“คดีการเมือง” ในสนธิสัญญา 100 ปี บันไดพ้นหมายจับ “ยิ่งลักษณ์”

เกิดเป็นกระแสการเมือง “ขัดจังหวะ” รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำลัง “ออกแรงดูด” อดีต ส.ส.ขึ้นสถานเอกอัครราชทูตไทยในสหราชอาณาจักร ขอส่งตัว “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี มารับโทษจำคุก 5 ปีตามคำพิพากษาศาล คดีโครงการรับจำนำข้าว

โดยอ้างอิงสนธิสัญญาระหว่างสหราชอาณาจักรกับสยาม ปี 1911 หรือ 107 ปีที่แล้ว จนมือกฎหมายประจำพรรคเพื่อไทย (พท.) ดาหน้ากันออกมายกข้อต่อสู้-ข้อหักร้างแก้ต่างให้อดีตนายกฯเพื่อไทยว่าเป็น “คดีการเมือง”

สำหรับสนธิสัญญาปี 1911 ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในสหราชอาณาจักรอ้างถึง คือ “ประกาศ สัญญา ว่าด้วยส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันในระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ” ประกาศ ณ วันที่ 9 สิงหาคม ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454)

สำหรับ “ฐานความผิด” การส่งผู้ร้ายข้ามแดน มี 31 ข้อ อาทิ 1.โทษฆ่าคนตายโดยเจตนา 2.โทษประทุษร้ายแก่ร่างกายถึงบาดเจ็บ-สาหัส 3.โทษยักยอกทรัพย์หรือลักทรัพย์

ดังนั้น “คีย์” สำคัญที่อังกฤษจะส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ตามคำขอของรัฐบาลไทย คือ “ถ้าโทษอย่างอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถ้ามีความอยู่ในกฎหมายซึ่งใช้อยู่ทั้ง 2 ฝ่ายว่าจะส่งผู้ร้ายให้กันได้นั้น ก็สุดแล้วแต่ประเทศซึ่งรับคำขอให้ส่งนั้นจะเห็นสมควรว่า จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ต่อกันหรือไม่” ข้อ 2 วรรคท้ายระบุ

อย่างไรก็ตาม ข้อหักร้าง-ไพ่ตายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือ ข้อ 5 ถ้าผู้ร้ายที่หนีมายังประเทศใด ประเทศนั้นเห็นว่าโทษที่ขอให้ส่งตัวไปชำระนั้น เป็นโทษมีลักษณะ “ความผิดต่ออำนาจของบ้านเมือง” ก็ดี หรือว่าผู้ร้ายนั้นนำพยานพิสูจน์ให้เห็นว่า การที่ขอให้ส่งตัวกลับไปเป็นการเพื่อจะชำระและลงโทษ อันมีลักษณะผิดต่ออำนาจของบ้านเมืองแล้ว ก็ไม่ต้องส่งผู้ร้ายคนนั้นให้แก่กัน

ประเทศ “เสรีประชาธิปไตย” เช่น สหรัฐอเมริกา ปรากฏอยู่ใน “ประกาศให้ใช้สัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยามกับอเมริกา” ลงนามเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2465 ประกาศวันที่ 30 มี.ค. 2466

“ขีดเส้นที่” ข้อ 3 ระบุชัดแจ้งว่า “บทสัญญานี้ จะไม่ก้าวท้าวไปถึงการเรียกร้องขอตัวผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งได้กระทำผิดโทษอาญาฤาโทษลเมิดใด ๆ อันมีลักษณะเป็นโทษฐานการเมือง กับทั้งจะไม่ก้าวท้าวไปถึงกิจการอันกระทำเกี่ยวเนื่องกับโทษอาญา ฤาโทษลเมิดนั้นด้วย และบุคคลใดที่ประเทศทำสัญญาใหญ่นี้แต่ละฝ่าย นำส่งตัวให้ฤารับส่งตัวมา ด้วยอำนาจสัญญานี้ไซร้ ห้ามมิให้เอาไปชำระ ฤาลงโทษเนื่องด้วยกระทำผิดโทษอาญา ฤาโทษลเมิดฐานการเมืองนั้นเลย”

สำหรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 เป็นกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนชั้น พ.ร.บ.ฉบับแรกของไทย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2472 มาตรา 10 วรรคสอง (ค) ว่า “ความผิดนั้นไม่ใช่เป็นความผิดอันมีลักษณะในทางการเมือง”

แม้ประเทศที่เป็น “คอมมิวนิสต์” อย่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2541 ข้อ 3 เหตุสำหรับการปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน (1) คือ ความผิดทางการเมือง และ (3) ความผิดตามกฎหมายเฉพาะทางทหาร

แม้กระทั่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันในมาตรา 9 รัฐบาลไทยอาจพิจารณาส่งบุคคลข้ามแดนได้ (1)โดยมิใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือความผิดทางทหาร

ต่อจากนั้นเป็นต้นมามีการอนุวัตการลงนามสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลหลายฉบับเรื่อยมา อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ กับกัมพูชา พ.ศ. 2543 พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ กับบังกลาเทศ พ.ศ. 2543 พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ กับเกาหลี พ.ศ. 2543 พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ กับลาว พ.ศ. 2543

“อุดม เฟื่องฟุ้ง” อดีตรองประธานศาลฎีกา กล่าวถึงหลักการของกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนปัจจุบัน มี 2 ระบบ 1.ระบบที่เป็นสากล-ทุกประเทศยอมรับ คือ ผ่านกระบวนการตุลาการศาลในประเทศที่ถูกร้องขอ-ศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด 2.ระบบที่สากลไม่ยอมรับ คือ สั่งโดยอำนาจบริหาร โดยไม่ผ่านอำนาจตุลาการศาล ถือเป็นช่องทาง “นอกระบบ” ซึ่งอาจถูกประจานจากทั่วโลก

ในอดีตการขอตัว “ปิ่น จักกะพาก” พ่อมดการเงิน ต้นเหตุวิกฤตต้มยำกุ้งปี’40 มาดำเนินคดีในประเทศ ต้องจบลงที่ศาล เช่นเดียวกับคดี “ยิ่งลักษณ์” อาจต่อสู้กันถึงชั้นศาลอีกครั้ง !