
สุชาติ ชมกลิ่น รับ นายกฯ แพทองธาร ลงพื้นที่จันทบุรีรับฟังปัญหาเกษตรกรชาวสวนผลไม้ เตรียมมาตรการช่วยเหลือทั้งขายในประเทศและส่งออก สั่งเร่งแก้ปัญหาโดยจัดตั้ง One Stop Service ลดขั้นตอนส่งออก-กฎหมายควบคุมทุเรียนอ่อน โดยมีเอกชน 27 รายร่วมรับซื้อผลไม้กว่า 103,760 ตัน
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากเกษตรกรชาวสวนผลไม้และผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออก เมื่อเวลา 13.30 น. ณ บริษัท ดรากอนเฟรชฟรุท จำก้ด อ.มะขาม จ.จันทบุรี โดยมี สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, อิทธิ ศิริลัทธยากร
อัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, วรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ พงศกร อรรณพพร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดจันทบุรี เข้าร่วม
สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยเกษตรกรชาวสวนจันทบุรี จึงได้ลงพื้นที่เพื่อมาติดตามสถานการณ์พร้อมเตรียมมาตรการช่วยเหลือผลผลิตของชาวสวนผลไม้อย่างเต็มที่ ทั้งการจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกไปต่างประเทศ เพื่อให้ชาวสวนผลไม้จ.จันทบุรี ได้ขายผลไม้ในราคาที่ดี มีรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
โดยกิจกรรมที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้เร่งขับเคลื่อน ซึ่งเป็นความร่วมมือกับภาคเอกชนในการระบายผลผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในช่วงฤดูผลผลิตล้นตลาด เพื่อพยุงราคาผลไม้และเสริมสร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกร
โดยมีภาคเอกชน 27 ราย จาก 9 กลุ่มธุรกิจ เข้าร่วมรับซื้อผลไม้จากเกษตรกรรวมกว่า 103,760 ตัน อาทิ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด, ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด, ห้างค้าปลีกอย่างเซ็นทรัล บิ๊กซี โลตัส และยังมีองค์กรสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ไปรษณีย์ไทย ตู้เต่าบิน และกรมราชทัณฑ์ ซึ่งร่วมจัดซื้อผลไม้ไปใช้ในกิจกรรม CSR และสนับสนุนภายในหน่วยงาน
สุชาติ กล่าวต่อว่า ในด้านนวัตกรรมการตลาด กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด (เต่าบิน) ลงนาม MOU รับซื้อผลไม้จากเกษตรกรจำนวน 1,000 ตัน เพื่อแปรรูปเป็นเครื่องดื่มผลไม้ปั่นสด พร้อมจำหน่ายผ่าน “ตู้เต่าปั่น” เริ่มในกรุงเทพฯ เดือนมิถุนายนนี้ และขยายทั่วประเทศ 7,500 ตู้ภายในเดือนกรกฎาคม ถือเป็นช่องทางใหม่ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง
อีกหนึ่งความร่วมมือสำคัญ คือการร่วมกับบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด รับซื้อผลไม้จากเกษตรกร 1,000 ตัน เช่น ลำไย มังคุด และสับปะรดภูแล เพื่อนำไปแปรรูปจำหน่ายบนเที่ยวบิน ใน Snack Box และร้านค้าในสนามบิน เริ่มดำเนินการตั้งแต่สิงหาคม 2568 ถึงสิงหาคม 2569 เพิ่มมูลค่าและสร้างตลาดใหม่ให้ผลไม้ไทยในกลุ่มผู้เดินทาง
นอกจากนี้ในด้านการส่งออก รัฐบาลตั้งเป้าดันผลไม้ไทยสู่ตลาดต่างประเทศ 4.13 ล้านตัน มูลค่ากว่า 308,000 ล้านบาท โดยเน้นตลาดศักยภาพ เช่น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ CLMV และตะวันออกกลาง ผ่านมาตรการตรวจรับรอง GAP การตั้งศูนย์ “Set Zero” และ War Room เพื่อผลักดันการส่งออกเร่งด่วน รวมถึงกิจกรรมเจรจาการค้าในต่างประเทศ
นายกรัฐมนตรีได้รับฟังข้อเสนอของเกษตรกรและผู้ประกอบการโดยตรง และสั่งการให้เร่งแก้ปัญหาเชิงระบบ เช่น การจัดตั้ง One Stop Service ด้านเอกสารส่งออก ลดขั้นตอนที่ล่าช้า การควบคุมคุณภาพผลผลิต และการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการจำหน่ายทุเรียนอ่อน รวมถึงการส่งเสริมการบริโภคในประเทศและการใช้ Soft Power เช่น อินฟลูเอนเซอร์ระดับโลก เพื่อโปรโมทผลไม้ไทยสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในแผนการสื่อสารการตลาดของกระทรวงพาณิชย์
“กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการเร่งด่วนทั้งในเรื่องคุณภาพผลผลิต ราคาที่เป็นธรรม และการผลักดันการส่งออกอย่างเต็มที่ ตามแผนบริหารจัดการผลไม้ปี 2568 มีเป้าหมายรวม 950,000 ตัน ครอบคลุมการตลาดภายในประเทศ การส่งออก การแปรรูป และการยกระดับคุณภาพผลไม้ไทยอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม มั่นคง และยั่งยืนตลอดฤดูกาล” สุชาติ กล่าวปิดท้าย