“ม.ร.ว.จัตุมงคล” ข้อต่อพิเศษ คสช. รัฐบาลผสม เลือกนายกฯ (ประยุทธ์) จากบัญชีพรรค

มติท่วมท้น-เอกฉันท์ชูมือโหวต “คุณชายเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่มี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการมวลมหาประชาชน สวมบทคุมจังหวะการประชุมผู้ก่อตั้งพรรคกว่า 300 ชีวิต

“ยินดีที่ได้รับตำแหน่งและตอบรับทันทีโดยไม่ต้องคิดมาก แต่ยอมรับว่าต้องทำใจ” คำแรกของ ม.ร.ว.จัตุมงคล ในฐานะหัวหน้าพรรค-พรรคการเมืองที่เขาร่วมหัวจมท้ายก่อตั้งจากหลักสิบคน ปัจจุบันมีผู้ร่วมก่อตั้งแล้วกว่า 500 คน

แหล่งข่าวในพรรค รปช.เปิดเผยว่า ณ นาทีนี้พรรคต้องมีหัวเรือใหญ่ ถ้าไม่มีหัวเรือก็ไม่มีตัวตน เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า คนยังเรียกชื่อพรรคผิด จัดกิจกรรมในนามพรรคยังไม่ได้เลย จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ชื่อของ “คุณชายเต่า” จะมาแรง-ไร้คู่แข่ง เพื่อเป็น “ข้อต่อพิเศษ” กับอำมาตย์-ขุนทหาร

ทว่า ฉากบนเวทีเขาให้เหตุผลที่ใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีตัดสินใจกระโจนลงสนามการเมือง เพราะเห็น “โอกาสในวิกฤต” โอกาสที่คนไทยจะร่วมมือกันทำ

“ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ มีรัฐบาลมาแล้วหลายสิบชุด และดูเหมือนจะกลับไปเหมือนเดิม การเมืองยังมีแนวคิดเป็นพรรครัฐบาล เป็นพรรคฝ่ายค้าน พรรครัฐบาลพยายามทำ พรรคฝ่ายค้านพยายามค้าน”

“ถ้าเป็นรัฐบาลที่พรรคการเมืองเข้ามาเพียงเพื่อทะเลาะกัน ผมคิดว่าประเทศอยู่ไม่ได้ รัฐธรรมนูญอยู่ไม่ได้ ประเทศไทยมาได้ไกลมากแล้ว ผมคิดว่าจวนถึงเวลาแล้วที่ประเทศต้องพัฒนาในขั้นต่อไป เพราะถ้าคนไทยร่วมกันเราทำได้”

ม.ร.ว.จัตุมงคลมองว่า พรรคการเมือง-นักการเมืองในวันข้างหน้าต้องร่วมมือกันทำงานเพื่อหา solution หรือคำตอบที่ดีที่สุดของประเทศ

“โซลูชั่นที่จะไม่ทำให้ซ้ำรอยในอดีต ท่องไว้เลย ร่วมกันเราทำได้ ทะเลาะกันมันก็แตก ยอมให้ถึงที่สุดเพื่อจะให้ตกลงกันได้ แต่ละพรรคมีความเห็นต่างกัน เราขายความเห็น ขายจุดแข็ง จุดเน้นที่เราต้องการ ไม่ใช่ว่าเราถูกเขาผิด”

แม้การเมืองกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมาขัดแย้งรุนแรง-แบ่งฝักแบ่งฝ่าย โดยต้อง “ข้ามจุดนั้นไปให้ได้” เพราะโจทย์ใหญ่ของประเทศในวันนี้ คือ “ความร่วมมือ”

ขณะที่โอกาสทางการเมือง เพราะรัฐธรรม 2560 กำหนดวิธีการคำนวณตัวเลขผู้ชนะ-ผู้แพ้ โดยที่พรรคการเมืองมีโอกาสชนะได้คะแนนเสียงข้างมากค่อนข้างน้อย ฉะนั้นโอกาสที่การเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้ “รัฐบาลผสม” หลายพรรคมีสูง

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เกิดรัฐบาลหลายพรรค รัฐธรรมนูญในอดีตเขียนให้มีรัฐบาลพรรคเดียว หรือมีสองพรรค พรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน”

การเมืองช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งถูกตัดสินด้วย “กระแสพรรค” ทว่าด้วยกติกาใหม่ เขามองว่า การเลือกตั้งจะถูกตัดสินด้วย “บัญชีนายกฯ” 

“การเลือกตั้งคราวหน้าเกือบจะเป็นการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี การเลือกตั้งส่วนไม่น้อย ประชาชนจะเลือก ส.ส. โดยดูจากปาร์ตี้ลิสต์นายกฯ”

“ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่ในปาร์ตี้ลิสต์นายกฯ ผมว่าคงยาก นายกฯคนต่อไปคงต้องอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์นายกฯ เพราะถ้าไม่อยู่แล้วมีนายกฯในบัญชีให้เลือก 30-50 คน จาก 10-20 พรรค ให้เลือก แต่ถ้าพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกจากประชาชนยังตกลงกันไม่ได้ ผมว่าตอบโจทย์ยาก”

“ฉะนั้น ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะลงปาร์ตี้ลิสต์พรรคหนึ่งพรรคใดหรือไม่ ถ้าลง พรรคนั้นก็คงจะได้เสียงจากคนที่ตัดสินใจเลือกจากบัญชีนายกฯด้วย”

“นายกฯนอกบัญชีคงยากนะ เมื่อก่อนมันไม่มีบัญชีนายกฯ แต่ตอนนี้มีบัญชีแล้ว แต่ยังเลือกนายกฯไม่ได้อีก จนต้องไปเลือกนายกฯนอกบัญชี ก็เป็นเรื่องแปลก”

“ผมเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์คงจะลงชื่อในบัญชีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และหัวหน้า คสช. และไม่ต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง”


“คุณชายเต่า” เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ไม่ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะตัดสินใจอยู่ในบัญชี-นอกบัญชีนายกฯ ประชาชนจะเป็นคนตัดสิน