“พรรณิการ์” อนาคตใหม่ ประชาธิปไตย ไม่ต้องแลกด้วยชีวิต

กระบอกเสียงพรรคการเมืองเกิดใหม่ให้เป็นที่รู้จักของประชาชน พรรค 1 มีแนวนโยบาย “ทวนกระแส-ก้าวหน้า” อีกพรรค 1 อยู่ในแทร็กของ “อนุรักษนิยม” ทว่ามี “จุดตัด” ที่แหลมคม เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า

“มีคนจำนวนมากในประเทศไทยที่รู้สึกว่า รอไปสักพักแล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง สุดท้ายจะชินไปกับมัน ความคิดแบบนี้ทำให้ประเทศไม่ไปไหน สุดท้ายมันไม่มีทางเกิดขึ้น”

“คนที่มีอำนาจและได้ผลประโยชน์อยู่ขณะนี้ ย่อมไม่เปลี่ยนมันอยู่แล้ว ส่วนคนที่เสียประโยชน์ แล้วนั่งคิดว่า เดี๋ยวทุกอย่างมันก็ดีขึ้นเอง ถามว่าใครจะมาทำให้มันดีขึ้น ใครจะทำ…?”

“ช่อ” พรรณิการ์ วานิช “โฆษกพรรคอนาคตใหม่” (อนค.) เปิดความคิด-กระตุก “คนรุ่นใหม่” ให้ “ก้าวกล้า” ออกมาจาก “กรอบความคิด” เพื่อนำมาสู่ “ความเปลี่ยนแปลง” ผ่าน “ประชาชาติธุรกิจ”

“ช่อ-พรรณิการ์” ผู้ผันผ่านจาก “อดีตผู้ประกาศข่าววอยซ์ทีวี” กระโจนสู่ “สมรภูมิการเมือง” ในบทบาท โฆษก อนค.

ประชาชนมีสิทธิ-มีเสียง

“สิ่งที่ต้องการจะเปลี่ยน คือ ทำให้ประชาชนมีสิทธิ มีเสียงจริง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องเบสิกที่สุด”

“นับตั้งแต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 86 ปี มีบางช่วงที่ประชาชนมีสิทธิ์ มีเสียงบ้าง แต่สุดท้ายมักจบลงไม่ค่อยดีเท่าไร เห็นชัดเจนที่สุด คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หรือพฤษภาทมิฬ”

“เปลี่ยนแปลงได้ไหม ได้ แต่เปลี่ยนแปลงบนราคาของชีวิตคน เราไม่คิดว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนควรจะต้องเสียชีวิตก่อนถึงจะได้ในสิ่งที่เรียกร้อง”

“โอเค มีความหมายกับคนรุ่นหลัง ลูกหลานของคุณ แต่มันแพงเกินไปหรือเปล่ากับการใช้ชีวิตแลกมาให้เสียงของประชาชนได้ยิน”

“ช่อ” ตั้งโจทย์-ตอบคำถามตัวเอง

ถึง “ความยาก” ของ “ความสำเร็จ” จากการตั้งพรรคที่เปรียบเสมือนเป็น “บันไดขั้นแรก” ในการนำไปสู่ “ความเปลี่ยนแปลง” ขั้นปฐมภูมิ

“พรรคเพิ่งตั้งจะได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้หรือเปล่ายังไม่รู้เลย แม้กระทั่งพรรคเพื่อไทย ที่คิดว่าได้ ส.ส. 200 ที่นั่ง ก็ยังไม่แน่จะได้เป็นรัฐบาล พรรคคุณจะได้ถึง 20 เสียงหรือเปล่า จะได้เป็นรัฐบาลเหรอ แล้วจะทำเรื่องนี้สำเร็จได้อย่างไร”

ทว่า 3 เดือนภายหลังจัดตั้งพรรค “ช่อ” เชื่อว่า สำเร็จไปแล้ว “ครึ่งหนึ่ง” และกำลัง on going ในเส้นทางสู่ “ความสำเร็จ” เพราะทั้ง “ธนาธร-ปิยบุตร” ออกเดินสายรับฟัง-แลกเปลี่ยนความเห็นกับประชาชนในต่างจังหวัดแล้วกว่า 40 จังหวัด ระยะเวลา 1 เดือน

