คสช.ล็อกไทม์ไลน์-กม.เลือกตั้ง อุ้ม “พลังประชารัฐ” เข้าสภายกแผง

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กำลังเดินหน้าเหยียบคันเร่งดูดอดีต ส.ส.เต็มสูบ เตรียมไพร่พลสำหรับศึกเลือกตั้งที่จะก่อเกิดขึ้นในปี 2562

โดยมีนักการเมืองระดับเก๋าเกม ภายใต้กลุ่ม “สามมิตร” เป็น “ดีลเมกเกอร์” พุ่งเป้าเดินหมากทาบทาม-รวบรวม นักการเมืองภายใต้พรรคเพื่อไทย เขตภาคกลาง-อีสาน เป็นหลัก

กลุ่มสามมิตร-พปชร.เคลื่อนไหวกันเอิกเกริก ผิดแผกกับพรรคการเมืองอื่น ๆ โดยเฉพาะคู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทย แม้ถูกเจาะหลังบ้าน ตัดกำลังพลจนเริ่มร่อยหรอ แต่ไม่สามารถขยับตัวได้มากนัก เพราะติดคำสั่ง คสช. ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง จน 8 แกนนำเพื่อไทย ถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหาขัดคำสั่ง คสช.

กลุ่มสามมิตรโชว์พลังดูด

ล่าสุด “กลุ่มสามมิตร” โดย “ภิรมย์ พลวิเศษ” อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน มือระดับเดินเกมของกลุ่มสามมิตร ประกาศตัวเลขสมาชิกว่า

“วันนี้กลุ่มสามมิตรมีประมาณเกือบ 200 คนแล้ว จะขับเคลื่อนการเมืองด้วยการเอาความคิดแต่ละกลุ่ม แต่ละสี มากำหนดนโยบายทำงานให้ประเทศชาติ ที่ผ่านมาได้ไปแลกเปลี่ยนกับอดีต ส.ส. อดีต ส.ว. หลายจังหวัด รวมทั้ง นปช.อีสานกว่า 10 จังหวัด และอาจมี นปช.มากกว่า 500 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น”

พร้อมเปิดคิวการเมืองล่วงหน้าไม่ต่างกับการจัดประชุมพรรคการเมือง โดยใช้อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี เป็นสถานที่จัดงาน ทั้งนี้ หาก คสช.ไฟเขียวและแม้ว่ามีเสียงทักท้วงจากแกนของพรรคการเมือง 2 ขั้ว เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตร-พปชร. เคลื่อนไหว ว่าอาจจะขัดคำสั่ง คสช. เรื่องมั่วสุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน

แต่สุ้มเสียงของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. บวกกับเสียง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ผู้คุมเกมความมั่นคงให้ท้ายว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตร ไม่ผิดกฎ-คำสั่ง คสช.

“เขาไม่ได้คุยกันเรื่องต่อต้านอะไร ไม่ได้รวมตัวกันเพื่อปั่นป่วนทำให้เกิดความวุ่นวายในรัฐบาล ซึ่งการพูดคุยดังกล่าวเป็นเรื่องของบุคคล ไม่ใช่เรื่องการทำงานทางการเมือง” พล.อ.ประวิตรกล่าว

ท่าทีตอบโต้ของเพื่อไทยทำได้เพียงยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ระงับการจัดตั้ง พปชร. และกับกลุ่มสามมิตร ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2560 โดยเสนอผลประโยชน์ให้อดีต ส.ส.ย้ายพรรค อย่างไรก็ตาม หาใช่แค่อำนาจ-คำสั่งของ คสช.เท่านั้นที่ทำให้ พปชร. และกลุ่มสามมิตรได้เปรียบทางการเมือง ในยามที่ทุกพรรคนับถอยหลังเข้าสู่โค้งการเลือกตั้ง แต่ยังมี “กลไก” ตามรัฐธรรมนูญ-กฎหมายลูก ที่แฝงแท็กติกต่าง ๆ ที่ทำให้เกมนี้ พปชร.เหนือกว่าทุกพรรค

