ยุทธศาสตร์ 2 พรรคทหาร รวบ 251 เสียงชู “บิ๊กตู่” นายก 2 สมัย

สมการต่อท่ออำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยเห็นเป็นเค้าลางมากขึ้น

เมื่อ 2 “พรรคการเมืองหน้าใหม่” ที่รวบรวม “นักการเมืองหน้าเก่า” จาก “สองบุคลิก” โดยมี “พรรคพลังประชารัฐ” และ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” เป็น “ตัวชูโรง” สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” เป็น “นายกฯสมัยที่ 2”

พ้นกับดักทักษิณคิด-เพื่อไทยทำ

ยุทธศาสตร์รัฐบาล-คสช.ที่มี “กุนซือ” ระดับ “มันสมอง” นั่งบัญชาการ-เดินเกม “ต่อสายตรง” จากกองบัญชาการ-ทำเนียบรัฐบาลถึง พรรคการเมืองด้วย “ข้อเสนอ” ที่ “ยากจะปฏิเสธ” มี “สนธยา คุณปลื้ม” แห่งพลังชล -“สกลธี ภัททิยกุล” อดีตขุนพลประชาธิปัตย์ เป็น “ต้นแบบ”

อีกหมาก-เดินเกมผ่าน “สายสัมพันธ์” กับ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” กล่าวขานกันในนาม “สามมิตร” มี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-สมศักดิ์ เทพสุทิน” เปิด “เกมดูด” นักการเมือง-ขุนพลประจำจังหวัด มี “ดีกรี” เป็นอดีต ส.ส.พรรคการเมืองเก่าทุกค่าย

โดยเฉพาะขุนพลภาคเหนือ-อีสานของพรรคเพื่อไทย เพราะต้องการตีไปยัง “ใจกลาง” ของพรรคเพื่อไทย-ตัดขั้วหัวใจ นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ให้สั่งการผ่านขุนพล-หัวคะแนนในพื้นที่

การออกตัวของ “สุริยะ-สมศักดิ์” จึงถูกวางหมาก-เดินสายดึงขุนพลพรรคเพื่อ “ตัดขาด” จากการคอนโทรลของนายทักษิณไม่ให้ประเทศต้องกลับไปสู่วังวนความขัดแย้งทางการเมืองแบบเดิม

ตีป้อมเพื่อไทยอีสาน

แน่ชัดว่านักการเมืองระดับ “เกรดเอ” ของเพื่อไทยที่ลงนามเป็นสัญญาใจร่วมเครือข่ายสามมิตรไปแล้ว คือ “ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข” อดีต ส.ส.เลย และอดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ส.ส.ในสังกัด “เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข” อดีต ส.ส.เลย-ภรรยาของ “ปรีชา” และ “วันชัย บุษบา” ซึ่งเลยถือว่าเป็นภาคอีสานเหนือ

ขณะที่อีสานตอนล่างที่ “สุพล ฟองงาม” อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชาชน ตัดสินใจหอบข้าวของออกจากเพื่อไทยไปซบอกพลังประชารัฐ แถมหนีบ “สุทธิชัย จรูญเนตร” อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยไปพร้อมกัน มีข่าวว่าจะมีส่วนร่วมในการจัดทัพผู้สมัครแถบอีสานใต้สู้กับพรรคภูมิใจไทย และเพื่อไทย

ขณะที่ “พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์” อดีตรองนายกฯในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่กลายมาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งทำพื้นที่อุบลฯมาช้านาน ก็หันหัวเรือตีจากนายใหญ่ทักษิณและเพื่อไทยไปอีกราย ไปช่วย “พลังประชารัฐ” จัดทัพอีสานใต้ด้วยเช่นกัน

