“ยิ่งลักษณ์”ขึ้นศาลสืบพยานคดีข้าวนัด 15 หวังนำทุกพยานเข้าสืบพยานในชั้นศาลจนครบ

เมื่อเวลา 08.40 น. วันที่ 7 กรกฎาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมทีมทนาย เดินทางมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขึ้นสืบพยานฝ่ายจำเลยนัดที่ 15 ในคดีโครงการรับจำนำข้าวด้วยสีหน้าเรียบเฉย

โดยมีบรรดาอดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรคและอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส.ขอนแก่น เป็นต้น ร่วมให้กำลังใจ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 จำนวน 1 กองร้อย โดยในครั้งนี้ยังคงมีการนำแผงเหล็กมากั้นโดยรอบบริเวณทางเข้าศาล พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่คอยยืนคุมผู้ที่จะเดินผ่านเข้าออกเพื่อการรักษาความปลอดภัยเหมือนเช่นเคย

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงความมั่นใจในพยานที่เหลือว่า ขณะนี้ยังเหลือพยานอีกหลายปาก ก็หวังว่าจะได้นำทุกพยานเข้าสืบพยานในชั้นศาลจนครบถ้วน ซึ่งการสืบพยานครั้งนี้มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่อยู่ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนพ้นจากตำแหน่งน่าจะให้ข้อมูลในระดับภาพรวมได้ ส่วนการแถลงปิดคดี ตนก็อยากแถลงด้วยวาจา แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของศาล ส่วนการไต่สวนจะยืดระยะเวลาหลังวันที่ 21 กรกฎาคม หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ แต่เราพยายามที่จะขอให้ได้สืบพยานทุกปาก ต้องอยู่ที่เวลาและคำถาม ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าเวลานี้จะจบเมื่อไร อย่างไร สำหรับความคืบหน้าคดีการชดใช้ค่าเสียหายจำนำข้าวทางละเมิดนั้น เราก็ได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองซึ่งอยู่ในขั้นตอนของชั้นศาลอยู่

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงปัญหาพืชผลการเกษตรราคาตกต่ำว่า อยากให้ภาครัฐเข้าดูแลกลไกทางตลาด ถ้าหากรัฐไม่เข้าดูแล เกษตรกรก็จะประสบปัญหาเป็นระยะๆ ซึ่งรัฐควรมีนโยบายถาวรเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงปัญหาการไหลออกของแรงงานต่างด้าวว่า แรงงานเป็นส่วนสำคัญของการทำพืชเศรษฐกิจ รัฐควรมีมาตรการและแผนรองรับ ตนคงไม่ก้าวล่วงในขั้นตอนปฏิบัติ แต่อยากให้คุยกันทั้งระบบทั้งวิธีการและปริมาณ เพื่อให้มีกฎหมายรองรับ

 

ที่มา : มติชนออนไลน์