จนแกนนำเพื่อไทยจัดคิวเดินสาย “ปลุกกำลังใจ” นักเลือกตั้งในสังกัด แม้ว่าหนทางชนะเลือกตั้งปี”62 จะไม่ค่อยสดใส

ลุ้น 2 กกต.ใหม่ที่ยังว่างอยู่

เพราะเกมการเลือกตั้งต้องมี “กรรมการ” องค์กรที่ทำหน้าที่ดังกล่าวก็คือ กกต. กฎหมายลูกให้ “เซตซีโร่” กรรมการ กกต.ชุดเก่า เพื่อทำการสรรหาใหม่ และเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ให้ความเห็นชอบ กกต.ชุดใหม่ 5 คน จาก 7 ชื่อ มาเป็น “ว่าที่กรรมการ” คุมการเลือกตั้งปี 2562

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่ง กกต.ยังขาดอยู่ 2 ตำแหน่ง เพราะ สนช.ลงมติไม่เห็นชอบ 2 ราย คือ “พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า” กับ “สมชาย ชาญณรงค์กุล”

สถานการณ์นี้จึงโฟกัสไปยัง 2 ตำแหน่ง กกต.ที่เหลือ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 มาตรา 12 เปิดโอกาสให้มีการเปิดรับสมัครเพื่อเข้ารับการสรรหา หรือใช้วิธีให้คณะกรรมการสรรหา ทาบทามบุคคลที่มีความสุจริตเที่ยงธรรมเป็นที่ประจักษ์มารับตำแหน่งก็ได้ ดังนั้น กกต.จึงมีความสำคัญยิ่ง และเป็นผู้ชี้ขาดชัยชนะเลือกตั้ง

ในยามเลือกตั้ง ที่ กกต.แต่ละคนมี “อำนาจส่วนตัว” ถึงขั้นสั่งระงับการเลือกตั้งได้ทันที ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งได้ หากเห็นการกระทำ “อันอาจ” ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม

“ใบส้ม” และเกมต่อรอง 

ขณะเดียวกัน ในการเลือกตั้งปี”62 กกต.มีอำนาจเพิ่มขึ้นมา จากเดิมแจกแค่ใบเหลือง-ใบแดง แต่ครั้งนี้มีอำนาจแจก “ใบส้ม” ที่หมายความว่า ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่นทำให้การเลือกตั้ง หรือการเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมให้ กกต.สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือรับเลือกของผู้สมัครนั้นไว้ 1 ปี และในกรณีที่ผู้สมัครได้คะแนนอยู่ในลำดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง ให้สั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่

“ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ที่ตกผลึกกลไกการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 วิเคราะห์เกมการแจกใบส้มว่า ถ้า กกต.ให้ใบส้มหลังวันลงคะแนนเลือกตั้ง คะแนนเลือกตั้งจะกลายเป็น 0 ถูกเอาออกจากกระดาน คะแนนหายไปทั้งเขต และถูกระงับการสมัคร 1 ปี ซึ่งกลุ่มสามมิตรสามารถใช้เป็นเงื่อนไขในการต่อรองในการดูดอดีต ส.ส.เข้า พปชร.ได้ หากไม่ยอมมาจะถูก “ใบส้ม”

แท็กติกนับแต้มชิงตั้งรัฐบาล 

“ดร.สติธร” วิเคราะห์ต่อว่า ถ้าคะแนนเลือกตั้งสูสีกันมาก อาจใช้เกณฑ์รับรองผลเลือกตั้ง ที่จะต้องได้ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเปิดสภาผู้แทนราษฎร มาเป็นเครื่องต่อรอง โดย กกต.อาจจะกั๊กไว้ก่อน 5 เปอร์เซ็นต์ คือ 25 ที่นั่ง กล่าวคือ เพื่อไทยอาจประกาศว่าได้ 200 เสียง กกต.ประกาศรับรองผลมาแค่ 175 เสียง เพราะ กกต.กั๊กไว้ 5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เพื่อไทยไม่สามารถประกาศว่าเป็นพรรคอันดับหนึ่งได้ เปิดโอกาสให้ พปชร.ใช้โอกาสนี้ต่อรองพรรคต่าง ๆ เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล

ล็อกวันเลือกตั้ง 28 วัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมาถึงการ “นับเปอร์เซ็นต์” คะแนนเสียงในการเปิดสภา โรดแมปการเลือกตั้งตามตุ๊กตาของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คสช. ที่กำหนดวันไว้ 4 แบบ ซึ่งทั้ง 4 แบบ กกต.กำหนดโมเดลวันรับสมัคร-วันหาเสียงเลือกตั้ง และวันเลือกตั้งในแต่ละแบบแล้ว โดยทุกแบบจะมีเวลาหาเสียงเพียง 28 วัน

1.กกต.เปิดรับสมัครเลือกตั้ง 14-18 ม.ค. 62 วันเลือกตั้ง 24 ก.พ. 62

2.กกต.จะเปิดรับสมัคร 18-22 ก.พ. 62 มีการเลือกตั้ง 31 มี.ค. 62

3.กกต.เปิดรับสมัคร 18-22 มี.ค. 62 จะมีการเลือกตั้ง 28 เม.ย. 62

4.กกต.เปิดรับสมัคร 25 มี.ค. 62 มีการเลือกตั้ง 5 พ.ค. 62

แหล่งข่าวจากนักการเมืองเพื่อไทยประเมินว่า การหาเสียงน้อยย่อมเป็นผลดีกับผู้สมัครหน้าเก่า ที่ชาวบ้านรู้จัก เพราะไม่ต้องแนะนำตัว แต่จะลำบากสำหรับผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีเวลาหาเสียงน้อยยิ่งกว่าน้อย

อีกทั้งการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ตามกฎหมาย กกต.กำหนดว่า ห้ามมีป้ายหาเสียง ห้ามติดตามเสาไฟฟ้าเหมือนทุกครั้ง แต่ กกต.เขตต้องเย็บเล่มให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครัวเรือน ว่าในเขตเลือกตั้งมีใครบ้างเป็นผู้สมัคร จะเป็นอุปสรรคต่อพรรคเกิดใหม่ ไม่ใช่พรรคเก่า

ไม่แปลกที่ พปชร.เลือก “ดูด” นักเลือกตั้ง “หน้าเก่า” เจนสนามเลือกตั้ง ไม่ว่าแถว 1 แถว 2 แถว 3 มากกว่าหาตัวแทนผู้สมัครหน้าใหม่ถอดด้ามที่คนไม่รู้จัก เพื่อโกยคะแนนจากระบบเลือกตั้งใบเดียวได้ทั้งคน ทั้งพรรค และคะแนนเสียงอันดับที่ 2 ที่ 3 ไม่ตกน้ำ เพราะถูกนำมาคำนวณเป็นปาร์ตี้ลิสต์ ในสูตรคะแนนเสียง 7 หมื่นคะแนน เท่ากับได้ ส.ส. 1 คน

จับตาล้มไพรมารี่โหวต

ขณะที่ปม “ไพรมารี่โหวต” ถือเป็นอีก 1 เกม ที่สุดท้ายแล้ว คสช.อาจจะจำใจออกคำสั่งพิเศษ ม.44 ยกเลิก เนื่องจากการหาสมาชิกพรรคเพื่อทำการไพรมารี่ให้ครบทุกเขตเลือกตั้ง ซึ่งใช้สมาชิกกว่า 7,700 คน บวกกับการส่งผู้สมัครเลือกตั้ง จะต้องมีสาขาพรรคครบ 4 ภาค โดยแต่ละภาคต้องมีสมาชิก 500 คนขึ้นไป

การหาสมาชิกเพื่อทำไพรมารี่โหวตจึงเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก ยากสำหรับทุกพรรคการเมือง ไม่เว้นพรรคพลังประชารัฐ

อภินิหาร กลไกกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมาย กกต. และรัฐธรรมนูญ จะเป็นใบเบิกทางให้กลุ่มสามมิตร-พลังประชารัฐ เป็นแกนหลักต่อท่ออำนาจหลังเลือกตั้ง