“เขตรัฐ” รวมพลังประชาชาติไทย ปิดฉากวงจรอุบาทว์ ตัดขาดทุนในรัฐ

เพราะผู้เป็นพ่อ-ดร.เอนก เป็น “ไอดอล” จึงทำให้ “เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์” โฆษกพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ไม่ได้ให้ “คำจำกัดความ” ของ “งานการเมือง” ว่า หมายถึงการแสวงหาอำนาจ-ผลประโยชน์ แต่เป็นการทำงานเพื่อ “ส่วนรวม”

ถึงแม้ว่า “ดร.เอนก” จะเป็นถึง “หัวหน้าพรรคมหาชน” แต่เขารู้ตัวเองดีว่า การมี ส.ส.ในพรรค (มหาชน) เพียง 3 ที่นั่ง ไม่อาจทำให้เขาเข้ามาสู่อำนาจรัฐได้อย่างง่ายในพริบตาเดียว

มิหนำซ้ำเขายังถูกปรามาสจนทำให้เกิดเป็น “ไฟในใจ” กัดกร่อนเกิดเป็น “แค้นฝังลึก” มาโดยตลอด ทว่ากลับนำความ “โกรธแค้น” พลิกเกมกลับเป็น “ความมุ่งมั่น” เพื่อ “รอวันพร้อม” ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม-ไม่เล่นการเมืองน้ำเน่า

ผ่าทางตันการเมืองสุดโต่ง 

ระหว่างทาง…เขาถูกส่งไปเรียนต่อ ป.ตรี มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย คอมมอนเวลท์ สหรัฐ และ ป.โท ด้านการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยไคหนาน จีน สองมหาวิทยาลัย สองขั้วระบอบการเมือง-เศรษฐกิจ

“มันย้อนแย้ง ผมถูกดีดออกจากกรอบความคิดเดิม อยู่อเมริกา มีหัวคิดตะวันตกจ๋าเลย ชอบมากเสรีนิยม ต้องเป็นประชาธิปไตย ต้องเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ แต่เมื่อถูกส่งไปอยู่จีน เป็นช่วงเวลาที่อเมริกาประสบแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส ตลาดการค้าเสรีล้มเหลว แต่จีนในวันที่อเมริกา ยุโรปล้ม จีนกลับแบกโลกเอาไว้ได้”

“เป็นสิ่งที่กระตุกให้คิดว่า การเอากรอบความคิดของคนอื่นมาครอบ และปล่อยให้กลายเป็นตัวเรา ทำให้เราเชื่อว่าควรจะคิดแบบนั้นจริง ๆ มันทำให้เราเจอกับทางตัน”

“ทำไมคุณไม่เอากรอบนั้นออกมา แล้วมองสิ่งที่เรามีอยู่ สิ่งที่เราเป็น แล้วเลือกว่าอะไรที่ดี เหมาะสมกับคนไทยจริง ๆ ลองเลือกเอามาใช้สิ ทำไมคุณต้องมีทางเลือกแค่…ประชาธิปไตย หรือเผด็จการ”

“เราต้องหาความพอดีของแต่ละส่วน ไม่ใช่ไปสุดขั้ว ถ้าเอาแต่สิทธิ เอาแต่สิ่งที่ตัวเองต้องการ ทำให้เกิดความขัดแย้ง”

“หาความพอดีในแต่ละสิ่ง หยิบมาใช้ในแต่ละอย่าง สิ่งที่รวมกันอยู่แล้ว เพื่อเชื่อมกับความเป็นไทยเดิม เรารู้สึกอยู่ในใจลึก ๆ อยู่แล้วว่า มันคืออะไร เป็นบางสิ่งที่เราภูมิใจ”

เขายกเคส-ปฏิบัติการช่วยชีวิต 13 หมูป่าอะคาเดมี ที่ทำให้ประเทศไทยถูกแสงสปอตไลต์ฉายส่องจากทั่วทุกมุมโลก

กรณีเหตุการณ์ของหมูป่าเป็นตัวอย่าง เห็นแล้วว่า คนไทยทั้งประเทศส่งกำลังใจไปให้เขา แสดงให้เห็นว่า เรารักกัน มันงดงาม งดงามกระทั่งความรัก และความสามัคคีของเรา สามารถเชื่อมทั้งโลกเข้าหากันได้ เป็นพลังที่สามารถดึงทั้งโลกให้มาสนใจเรา เป็นความรัก เป็นความเป็นไทยที่แผ่ไปให้ทั่วโลกได้เห็น

“ณ นาทีนั้น เราคือมหาอำนาจ ณ นาทีนั้น เราหยุดความขัดแย้ง และถ้าเรารวมกันทำจริง ๆ ทำไมจะเป็นไปไม่ได้ ทำไมจะไปข้างหน้าไม่ได้ เพราะความเป็นไทยไม่ใช่เรื่องล้าหลัง ไม่ใช่เรื่องหน้าอาย”

ล้างระบอบคนนี้คิดพรรคนี้ทำ

“เขตรัฐ” สะท้อนมุมมองความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตว่า เกิดจากการเมืองแบบเก่า การเมืองที่ “คนนี้คิด พรรคนี้ทำ” การเมืองที่นักการเมืองถือตนเป็นผู้ที่เก่ง-รู้ดีกว่าคนอื่น

“การเมืองแบบนี้ต้องหมดไป ต้องดึงคนมีความรู้ ความสามารถ เข้ามาอยู่ในระบบพรรคการเมือง ทำการเมืองที่มีนโยบายเพื่อประชาชน เปลี่ยนการเมืองให้เป็นเครื่องมือ เป็นกระบอกเสียง และเดินลงไปหาประชาชน”

“ให้ผมเป็นนั่งร้านให้พวกท่านเหยียบขึ้นไป ไปสร้างนโยบาย ไปขับเคลื่อนประเทศด้วยตัวของท่านเอง ก้าวข้ามความขัดแย้ง เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาเป็นเจ้าของพรรคการเมือง”

เขาขายพรรค-กลไกรองรับเพื่อเป็น “หลักประกัน” ว่า ประชาธิปไตยจะไม่ใช่เป็นเพียง “พิธีกรรม”-“เซตฉาก” ให้คนเพียงกลุ่มหนึ่งเข้าสู่อำนาจ

“เรามีสภาผู้ก่อตั้ง เป็นอิสระ คอยตรวจสอบ มีคณะกรรมการวินัยและจริยธรรมพรรคกำกับ ถอดถอน ยื่นฟ้องนักการเมืองไม่ดีของพรรค”

“ต้องไม่สร้างนักการเมืองที่มีความคิดเก่า ต้องเป็นพื้นที่ที่ประชาชนจะมีสิทธิ มีเสียง ตีกรอบและสั่งการนักการเมืองให้ทำเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เล่นการเมือง”

ไม่แจกเงิน-ไม่ขายฝัน 

เขาฉายภาพแนว-วิธีการปั้นนโยบายเศรษฐกิจของพรรค โดยการ “เคาะประตูบ้าน” เพื่อผลิตนโยบายที่เป็นรูปธรรม-โครงการจับต้องได้ และ “ไม่ขายฝัน” ขณะที่นโยบายประชานิยมของรัฐบาลแต่ละยุคสมัย เขามองว่า มีทั้งข้อดี-ไม่ดี เช่น กองทุนหมู่บ้าน

“นโยบายของพรรค ถ้าเป็นประชานิยมในมิติที่จะทำให้ประชาชนกลายเป็นคนที่ทำอะไรไม่เป็น แบมือขอเงินอย่างเดียว เอาเงินไปให้ ไม่ทำ แต่จะนำศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพราะเป็นสิ่งที่สอนให้ยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง”

“ผมจะมองให้เป็นกลางมากที่สุด จะไม่มองอะไรเป็นขาวหรือดำ เพราะจะทำให้ไม่ก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่สามารถเอาอะไรมาต่อยอดได้ เพราะถ้าใจแคบไม่ฟังใครเลย แล้วประชาชน คุณจะฟังหรือ”

“เขตรัฐ” ถอดบทเรียนนโยบายเศรษฐกิจ-ลดความเหลื่อมล้ำของจีน เพื่อเป็นลายแทงของพรรค คือ การวางกรอบยุทธศาสตร์ระยะยาว เพราะเขาเชื่อว่า จำเป็นสำหรับประเทศไทย เพราะอย่างน้อยมีกรอบ-ทิศทางให้เดิน

“จุดแข็งของการบริหารเศรษฐกิจของจีน หรือเกือบทุกองค์กรบนโลกใบนี้ ก้าวหน้า ไปได้ดี ผู้นำออกแนวเผด็จการเกือบหมด เพราะธรรมชาติของมนุษย์ต้องการทิศทาง”

ทว่าเพียงแค่ระฆังการเมืองยกแรกดัง รปช. กับ อนค. ก็ถูก “จับคู่ชก” เพราะอุดมการณ์ทางการเมือง “สวนทาง” ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ-ยุทธศาสตร์ชาติ-แผนปฏิรูป

“ผมไม่คิดจะรื้อ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีสิ่งดี เพราะกฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ ทำให้ผมที่เป็นเพียงแค่อาจารย์ ได้มายืนอยู่ตรงจุดนี้ ไม่ใช่เห็นแต่นักการเมืองเดิม บวกกับป้องกันไม่ให้คนที่มีคดีอาญา โกงกิน กลับมาด้วย”

“ถ้าตั้งธงจะฉีกอย่างเดียว เปิดมานาทีแรก ผมก็ต้องออกเกมรบแล้ว ต้องหักร้าง ต้องสร้างความแตกแยกแล้ว ไม่มีอะไรดีขึ้น สุดโต่งไม่ได้ ต้องถามประชาชนด้วย”

สร้างการเมืองมิติใหม่

“ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการ หรือประชาธิปไตย มีทั้งส่วนดีและไม่ดี กรณี คสช.ก็เปรียบเสมือนเป็นกรรมการห้ามศึก ต้องเปิดใจ ถ้ากรรมการไม่เข้ามาตีกันนะ”

“ทหารออกมาปฏิวัติได้ เพราะเราติดอยู่กับวงจรเดิม นักการเมืองแบบเดิม ไม่ได้ฟังเสียงประชาชนส่วนรวม นักการเมืองที่คิดจะทำเพื่อตัวเอง เพื่อนาย เพื่อทุน เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก วงจรอุบาทว์จึงยังวนเวียนอยู่”

“ผมก้าวเข้ามาเพื่อจะหยุดวงจรนี้ ด้วยการสร้างพรรคการเมืองที่จะฟังประชาชน ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ให้ประชาชนเข้ามากำกับทิศทางของพรรคการเมือง และประเทศชาติ เพื่อให้ประชาชนเข้ามาหยุดวงจรอุบาทว์นี้”

“ถ้าเราอยากจะสู้ในสิ่งเหล่านี้ อยากจะสร้างมิติใหม่ อยากจะทำการเมืองแบบใหม่ เราต้องเข้ามาสู้ในระบบ แต่ต้องมีหน่วยกล้าตายจำนวนหนึ่งที่ออกมาและลุกขึ้นทำ อย่าไปกลัว”

“เขตรัฐ” จึงเป็นหน่วยกล้าตายในสมรภูมิการเมืองใหม่