“สิ่งที่ช่อ และอนาคตใหม่ทำ คือ ทำในสิ่งที่ควรทำ ตามวิถีอารยะที่ประชาชนจะพูดออกมาแล้วผู้มีอำนาจรับฟัง รัฐบาลรับฟังและเป็นของประชาชนจริง ๆ เราต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้”

“อีกสิ่งหนึ่ง คือ การเปลี่ยนแนวทางการทำงานของพรรคการเมือง ที่ผ่านมาอาจไม่ได้สู้กันที่นโยบายจริงจัง ต้องสู้กันด้วยนโยบาย สู้กันด้วยวิธีการทำงานที่เข้าถึงประชาชนได้มากกว่า แข่งกันเพื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล ไม่หวังเป็นฝ่ายค้าน”

4 ปี คสช. เสียง ปชช.ไม่ได้ยิน 

“บอกไม่ได้ว่า สิ่งที่ประชาชนบอกเราจะได้นำมาเป็นนโยบายได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยเราได้พิสูจน์ให้คนในพื้นที่เห็นว่า นโยบายของเราจะเกิดจากการรับฟังประชาชนจริง ๆ สำคัญที่สุด คือ การมีพื้นที่ให้คนได้พูด”

“สิ่งที่เราทำเสี่ยง มีทหารเดินตาม ถูกคุกคามเมื่อเดินทางกลับ ทุกอย่างที่เราทำสุ่มเสี่ยงเพราะอาจถูกตีความว่า เป็นการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน”

“แต่การเมืองไม่ควรเป็นเรื่องน่ารังเกียจ การเมืองไม่ควรเป็นเรื่องอันตราย แต่เป็นการเปิดพื้นที่รับฟังสิ่งที่ประชาชนต้องการ 4 ปีที่ผ่านมา ประชาชนรู้สึกว่ามันหนักขึ้น เพราะเสียงของเขามันเล็กลง เบาลงเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่เราทำ ประชาชนรู้สึกว่า มีความหวัง”

“เราไม่ได้บอกว่า เราเป็นความหวัง แต่ความหวัง คือ ประชาชนที่รู้สึกว่า สิ่งที่เขาพูดมีความหมาย สามารถทำให้เกิดอะไรได้จริง สะท้อนออกมาแล้วมีคนฟัง และตั้งใจที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง”

ปลดล็อกธนาคารท้องถิ่น

แนวนโยบายของ อนค.ที่ถูกชูขึ้นมา “โดดเด่น” กว่าพรรคอื่นเพื่อไป “นั่งในใจคน” และ “นั่งในสภา” คือ แนวนโยบาย 3 ป. ได้แก่ 1.ปลดล็อก 2.ปรับโครงสร้าง และ 3.เปิดโอกาส

ปลดล็อก หมายถึง ปลดล็อกกฎหมาย-กฎเกณฑ์ที่ทำให้ประชาชนไม่ใช่ “เจ้าของประเทศ” อย่างแท้จริง เช่น ปลดล็อกกฎหมายผูกขาดการทำธุรกิจ เช่น กฎหมายธนาคาร เพื่อส่งเสริม ปลดล็อกกฎหมายการขออนุญาตทำธนาคาร เพราะปัจจุบันกฎหมายเข้มงวดมาก เป็นธุรกิจผูกขาด เป็นเรื่องใหญ่มากเพราะการทำธนาคารในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับอำนาจการเมือง

“ประเทศไทยมีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ไม่ถึง 10 แห่ง และเป็นสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ขณะที่ญี่ปุ่นมีธนาคารพาณิชย์ 500 กว่าแห่ง แม้ญี่ปุ่นจะมีประชากรมากกว่า 2 เท่า แต่ญี่ปุ่นมีธนาคารมากกว่า 30 เท่า เกิดจากการผูกขาด”

“ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีธนาคารของท้องถิ่นของเอกชนในแต่ละจังหวัด เพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจภายในจังหวัด เพิ่มอำนาจการตัดสินใจในท้องถิ่น หากเป็นเงินทุนก้อนใหญ่”

“ธนาคารท้องถิ่นสามารถให้เงินทุน ออกพันธบัตร ทำให้เกิดการกระจายทุนของท้องถิ่น คนรวยในต่างจังหวัดมีไม่น้อย แต่เงินของเขาไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร”

“ธนาคารท้องถิ่นจะกระจายเงินและทุนไปยังท้องถิ่น เพื่อประกอบธุรกิจท้องถิ่นง่ายขึ้น ตรงความต้องการเกิดการจ้างงานและรายได้ที่ดีในต่างจังหวัด”

“ไม่เคยมีใครทำธนาคารเชียงใหม่ ออกพันธบัตรเชียงใหม่ ธนาคารขอนแก่น ออกพันธบัตรขอนแก่น ไม่ใช่การทำสังคมสงเคราะห์ ไม่ใช่ทำกองทุนหมู่บ้าน ไม่ใช่การเอาเงินไปแจก แต่เราต้องการให้ประชาชนรายเล็ก ธุรกิจรายย่อย เข้าถึงการกู้เงิน แหล่งเงินทุนมากขึ้น การกู้นอกระบบจะน้อยลง”

นอกจากแนวนโยบายกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจแล้ว การกระจายอำนาจทางการเมือง ยังถือว่าเป็น “คีย์” ของ อนค. เช่นกัน คือ การปลดล็อกกฎหมายเกี่ยวกับการเมือง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี”60 และรัฐประหารต้องไม่มีอีกต่อไป

สวัสดิการ “ถ้วนหน้า” 

ปรับโครงสร้าง หมายถึง การปรับสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น เช่น ปฏิรูปการศึกษา ปรับโครงสร้างภาษี ปรับระบบรัฐสวัสดิการให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

“โฆษกอนาคตใหม่” ชี้ให้เห็น “จุดบอด” ของรัฐธรรมนูญฉบับปี”60 ว่า ทำให้หลักการ universal health care หรือ “ถ้วนหน้า” กลายเป็นลักษณะของ “สังคมสงเคราะห์”

รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า รัฐบาลมีหน้าที่จัดสวัสดิการให้กับ “ผู้ยากไร้” หมายความว่า ไม่ได้ให้กับทุกคน ประชาชนต้องแสดงความยากจน เพื่อให้ได้รับสวัสดิการของรัฐ เป็นการทำลายความ “ก้าวหน้าที่สุด” ของประเทศที่ UN ยกย่อง

“ประชาชนไม่ควรต้องพิสูจน์ว่า ตัวเองจน เพื่อรับสวัสดิการของรัฐ เพราะจะกลับไปสู่ยุคสังคมสงเคราะห์ แต่ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับสวัสดิการ เพราะประชาชนเป็นพลเมืองของประเทศนั้น และในฐานะผู้เสียภาษี”

สวัสดิการหลักประกันสุขภาพที่ “ฟรีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ดีพอ” ปัจจุบันมี 3 ระบบ ได้แก่ 1.ข้าราชการ 2.ประกันสังคม และ 3.บัตรทอง ยังเหลื่อมล้ำ-บัญชีทับซ้อนกันอยู่ ต้องทำให้ดีขึ้น และเท่าเทียมมากขึ้น เพราะสวัสดิการรัฐต้องทำให้ครอบคลุมทั้ง “ฟรี” และ “ดี” นำมาสู่การ “เปิดโอกาส”

เธอเชื่อว่า สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง รัฐต้องเอื้ออำนวย-เปิดโอกาสให้คนพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพและรับโอกาสเท่ากันมากที่สุด เท่าที่เป็นไปได้ หรือ empower


“ช่อ” เล่าการเดินทางของพรรคอนาคตใหม่ ที่มาไกลยิ่งกว่าไกล