
ครบรอบ 11 ปี รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 “บิ๊กอ้วน” นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า ทหารมีหน้าที่รักษาความมั่นคงและอธิปไตยของประเทศ
เมื่อสังคมมีปัญหาจึงเลือกใช้รัฐประหารเป็นทางออก แต่พลเรือนมองว่า ประชาธิปไตยควรพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยความอดทน ไม่ใช่การตัดตอนด้วยวิธีลัด การรัฐประหารจึงเป็นมุมมองที่แตกต่าง แต่ไม่ว่าเลือกแนวทางไหน ต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และยอมรับหลักประชาธิปไตยร่วมกัน
เหตุการณ์รัฐประหารควรเป็นบทเรียนให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า ระบอบประชาธิปไตยมีกติกาที่ต้องอาศัยความอดกลั้น การใช้กระบวนการที่มีอยู่ในระบบ เช่น การแสดงออกหรือการชุมนุมตามสิทธิรัฐธรรมนูญ เป็นหนทางที่ควรใช้ให้เต็มที่ เพื่อแก้ไขปัญหา มากกว่าการใช้กำลังหรือทางลัด ที่ย้อนแย้งกับหลักประชาธิปไตย
เมื่อถามว่า เหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 จะเป็นครั้งสุดท้ายของประเทศหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่มีใครรับรองได้อย่างชัดเจนว่าจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก แต่ยืนยันว่าจากการได้ทำงานร่วมกับผู้นำเหล่าทัพในปัจจุบัน พบว่ามีมุมมองที่ก้าวหน้าและทันสมัยมากขึ้น เข้าใจบริบทโลกและผลกระทบจากการใช้อำนาจทางการเมือง
รัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ แต่ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าจะไม่มีอีกเลย หากไม่อยากให้เกิดขึ้น ต้องช่วยกันใช้กระบวนการที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ความเห็นต่างคือความหลากหลายของประชาธิปไตย เสียงส่วนใหญ่แม้อาจผิดพลาด แต่ระบบมีกลไกตรวจสอบไว้แล้ว
สังคมไทยกำลังก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และประชาชนเริ่มตระหนักถึงคุณค่าของสิทธิเสรีภาพ การรัฐประหารในรูปแบบเดิมอาจไม่เกิดขึ้นอีก แต่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเฝ้าระวังและสร้างความเข้าใจ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างสันติและยั่งยืน
นั่นคือมุมมองของ “รองภูมิธรรม” ที่น่าสนใจคือ “รัฐประหารรูปแบบเดิม” อาจไม่เกิดขึ้นอีก สะท้อนว่า บิ๊กอ้วนก็เช่นเดียวกับอีกหลายคน ที่มองว่า รัฐประหารหากจะมีหรือไม่มี อาจมีรูปแบบวิธีการที่เปลี่ยนไป อาจไม่มีรถถังหรือกำลังพลพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์
แต่ผลลัพธ์สุดท้ายคือ “การยึดอำนาจ” อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยวิธีการอื่น
ย้อนกลับไปที่รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 อันเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ของประเทศ เกิดขึ้นในตอนเย็นของวันดังกล่าว
รัฐบาลขณะนั้น มี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพการเป็นนายกฯรักษาการ
ในคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากเลขาธิการ สมช.
ก่อนหน้านั้นในเดือน ต.ค. 2556 รัฐบาลพรรคเพื่อไทย เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่เรียกว่านิรโทษเหมาเข่ง
เกิดการชุมนุมต่อต้านจากพรรคการเมือง บุคคลจากวงการ ราชการ นักธุรกิจ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามแก้ปัญหา ด้วยการยุบสภาในเดือน ธ.ค. 2556 จัดเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557
แต่การเลือกตั้งถูกขัดขวางอย่างหนัก มีการนำหีบบัตรและบัตรเลือกตั้งไปทิ้ง การจัดเตรียมสถานที่โดนขัดขวาง
ประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิ ถูกม็อบข่มขู่ไม่ให้เข้าไปใช้สิทธิ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังรักษาการนายกฯ ตามกฎหมาย สุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นรักษาการนายกฯ เมื่อ 7 พ.ค. 2557
กองทัพเข้ามามีบทบาทแก้ปัญหาข้อขัดแย้งด้วยการเรียกประชุมฝ่ายต่าง ๆ
ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ประกาศยึดอำนาจในตอนเย็นวันที่ 22 พ.ค. 2557
บรรดาแกนนำพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองถูกจับกุมคุมตัว
เริ่มต้นยุคอันยาวนานของรัฐบาล คสช. หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ
แม้ว่ารัฐบาล คสช.จะพ้นจากอำนาจไปแล้ว หลังเลือกตั้ง 2566
แต่ก็ยังมีรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นกฎหมายแม่บท ที่ยังคงมีผลบังคับใช้
และกำหนดโครงสร้างการเมืองของประเทศ
แม้รัฐประหาร 2557 เป็นความทรงจำที่นับวันสังคมอาจลืมเลือน
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมืองตามกรอบความคิดของรัฐประหารดังกล่าวยังดำรงอยู่
รวมถึง สว.ชุดล่าสุดที่เกิดกรณียุ่งยากขึ้น ก็เป็นผลจากกรอบความคิดดังกล่าว
ดังนั้นจึงมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาหลายครั้ง และล้มเหลวมาตลอด
การเลือกตั้ง 2570 คงจะเป็นไปตามกฎหมายแม่บทจากปี 2560
เป็นมรดกที่ส่งมอบจากอดีตไปสู่อนาคต