ตัวเต็งนำทัพเพื่อไทย โปรไฟล์เป็นพิษ ติดบ่วงคดีทุจริต-ฝืนคำสั่งอาญาทหาร

ตัวตน-ผู้นำพรรคเพื่อไทยลงสู้ศึกเลือกตั้งปี 2562 ยังคงปริศนา ยังไม่ปรากฏว่าใครเป็นตัวจริง

ในช่วงวันเกิดนายใหญ่เพื่อไทย “ทักษิณ ชินวัตร” ที่กรุงลอนดอน กลุ่ม-ก๊ก-ก๊วน ในพรรคบินไปอวยพร พร้อมไปทวงถามคำตอบว่าใครคือชื่อที่เหมาะสมสำหรับการเป็นผู้นำพรรคตัวจริง

แต่คนใกล้ชิด “ทักษิณ” และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ผู้นำทัพเพื่อไทย ในการเลือกตั้งปีི ให้คำนิยามสถานการณ์ชิงบัลลังก์ “ผู้นำ” เพื่อไทยขณะนี้ว่า ยังอีกไกล-นายใหญ่ยังไม่ตัดสินใจ

ชื่อ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ชื่อ “จาตุรนต์ ฉายแสง” เป็นชื่อแกนนำที่ฝุ่นตลบอยู่ที่ลอนดอน ยังรวมชื่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีต รมว.คมนาคม ชื่อที่คนในโลกโซเชียลให้ความนิยม หรือ “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” อดีตรองนายกฯ ที่ชื่อถูกชักเข้าชักออกในโผหลายครั้งคราว

อีกหนึ่งชื่อที่มิอาจมองข้ามคือ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกฯ ในก๊กวังบัวบาน “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว “ทักษิณ” นายกฯ ที่ไม่เคยไปนั่งบัญชาการในทำเนียบรัฐบาล อาจจะขอกลับมาแก้มือลงสนามเลือกตั้ง

แม้ระยะปีเศษ ๆ ที่ผ่านมา “สมชาย” จะเฟดตัวเอง หายหน้าไปจากหัวโต๊ะการประชุมพรรค เปิดพื้นที่การเมืองภายในพรรคให้ “คุณหญิงสุดารัตน์” ตีตื้นอย่างช้า ๆ

แต่ทุกชื่อข้างต้นที่เป็นแคนดิเดต ล้วนมี “แผล” ไม่แผลการเมือง-ก็แผลคดีความ

สุดารัตน์มีคดีค้างใน ป.ป.ช.

ชื่อที่เกาะกระแส “หัวหน้าเพื่อไทย” คงทนกว่าใครเพื่อน คือ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” 

ก่อนหน้านี้ ว่ากันว่า “คุณหญิงสุดารัตน์” ได้รับ “ตั๋วพิเศษ” จากบ้านจันทร์ส่องหล้า และนายใหญ่ “ทักษิณ ชินวัตร” ให้มาเคลื่อนไหวนำพรรคได้

ข้อพิเศษที่คนในเพื่อไทยเข้าใจตรงกัน คุณหญิงสุดารัตน์ มีคอนเน็กชั่นกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล แต่เวลาที่เพื่อไทย กลายเป็นเป้า เป็นตำบลกระสุนตก ข่าวคราวของ “คุณหญิง” ก็จะหายลับ หลบไปอยู่ฉากหลัง เลี่ยงการถูกโจมตีทางการเมือง ทำให้กลายเป็น “จุดด้อย”

แผลการเมืองของ “คุณหญิงสุดารัตน์” นอกจากข้อครหาแอบอิงสีเขียว เธอยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค แถมยังมีคดีความที่ค้างอยู่ในสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ในฐานข้อมูลเว็บของ ป.ป.ช. ปรากฏว่ามี 1 คดี โดยข้อกล่าวหาระบุว่า “ข้าราชการสังกัดกรมชลประทาน และนางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทุจริตเกี่ยวกับ การจัดจ้างก่อสร้างโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิของกรมชลประทานในราคาสูงเกินจริง มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้างคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว โดยมี ศาสตราจารย์ ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐาน”

“คุณหญิงสุดารัตน์” กล่าวถึงข้อกล่าวหาดังกล่าวว่า ไม่เคยทราบว่ามีคดีนี้เกิดขึ้น ปกติเวลาที่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว จะต้องแจ้งมายังผู้ถูกกล่าวหา เพื่อไปแก้ข้อกล่าวหา แต่ตนยังไม่ได้รับการติดต่อแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ มีคดีที่ ป.ป.ช.ลงมติเอกฉันท์ยกคำร้อง คือ สำนวนร้องเรียนทุจริตคุณหญิงสุดารัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข กับพวกรวม 16 คน กรณียกเลิกโครงการประกวดราคาจัดซื้อและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการบริหารข้อมูลข่าวสาร ด้านการเงินการคลัง และข้อมูลโรงพยาบาล จำนวน 818 แห่งทั่วประเทศ ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2547

