เสียงสั่ง “ทักษิณ” ทะลุ “เพื่อไทย” คลิปต้านดูด คสช.-เสี่ยงยุบพรรค ?

สถานการณ์ในพรรคเพื่อไทยปั่นป่วน อลหม่านจากควันหลงคลิปวิดีโอข้ามโลกของ “ทักษิณ ชินวัตร”

คนที่คอการเมืองก็รู้ว่ายิ่งใหญ่แค่ไหนในพรรคเพื่อไทย ออกมาพูดสู้พลังดูดในงานเลี้ยงวันเกิดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ถึงขั้นอาจทำให้พรรคเพื่อไทยเสี่ยงที่จะถูกยุบ !

ในคลิปวิดีโอดังกล่าวถูกผ่านไลน์กลุ่มของ ส.ส.เพื่อไทย ก่อนจะกลายเป็นคลิปไวรัลบนโลกโซเชียลมีเดียนั้น เป็นภาพ “ทักษิณ” กำลังพูดผ่านวิดีโอคอลมาที่กลุ่มแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่รวมตัวกันออกรอบตีกอล์ฟที่สนามกอล์ฟอัลไพน์เมื่อ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกฯเป็นหัวขบวน

ในคลิป “ทักษิณ” กล่าวว่า “คือชนะทุกเขต ชนะทุกเขตทั้งอีสาน ไอ้พวกที่ไปผมกำลังบอกว่าจะทวิตเตอร์ขอบคุณคนที่ออกจากพรรคไปหน่อย เพราะเป็นคนที่เสียสละอย่างยิ่งที่ได้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เป็นผู้แทน”

“ใครที่อยากออกจากพรรคไปมีสองประการ ประการที่หนึ่งคือไปเก็บสตางค์แล้วเลิกเล่นการเมือง เพราะพวกนี้หน้าโง่จ่ายแพง เก็บสตางค์ไปพักผ่อนซะ

อีกประเภทหนึ่งคือว่ามั่นใจในตัวเอง ลืมไปว่าคะแนนตัวเองสู้คะแนนพรรคไม่ได้มาโดยตลอด มาเที่ยวนี้ได้เอาเด็กรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมาแทนบ้าง เดี๋ยว จ.เลย จ.นครราชสีมา ต้องเอาคนรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมาแทน ดีมากเลย”

“นี่…ผมเป็นพวกไมค์ ภิรมย์พร…. ไปดีเถอะนะพี่ขออวยพร”

ครอบงำโทษถึงยุบพรรค

เท่านี้… ก็เป็นเหตุให้ “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง สั่งให้ฝ่ายกิจการพรรคการเมืองของ กกต.ตรวจสอบ

ข้อเท็จจริงที่เก็บไว้ก่อน ซึ่งกรณีของ “ทักษิณ” เข้าข่ายครอบงำ ควบคุมหรือไม่… ยังประเด็นข้อกฎหมาย เมื่อมีเหตุปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง สามารถสั่งให้กิจการพรรคการเมืองรวบรวมข้อเท็จจริงมาว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายระบุชัดว่า หากพิสูจน์ได้ว่าพรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค “ครอบงำ” ก็จะเข้าข่ายผิด พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 28 ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํากิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้ พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

ส่วน “ทักษิณ” จะเข้าข่ายทำผิด มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม และหากพรรคเพื่อไทยยินยอมให้ถูกครอบงำ ก็จะมีความผิดตามมาตรา 92(3) โทษถึงขั้นยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรค

กรธ.ยันไม่มีธงเล่นงานใคร

“อุดม รัฐอมฤต” โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญพรรคการเมืองที่ห้ามบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเข้าครอบงำพรรคว่า กรธ.ต้องการให้พรรคการเมืองบริหารด้วยสมาชิกพรรค เพราะในอดีตที่ผ่านมา มีนายทุนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้ามาครอบงำ หรือคนต่างชาติที่อาจเข้ามาครอบงำพรรค

“ถ้ามีเงินแล้วไม่เป็นสมาชิกพรรคจะซื้อพรรคได้ไหม ก็ไม่ควรทำเช่นนั้นถือเป็นเรื่องผิด กรธ.เข้าใจว่าพรรคต้องการใช้เงินในการทำกิจกรรมพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคใหญ่ แต่อยากให้สมาชิกพรรคเป็นผู้ร่วมดำเนินการ ไม่ให้บริหารโดยคนนอก หรือใช้เงิน ใช้อำนาจมาบริหาร ยืนยันว่า ไม่ได้เขียนกฎหมายขึ้นมาเพื่อกลั่นแกล้งหรือสกัดใครคนใดคนหนึ่ง ทุกพรรคต้องใช้กฎหมายเดียวกันไม่ว่าพรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก”

พท.ชี้แค่ความเห็นไม่ครอบงำ 

ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย จึงตั้งการ์ด ตั้งป้อมถกกันถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้ง “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ประธานฝ่ายกฎหมายพรรค หรือ “จาตุรนต์ ฉายแสง” แกนนำพรรค ตอบเป็นทำนองเดียวกันคือ การแสดงความเห็นของ “ทักษิณ” เป็นการแสดงความคิดเห็นปกติ ไม่ได้เป็นบทสนทนาที่ครอบงำพรรค

แหล่งข่าวในฝ่ายกฎหมายพรรค กล่าวว่า “คุณทักษิณก็ไม่ได้พูดในลักษณะครอบงำพรรค ว่าต้องทำอย่างนั้นหรือทำอย่างนี้ หรือแกนนำพรรคบอกว่าจะทำตามที่คุณทักษิณบอก แต่เป็นการสนทนาและแสดงความเห็นทั่วไปในงานเลี้ยง ไม่เป็นการครอบงำ”

สู้พลังดูดรอบทิศ 

พรรคเพื่อไทยยังต้องระทึกต่อไป เช่นเดียวกับสถานการณ์ในพรรคที่ยังสับสนอลหม่าน ไม่เพียงต้องเจอผลกระทบจากวิดีโอคลิปข้ามโลกของ “ทักษิณ ชินวัตร” เพื่อเอาชนะ “พลังดูด” ของนักการเมืองเครือข่ายทหาร กลุ่มตระกูล “ส.” สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้ากลุ่ม-มุ้ง ตั้งแต่ไทยรักไทย กับอีกหนึ่ง ส. “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ ที่ไม่เปิดเผยกาย แต่อยู่ภายใต้กลุ่มชื่อ “สามมิตร”

ไล่ดูดลูกหาบเพื่อไทยตั้งแต่เกรดซี เกรดบี ยันนักการเมืองเกรดเอ ดีกรีระดับรัฐมนตรี ทีละจังหวัด ทีละกลุ่ม จนเขื่อนแตก ที่จังหวัดเลย อันเป็นพื้นที่ภาคอีสานเหนือ มี “ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข” อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คุมจังหวัดอยู่

ภายหลังการ “ดูด” นอกจาก “ปรีชา” ที่ต้านทานแรงดูดไม่ไหว ยังมี 2 อดีต ส.ส. “เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข” ซึ่งเป็นภรรยาของ “ปรีชา” และ “วันชัย บุษบา” แสดงตนจะไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ

แหล่งข่าวจาก ส.ส.เพื่อไทยอีสานเหนือตอนบน ชี้ภาพรวมการ “ดูด” ในพื้นที่ในภาคอีสานหลังการ “วิดีโอคอล” ข้ามโลกของ “ทักษิณ” ว่า คนที่ไปมีเหตุผลความจำเป็น ทั้งมีคดี และมีหนี้สินจากการพนันเยอะ ซึ่งเป็นเหตุผลส่วนบุคคลที่เข้าใจได้ ซึ่งขณะนี้คนที่ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐยังมีเท่าที่ปรากฏเป็นข่าว แต่อดีต ส.ส.ส่วนใหญ่ก็ยังเหนียวแน่นกับพรรค ที่จะไปก็คือแถว 3 แถว 4 ที่ไม่มีพื้นที่ลงสมัครเลือกตั้งมากกว่า

เบื้องหลังเพื่อไทยอุบลฯแตก 

ขณะที่อีสานตอนล่าง ข่าวหนาหูว่า “สุพล ฟองงาม” อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชาชน และ รมช.มหาดไทย ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ที่ปักหลักใน จ.อุบลราชธานี เตรียมย้ายซบพรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย “สุทธิชัย จรูญเนตร” อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพราะมีความขัดแย้งกับ “เกรียง กัลป์ตินันท์” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ดูแลพื้นที่ จ.อุบลฯ เรื่องการส่งผู้สมัคร จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากฝั่ง “เกรียง” ได้ทาบทาม“รัฐกิตติ์ ผาลีพัฒน์” จากชาติไทยพัฒนา ซึ่งชนะเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 5 จ.อุบลฯ รอบล่าสุด 2 ก.พ. 2557 ชนะ “สุทธิชัย” เจ้าของพื้นที่เดิม ซึ่ง “รัฐกิตติ์” ตอบตกลง และผู้ใหญ่ในเพื่อไทยก็เห็นชอบ แต่ “สุทธิชัย” ขอลงเขตเดิม แต่กลุ่มของ “เกรียง” ปฏิเสธ

ขณะที่ จ.ขอนแก่น อดีตผู้แทนเดิมหายไป 3 คน คนแรก อดีตประธานรัฐสภา ผู้มีสมญาว่า “ขุนค้อน”-สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ก็ขอเว้นวรรคทางการเมือง ไม่ลงสมัคร ให้เหตุผลว่ามีคดีติดตัว จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด “สมศักดิ์” รู้เห็นให้มีการสลับสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญ และยื่นอัยการสูงสุดให้ดำเนินคดีทางอาญา

คนที่สอง “นวัช เตาะเจริญสุข” อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถูกดำเนินคดีในข้อหาจ้างวานฆ่าปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และคนที่สาม “ภูมิ สาระผล” อดีต รมช.ช่วยพาณิชย์ ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก จากกรณีทุจริตโครงการจำนำข้าว

ภาคกลางไม่กล้าไปไหน

“อำนวย คลังผา” อดีต ส.ส.ลพบุรี ยืนยันว่า ตนได้เช็กข่าวในพื้นที่ภาคกลางยังมีความมั่นคงอยู่ และอดีต ส.ส.เดิมก็ยังอยู่ครบ โดยเฉพาะอดีต ส.ส.เกรดเอที่เคยเป็นรัฐมนตรี เพราะยังเชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะนโยบาย มากกว่า คสช.ยิ่งมีข่าวว่า ส.ส.ที่ถูกซื้อตัวไปได้รับค่าตัว 30-50 ล้านบาท ยิ่งเป็นจุดบอด ทำให้ประชาชนไม่เลือก

ยิ่งเข้าใกล้โหมดเลือกตั้งมากเท่าไหร่ กระดานการเมืองยิ่งสั่นไหว

และพรรคที่ไหวที่สุดคือพรรคเพื่อไทย ที่ต้องสู้ทั้งศึกใน และศึกนอกคือคลิปทักษิณที่กลายเป็นอุบัติเหตุพาพรรคเพื่อไทยเข้าสู่แดนอันตรายอีกครั้ง