ขุนพลเสื้อแดงสลับขั้ว

ขณะที่อดีตนักการเมืองขุนพลเสื้อแดงแถวสอง แถวสามก็ต้านแรงดูด “พลังประชารัฐ” ไม่ไหว เพราะมีคดีติดตัวยาวเป็นหางว่าว ที่ถอดเสื้อแดงไปอยู่กับฟาก คสช.ก่อนเพื่อน “สุภรณ์ อัตถาวงศ์” ยังไม่นับเสื้อแดงคนอื่น ๆ ที่อาจตัดสินใจจดปากการ่วมการเมืองกับพลังประชารัฐ

ส.ส.อีสานเพื่อไทยนับนิ้วเช็กลิสต์กันวุ่นว่าใครจะย้ายออก เบื้องต้นนับนิ้วได้ 10 ต้น ๆ ทั้งผู้สมัครแถวหน้า แถวสอง แถวสาม ก่อนหน้านี้ “สุริยะ-สมศักดิ์” เดินสายดูด “ตระกูลการเมือง” อาทิ “ตระกูลเชิดชัย” อัสนี-ลินดา เชิดชัย “ตระกูลรัตนเศรษฐ” วิรัช-ทัศนียา-อธิรัฐ รัตนเศรษฐ 

ประกาศหนุน “บิ๊กตู่” 

“สุริยะ-สมศักดิ์” เปิดตัวสมาชิก- “คนบ้านใหม่” ประชารัฐกว่า 50 ชีวิตที่สนามกอล์ฟไพน์เฮิร์สทฯ อาทิ นายปรีชา นายอนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส.ชัยนาท พรรคภูมิใจไทย นายจำลอง ครุฑขุนทด อดีต ส.ส.นครราชสีมา

นายสมคิด บาลไธสง อดีต ส.ส.หนองคาย นายภิรมย์ พลวิเศษ อดีต ส.ส.นครราชสีมา นายเวียง วรเชษฐ์ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด นายสรชาติ สุวรรณพรหม อดีต ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคภูมิใจไทย และ น.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต ส.ส.ขอนแก่น

“สุริยะ” ยอมรับบนเวทีดูด-ณ สนามกอล์ฟไพน์เฮิร์สทฯว่าเป็นการ “เปิดตัว-เปิดหน้า” กลุ่มสามมิตรอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ-สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

โดยประสานงานผ่านนายสมคิด-แม่ทัพเศรษฐกิจของรัฐบาล-คสช. “ตั้งเป้า” ให้พรรคพลังประชารัฐ “จัดตั้งรัฐบาล” ขณะนี้มีนักการเมืองระดับชาติ-ระดับท้องถิ่นแสดงความต้องการเข้ามาร่วมกับกลุ่มสามมิตรแล้วกว่า 100 คน

เปิดใจเบื้องหลัง “สามมิตร”

“อยากสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นนายกฯ ต่อไป ผมได้เข้าไปรู้เบื้องลึกว่าท่านจะทำต่อ และได้สื่อสารผ่านนายสมคิด รองนายกฯ รวมทั้งคุยกับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และแกนนำใหญ่ ๆ ของรัฐบาลมาตลอด เต็มใจที่จะช่วย พล.อ.ประยุทธ์”

“ตนไม่ได้ชอบการรัฐประหารเพราะเคยโดนมาตอนเป็นรัฐมนตรี โดนตราหน้าจากสังคม โดนคดี GTX 900 แต่สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาได้จน ป.ป.ช.มีมติตีตก”

“ครั้งนี้ได้เห็นความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าตั้งใจแค่ไหน ตอนอยู่พรรคไทยรักไทยตนทำเพื่อประเทศ ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง จึงอยากสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อไป เลยคิดจะมาตั้งพรรคพลังประชารัฐ”

“ผมเล่นการเมืองมาพรรคเดียวตลอดชีวิต คือ พรรคไทยรักไทย ตนอยู่พรรคไหนพรรคนั้นสบาย ได้เป็นรัฐบาล ส่วนนายสมศักดิ์ได้เป็น ส.ส.เมื่อไหร่ก็ได้เป็นรัฐบาลทุกครั้ง และจะไม่ทำให้ทุกท่านผิดหวังเพราะพวกเราคิดดีทำดี”

