“สามมิตร-บิ๊กตู่” เจาะเขตเพื่อไทย จัดทัพชิงผู้แทนอีสานใต้ 23 ที่นั่ง

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินหน้าบุกอีสานใต้เป็นรอบที่สอง เป็นพื้นที่อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และศรีสะเกษ

ต่อจากครั้งก่อนที่โคจรไปบุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ และสุรินทร์

แม้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ขอว่า อย่ามองว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่ไปติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ที่เคยอนุมัติลงพื้นที่

หากด้วยพื้นที่การเมืองอีสานใต้โซนนี้ไม่ได้ผูกขาดเฉพาะพรรคเพื่อไทยพรรคเดียว แต่เก้าอี้ ส.ส.ที่แบ่งเป็น อุบลฯ 10 ที่นั่ง ศรีสะเกษ 8 ที่นั่ง ยโสธร 3 ที่นั่ง และอำนาจเจริญ 2 ที่นั่ง รวม 23 ที่นั่งใน 4 จังหวัด กระจัดกระจายอยู่ในพรรคที่แตกต่างกัน

เพื่อไทยมี 18 ที่นั่ง แบ่งเป็น 7 เสียงในอุบลฯ 4 เสียงในศรีสะเกษ 3 เสียงในยโสธร และ 1 เสียงในอำนาจเจริญ

ประชาธิปัตย์มี 4 ที่นั่ง แบ่งเป็น 3 เสียงในอุบลฯ 1 เสียงในอำนาจเจริญ

ชาติไทยพัฒนา 1 ที่นั่งในอุบลฯ และภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง ในอำนาจเจริญ

ทว่าในจำนวน 18 ที่นั่งของพรรคเพื่อไทย มีเพียงยโสธรจังหวัดเดียวที่ครองเก้าอี้ ส.ส.ได้ทั้งจังหวัด

ไล่เลี่ยกับการจัด ครม.สัญจร ปรากฏว่า “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำกลุ่มสามมิตรที่ประกาศหนุน “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ได้เดินสายเจาะกลุ่มมวลชนเสื้อแดง รุกกลุ่มรากหญ้าฐานเสียงเพื่อไทยหนักหน่วง

เรียกกลุ่มตัวแทนเกษตรกรหารือการแก้ปัญหาราคาเกษตรตกต่ำ ทั้งธีร์วริศ พรพันธวิศ นายกสมาคมส่งเสริมเกษตรกรชาวนาอีสาน ประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย วางคิวเดินสายพบทุกกลุ่มการเมือง ในทุกเดือน

อีกขาหนึ่งของกลุ่มสามมิตร คือ “พรรคพลังประชารัฐ” เตรียมจัดประชุมใหญ่เลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค กรรมการบริหารพรรค และประกาศจุดยืนในปลายเดือน ส.ค.

ส่วน “พล.อ.ประยุทธ์” เองก็ลั่นวาจาไว้ที่กรุงลอนดอนว่า จะเปิดเผยเส้นทางอนาคตในเดือน ก.ย.

โรดแมปการเมืองกลุ่มสามมิตร-พลังประชารัฐ-คสช.เดินทีละสเต็ป เตรียมพร้อมเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง

ดังนั้น การเข้าตีพื้นที่อีสานใต้ ชิง 23 ที่นั่ง ส.ส. จึงเป็นตัวเลขที่หอมหวาน แย่งชิงกันอย่างดุเดือด

โฟกัสไปที่การตีพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีความผันแปรในฐานการเมืองค่อนข้างสูง ตั้งแต่ระฆังเลือกตั้งยังไม่ดัง ก๊กเพื่อไทยยังแตกเป็น 3 ก๊ก 3 เส้า

หนึ่งกลุ่มเกรียง กัลป์ตินันท์ สองกลุ่มสุพล ฟองงาม-พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ และสามกลุ่มสิทธิชัย โควสุรัตน์ อดีต รมช.มหาดไทย เครือญาติวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวฯคนปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มสามมิตร+พันธมิตรดึง 2 ก๊กหลังเข้ามาเป็นพวกเรียบร้อยแล้ว

โดยพื้นที่อุบลฯมีเขตเลือกตั้งลดลงจาก 11 เขต เหลือ 10 เขต ทั้งนี้ ผลคะแนนเลือกตั้งในปี 2554 เพื่อไทยกวาดไป 7 ที่นั่ง แต่สำหรับศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ เพื่อไทยเสียขุนพลเดิมไป 2 ตำแหน่งแน่ ๆ ที่โยกไปพลังประชารัฐ คือ สุพล-สุทธิชัย จรูญเนตร ทำให้เหลือ ส.ส.เจ้าของพื้นที่เดิม 5 คน จาก 7 คน แต่ต่อมา “ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ” ขอลาไปเล่นการเมืองท้องถิ่น จึงเหลือหน้าเก่าจริง ๆ เพียง 4 คน และต้องหาเพิ่มมา 6 คน โดยได้มาแล้ว 1 คน “รัฐกิตติ์ ผาลีพัฒน์” อดีต ส.ส.ชาติไทยพัฒนา ที่เปลี่ยนฟากมาอยู่เพื่อไทย เสียบแทนพื้นที่ “สุทธิชัย จรูญเนตร”

