นความผิดทางอาญา ต้องไปขึ้นศาลพิสูจน์กัน
บทลงโทษมีทั้งปรับและจำคุก
การสอบสวน สว.กลุ่มก้อนใหญ่ ในความผิดเรื่องแบบนี้ เป็นเรื่องใหญ่ และแทบไม่เคยปรากฏมาก่อนในการเมืองไทย
ที่ผ่านมา สว. มาจากแต่งตั้ง จากอดีตข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจที่มีเครือข่ายกับภาครัฐ เข้ามาแล้วก็มีการระวังเนื้อระวังตัวพอสมควร
ด้วยบทบาทหน้าที่ ทั้งพิจารณากฎหมาย และแต่งตั้งบุคคลเข้าทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ เป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว
ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช., ศาลรัฐธรรมนูญ, กกต. ฯลฯ อันเป็นหน่วยงานที่กำหนดชะตากรรมการเมือง
ล้วนแต่ต้องผ่านด่านนี้ทั้งนั้น
รอบนี้ สว. ต้องมาเผชิญคดี ย่อมเกิดผลสะเทือน
เริ่มมีการถามว่า ปลายเดือน พ.ค.นี้ สภาจะเปิดสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2569
จะเกิดการตีรวน เล่นเกมเขย่าร่าง พ.ร.บ.งบฯหรือไม่
ทั้งจากพรรคการเมือง ในสภาผู้แทนฯ หรือในขั้นตอนที่ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ต้องผ่าน สว.
เพราะร่าง พ.ร.บ.งบฯฉบับนี้ ถ้ามีปัญหา จะกระทบสถานะของรัฐบาล
อาจถึงขั้นลาออก หรือยุบสภากันเลยทีเดียว
เรื่องนี้ น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี โฆษกพรรคภูมิใจไทย ออกมาปฏิเสธว่า ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล มีรัฐมนตรีที่กำกับดูกระทรวง ซึ่งมีส่วนร่วมจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ไม่มีเหตุที่จะไม่สนับสนุนการจัดสรรงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา และแก้ปัญหาประเทศ
ขณะที่ นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาบอกว่า ไม่อยากให้สังคมคล้อยตามข่าวเช่นนี้
พ.ร.บ.งบประมาณไม่ใช่ของพรรคเพื่อไทย พรรคเดียว หากไม่ผ่านจริง ๆ รัฐบาลมี 2 ทางเลือก คือ นายกรัฐมนตรีต้องลาออก หรือยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่
ไม่อยากให้ข่าวที่ออกมาโจมตีพรรคภูมิใจไทย สร้างความไม่น่าเชื่อถือให้รัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่ นายดนุพรกล่าวว่า ใช่ เพราะผู้ใหญ่ในพรรค หรือแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี บอกเสมอว่า ได้พูดคุยกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างใกล้ชิดมาตลอด หรือบางครั้งก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาพูดคุยอยู่บ่อยครั้ง ทุกคนยืนยันว่าพร้อมที่จะสนับสนุนเรื่องงบประมาณ และกฎหมายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่จะเข้าสู่สภา
นายดนุพรกล่าวว่า เป็นธรรมชาติของการเมือง ก่อนที่จะมีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เข้าสู่การพิจารณาของสภา ถือเป็นสองครั้งที่จะสามารถล้มรัฐบาลได้คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่เมื่อไม่ผ่าน รัฐบาลต้องไป
เมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านไปเรียบร้อย และนายกฯได้รับเสียงสนับสนุนท่วมท้นสามารถอยู่ต่อได้ จะมีอะไรบ้างที่ทำให้รัฐบาลเกิดการสั่นคลอน นั่นก็คือเรื่องงบประมาณ
ทำให้ต้องมีการตีข่าวว่า รัฐบาลไปต่อไม่ได้แล้ว พรรคนั้นพรรคนี้ไม่โหวตให้ เพื่อที่จะเขย่าให้รัฐบาลลาออก เป็นเกมการเมือง
แต่เรายังเชื่อมั่นในพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคว่า เรายังสามารถร่วมกันได้ดี เมื่อถามว่า ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ยุบสภาใช่หรือไม่ นายดนุพรกล่าวว่า แน่นอน แม้การทำงานในพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะมีความเห็นต่างบ้าง ในบางประเด็น แต่ก็ไม่หนักหนาถึงขั้นที่จะพูดคุยกันไม่ได้
และเมื่อมีความเห็นต่าง ก็เชื่อว่าหัวหน้าพรรคจะสามารถพูดคุยกันได้
นั่นคือมุมมองจากโฆษกพรรค ทั้งจากภูมิใจไทยและเพื่อไทย ที่เชื่อว่า “คดี สว.” จะไม่กระทบถึงขั้นล้มรัฐบาล
ตามประสาคนในวงการเมืองย่อมรู้ดีว่า นี่เป็นปัญหาการเมืองที่ประมาทไม่ได้
แต่ในฐานะกระบอกเสียงของพรรค เรื่องยังไม่เกิดจะไปพูดก่อน ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับใคร
มีแต่จะต้องรอดูว่า คดีจะเคลื่อนตัวไปแบบไหน
และจะยุติลงในแบบที่คาดหมายกันไว้หรือไม่