“แม้จะเหนื่อยหน่อยแต่เชื่อว่าอย่างไรเราต้องได้กลับมา พรรคพลังประชารัฐจะได้คะแนนเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาล และขอให้ทุกคนไปลงพื้นที่ถามความต้องการของประชาชนว่าต้องการนโยบายอะไร เพื่อมาสรุปเป็นนโยบายนำเสนอผู้นำพรรค”

“พรรคสุเทพ” เดินสายหนุน

อีก 1 พรรคการเมืองสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอีกคำรบ-พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่มี “สุเทพ เทือกสุวรรณ” อดีตเลขาธิการ กปปส.เป็นแกนนำ มี “ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เป็น “ตัวเชื่อม” นักการเมืองต่างอุดมการณ์ 2 พรรค

ถึงแม้ว่าการเปิดตัว “พรรคสุเทพ” จะสงวนท่าที-แทงกั๊กว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหรือไม่ ทว่า ทุกย่างก้าวของนายสุเทพยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้ทำหน้าที่เป็นนายกฯเพื่อนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

“สุเทพ” มีคิวเดินสายฟื้นมวลชน กปปส.ทั่วประเทศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โดย “ชูธง” ปกป้องสถาบัน-พิทักษ์รัฐธรรมนูญและเดินหน้าปฏิรูป

อุ้ม “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯคนนอก

ถึงแม้ทั้งพรรคพลังประชารัฐ-พรรครวมพลังประชาชาติไทย มี “จุดร่วม” เพื่อสนับสนุนให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรี “อีกสมัย” ทว่า การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะเลือกเป็น “นายกฯในบัญชี” หรือ “นายกฯนอกบัญชี” ยังมี “ปัจจัยเสี่ยง” เป็น “ตัวแปร” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องคบคิด

แนวทางที่ 1 พล.อ.ประยุทธ์เสนอตัวเป็น “นายกฯ ในบัญชี” พรรคพลังประชารัฐ หรือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย “พล.อ.ประยุทธ์” จะถูก “ตั้งตน” เป็นศัตรูของพรรคการเมืองที่เหลือทั้งหมดมิหน้ำซ้ำการผลัดออกจากตำแหน่งนายกฯ-หัวหน้าคสช.จะส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์ “หย่าขาด” จากอำนาจ “รัฏฐาธิปัตย์” เกิด “สภาวะเสี่ยง” ไม่สามารถคอนโทรลการเมืองช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ก่อน “เปลี่ยนผ่าน” ไปสู่ “รัฐบาลใหม่” หลังการเลือกตั้งได้

แนวทางที่ 2 หากทุกพรรคการเมืองมีจำนวนส.ส.ก้ำกึ่ง-ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย อาจจะรวมเสียง 2 พรรคบวกกับเสียง ส.ว.คสช.สรรหา 250 คน เพื่อให้ครบ 500 เสียง-เสนอพล.อ.ประยุทธ์ เป็น “นายกฯ คนนอก”…ที่มากับข้อเสนอที่ทุกพรรค “ไม่สามารถปฏิเสธ” ได้

“ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” นักวิชาการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้าวิเคราะห์ปรากฏการณ์พลังดูด ว่า พรรคพลังประชารัฐต้องดูดอดีตส.ส.ในพื้นที่ให้ได้จำนวน 120 เสียงขึ้นไป พรรคเพื่อไทยอาจจะลดลงมาเหลือ 160 เสียง พรรคประชาธิปัตย์อาจจะได้ 120 เสียงเช่นกัน เมื่อทั้ง 3 พรรคได้ 100 กว่าเสียงทั้ง 3 พรรค ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ที่ 1 แต่ก็ไม่ทิ้งขาด พอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้

สุดท้าย “พรรค คสช.” อาจจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์-แชร์เก้าอี้รัฐมนตรี-ลอยแพพรรคเพื่อไทยไปเป็นฝ่ายค้านพรรคเดียว…

นอกจากพรรคทักษิณชนะขาดลอย-แลนด์สไลด์