“จาตุรนต์” สู้คดีในศาลทหาร 

ทำให้ชื่อของ “จาตุรนต์ ฉายแสง” แกนนำเพื่อไทย เบียดขึ้นมา โดยได้รับแรงหนุนจากอดีต ส.ส.สายบู๊-สายประชาธิปไตยในเพื่อไทย เพราะมีภาพการต่อสู้กับเผด็จการทหารชัดเจน ไม่หลบไปอยู่หลังฉาก

ชื่อของ “จาตุรนต์” จึงดังขึ้นมาชัดขึ้นในกลุ่ม ส.ส.เพื่อไทย ที่อยากให้มีผู้นำสายประชาธิปไตย เป็น “หัวหอก” ในการต่อสู้ศึกเลือกตั้ง

ทว่า สิ่งที่เป็นงานยากของ “จาตุรนต์” คือ มีคดีความผิดมาตรา 116 จากกรณีขึ้นปาฐกถาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย Foreign Correspondents’ Club of Thailand (FCCT) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการสืบพยานฝ่ายโจทก์

แหล่งข่าวพรรคเพื่อไทยประเมินความเสี่ยงหาก “จาตุรนต์” ขึ้นนำพรรค อาจทำให้คดีความในชั้นศาลทหารของเขาถูกเร่งให้จบเร็วขึ้น และอาจกลายเป็นจุดเสี่ยงของเพื่อไทย

สมชายมีแผล 7 ตุลา

ส่วน “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ชื่อนี้ไม่มีคดีติดตัว แต่มีข้อครหาเป็นขี้ปากการเมืองตามนินทาหลอกหลอน จากกรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 7 ต.ค. 2551 แม้ว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้อง 4 จำเลย ซึ่งมี “สมชาย” เป็น 1 ใน 4 จำเลย โดยคำพิพากษาศาลฎีการะบุว่า การสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในการชุมนุมปิดล้อมสภา มีการปลุกระดมมวลชน ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ได้ทำตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบ ไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

“ชัชชาติ” เอี่ยวปมเยียวยาม็อบ

สำหรับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” สมัยที่เป็น รมช.คมนาคม เขาถูกหางเลขเป็น 1 ใน 34 รัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูก ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาเมื่อปี 2558 เรื่องละเว้นไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศ จำนวน 1,921,061,629.46 บาท จากการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง (พ.ศ. 2548-2553) โดยไม่มีอำนาจ ไม่มีกฎหมายรองรับ และเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องของตนเอง โดย ป.ป.ช. จะชี้มูลความผิดในเดือนกันยายน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “ชัชชาติ” ยืนยันกับสาธารณะหลายช่องทางว่า เขายังไม่สนใจกลับมาเล่นการเมืองในขณะนี้ ขอทำหน้าที่เป็นนักธุรกิจ แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็มายืนยันความเป็นสมาชิกกับพรรคเพื่อไทยไว้แล้ว เมื่อสถานการณ์ลงตัว อาจเห็นชัชชาติคัมแบ็ก ถ้าหลุดบ่วงคดีดังกล่าวไปได้

ส่วนชื่อ “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” ร่วมเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยออกประกาศเรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ฉบับ ลว. 31 ก.ค. 2556 ในพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต กรุงเทพฯ (ช่วงม็อบ กปปส.) โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตรา 15 โดยมีพฤติการณ์การกระทำที่น่าเชื่อว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สอดคล้องกับเหตุผล ท้ายพระราชบัญญัติ รวมทั้งยังเป็นประกาศที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 63 และผลของการประกาศดังกล่าวยังทำให้รัฐเสียหายจากงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 175 ล้านบาทนั้น

คดีนี้ ป.ป.ช.ได้ตีตกไปเมื่อ 12 พ.ค. 2559 จึงทำให้เขาไม่มีมลทินในเรื่องคดีความ แต่ก็มี “แผลในใจ” ระหว่างคนในพรรคด้วยกัน เพราะในนาทียึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 เขาถูกวางตัวให้เป็นหนึ่งในทีมเพื่อไทย ที่เข้าไปเจรจา 7 ฝ่าย ที่สโมสรกองทัพบก แต่ “พงศ์เทพ” ไม่ได้ปรากฏตัว และไม่ได้ถูกจับกุมเข้าค่ายทหารในลอตแรก

ทุกชื่อที่มาแรง เป็นแคนดิเดตหัวขบวนเพื่อไทย ต่างมีแผลคดีความ-การเมืองติดตัว ทั้งนั้น