ฟากพลังประชารัฐเปิดตัว “ว่าที่” ผู้สมัครแล้ว 10 คน ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น อดีตนักการเมืองในเสื้อเพื่อไทย อาทิ อดุลย์ นิลเปรม อดีต ส.ส.ระบบสัดส่วนพรรคเพื่อไทย นายโกวิทย์ ธรรมมานุชิต ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลฯ นายสุทธิชัย จรูญเนตร อดีต ส.ส.เพื่อไทย นายสุพล ฟองงาม อดีต ส.ส.เพื่อไทย นายณรงค์ศักดิ์ โกศัลวัฒน์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย นายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ส.จ.เขต ตระการพืชผล บุตรชาย นายอดิศักดิ์ โภคกุลกานนท์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย นายสุชาติ ตันติวณิชชานนท์ อดีต ส.ส.ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน น.ส.ตวงทิพย์ จินตะเวช (ลูกสาว นายตุ่น จินตะเวช อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา) และนายอภิชา จารุแพทย์เพื่อไทยจึงต้องทำการบ้านสู้กับพลังดูดอย่างหนัก

ขณะที่ประชาธิปัตย์ที่มีอยู่ 3 ที่นั่ง ยังจำใจสู้ผ่านคำพูดของ “อิสสระ สมชัย” หัวขบวนในพื้นที่อุบลฯ “ไม่ไหวก็ต้องไหว” ขณะที่ภูมิใจไทยก็ทำพื้นที่อย่างหนัก จัดทัพดึงนักการเมืองท้องถิ่นลงชิงชัย

จังหวัดข้างเคียงอย่าง “อำนาจเจริญ” มี 2 เขตเลือกตั้ง ในปี 2554 เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ แบ่งคนละเขต คือ “สมหญิง บัวบุตร” เพื่อไทย

ส่วนประชาธิปัตย์ คือ “อภิวัฒน์ เงินหมื่น” ประชาธิปัตย์ ลูกไม้ใกล้ต้นของ “สุทัศน์ เงินหมื่น” อดีตแกนนำประชาธิปัตย์

แต่งวดนี้มีข่าวจากพื้นที่ว่า “สุทัศน์” อาจลงเลือกตั้งเอง ส่วนคู่แข่งจากเพื่อไทยวาง “ดนัย มหิพันธ์” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค) สู้ศึกพลังดูด และชิงพื้นที่กับประชาธิปัตย์

ขณะที่พื้นที่สีแดงเข้ม-ดูดยากของเพื่อไทยอย่าง “ยโสธร” มี ส.ส. 3 คนมาจากเพื่อไทยทั้งชุด คือ ปิยวัฒน์ พันธ์สายเชื้อ-บุญแก้ว สมวงศ์-พีรพันธุ์ พาลุสุข อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ที่เสียชีวิตไปแล้ว เพื่อไทยวางตัวคนใหม่ คือ “ธนกร ไชยกุล” อดีต ผอ.วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ป้องกันพื้นที่

ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทยกินรวบถึง 7 ที่นั่ง จาก 8 เขตเลือกตั้ง และยังเหนียวแน่นในพื้นที่ อยู่ในข่ายที่ “เจาะยาก” ผู้สมัครฝั่งเพื่อไทยยังเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมยกเซต โดยมี “ธเนศ เครือรัตน์” ประธานสโมสรฟุตบอล ศรีสะเกษ เอฟซี คุมเชิงไม่ยอมให้ถูกเจาะหลังบ้านง่าย ๆ พร้อมด้วยนายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์-วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ-ธีระ ไตรสรณกุล-วีระพล จิตสัมฤทธิ์-มานพ จรัสดำรงนิตย์-ปวีณ แซ่จึง ลงรักษาเก้าอี้ฟากภูมิใจไทยยังส่งคนเดิม คือ นางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์

ในแง่เงิน-งบประมาณพื้นที่ ครั้น “พล.อ.ประยุทธ์” ลงพื้นที่บุรีรัมย์ท่ามกลางแฟนกองเชียร์-แฟนคลับกว่า 3 หมื่นคนมารอต้อนรับ ประเคนงบประมาณผ่านโครงการต่าง ๆ ลงใน 4 จังหวัด บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ และสุรินทร์ กว่า 1.4 หมื่นล้านบาท

ขณะที่การเยือนอีสานใต้รอบสอง อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และศรีสะเกษ ก็อนุมัติงบประมาณผ่านโครงการต่าง ๆ อีก 1 หมื่นล้านเช่นเดียวกับบุรีรัมย์ เพื่อเอาใจพ่อค้า-นายทุนในพื้นที่

แต่ในแง่แต้มการเมือง การเข้าถึงประชาชน ยังต้องสู้กันอีกหลายยก

สนามเลือกตั้งอีสานใต้จึงเป็นสมรภูมิที่ดุเดือด สู้กับพลังดูดกันจนหยดสุดท้าย เพื่อครอบครองจำนวนเสียง 23 เสียงโหวตหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย