สนช.ซ่อนกลถ่วงโรดแมป หลังฉากเกมล้ม…ผู้ตรวจเลือกตั้ง ?

กลายเป็นประเด็นแทรกวาระดูดการเมือง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดที่มี “ศุภชัย สมเจริญ” เป็นประธาน ได้ประกาศรายชื่อ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” จำนวน 616 คน

แต่กลายเป็นว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 36 คน เข้าชื่อขอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 เพื่อทำการเปลี่ยนตัว “ผู้ตรวจการการเลือกตั้ง” จำนวน 616 คน

ต้นเหตุจากสมาชิก สนช.กลุ่มหนึ่งต้องการ โละรายชื่อทั้ง 616 คน โดยให้เหตุผลหลักใหญ่ว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งเกิดจาก “ระเบียบ กกต.” ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตาม กกต.แต่ละชุด ไม่มีความแน่นอน ควรจะบรรจุไว้ในกฎหมายลูกจึงจะเหมาะสมกว่ากกต.แต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งล่วงหน้า ก่อนการเลือกตั้งหลายเดือน ซึ่งอาจทำให้ถูกพรรคการเมืองครอบงำ

กกต.ชุดศุภชัย ใกล้ปลดระวาง อยู่ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ กกต.ชุดใหม่ ดังนั้น ควรจะให้ กกต.ชุดใหม่เป็นผู้เลือกจะดีกว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งบางราย ใกล้ชิดกับ กกต.ชุดปัจจุบันในบัดดล ฝุ่นการเมืองก็ตลบทั่วอาคารรัฐสภาอีกครั้ง “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ที่สมาชิก สนช.เสนอแก้กฎหมาย ประเด็นที่เกี่ยวกับผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพราะเนื้อหาที่เปิดช่องให้ คณะกรรมการกกต.สามารถออกระเบียบคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งได้เอง อาจทำให้เกิดความไม่แน่นอน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายลูก เพื่อให้มีความชัดเจนคนในสังคมการเมืองพุ่งเป้าไปที่ความสะเพร่าของ สนช.ที่พิจารณาร่างกฎหมายไม่ละเอียด จนต้องมาแก้ใหม่

แต่นอกเหนือจากเสียงวิจารณ์เรื่องความสะเพร่าของ สนช. คือ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. เป็นกฎหมาย 1 ใน 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งจะนับถอยหลังเลือกตั้งได้ต่อเมื่อกฎหมาย 4 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีผลบังคับใช้ครบทั้งหมด

แต่ในขณะนี้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. อยู่ระหว่างขั้นตอนการลงพระปรมาภิไธยจะครบกรอบ90 วัน ในกลางเดือน ก.ย.โดยร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถูกขยายวันบังคับใช้ต่อไปอีก 90 วัน ซึ่งจะตรงกับกลางเดือน ธ.ค.

หากกระบวนการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ล่วงเลยจนเกินเดือน ธ.ค. ก็กลายเป็นฉบับสุดท้ายที่มีผลบังคับใช้ อาจทำให้โรดแมปขยับได้อีก และ สนช.ตกเป็น “จำเลย” เลื่อนโรดแมปสองครั้งซ้อน โดยการเลือกตั้งอาจไม่ใช่ ก.พ. 2562 ตามหมุดการเมืองที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศไว้ต่อสังคม

หลังจากก่อนหน้านี้ สนช.ตกเป็น”จำเลย” เลื่อนโรดแมปมาหมาด ๆ โดยขอขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ออกไป 90 วัน ทำให้การเลือกตั้งขยับจาก 2561 ไปเป็น 2562จนเกิดโรดแมป 3-3-5 ของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ที่หารือกับพรรคการเมืองและ กกต. เมื่อ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่าเลือกตั้งเร็วสุด 24 ก.พ. 2562 ช้าสุด 5 พ.ค. 2562

“นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” อดีต ส.ส.น่าน มือเทคนิคฝ่ายนิติบัญญัติของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สนช.อาจใช้การแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. เป็นเครื่องมือในการดึงการเลือกตั้ง เพราะตามโรดแมปเดิม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้เป็นลำดับสุดท้ายก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ถ้า สนช.แก้ไขกฎหมาย กกต. ก็จะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาต่าง ๆ อีกทั้งการแก้ไขกฎหมายลูกไม่มีกำหนดว่าจะต้องเสร็จเมื่อไหร่ สนช.สามารถดึงเวลาไว้ได้นานที่สุด โดยที่ดึงเวลาเลือกตั้งออกไปแล้วไม่เลยเถิดจนน่าเกลียดมาก

ด้าน “สมชาย แสวงการ” ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. ยอมรับว่า กระบวนการพิจารณาอาจใช้เวลาหลายเดือน แต่ถึงตอนนั้น สมาชิกอาจไม่เห็นด้วยก็ได้ ถ้ามีคนมาทักว่า อาจโดนข้อหาว่าเลื่อนเลือกตั้ง แต่ถ้าแก้มาตราเดียวก็อย่าให้ไปเลยเถิด หากเห็นพ้องว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นปัญหาเพียงประเด็นเดียวก็สามารถแก้ไขภายในหนึ่งถึงสองเดือน บวกกับส่งศาลรัฐธรรมนูญไปอีก 1 เดือน เป็น 3 เดือน”

“ถ้าทำให้เกิดการยืดโรดแมปเลือกตั้งไม่เห็นด้วย ผมไม่ได้คัดค้านการแก้กฎหมาย แต่ถ้าแก้แล้วทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปแล้ว สนช.กลายเป็นจำเลย ก็ต้องตั้งคำถาม อาจจะไม่เห็นด้วยเพราะเรายืนยันตามโรดแมปมาตลอด ถ้าเป็นอย่างนี้ เราอธิบายไม่ไหว ยืนยันว่า สนช.ก็ต้องคิดหนัก แต่เชื่อว่าไม่ใช่เจตนาของสมาชิก”

เกมล้มผู้ตรวจการเลือกตั้งยังชุลมุน พัวพันถึงโรดแมปการเลือกตั้ง

โรดแมปเลือกตั้งช้าที่สุด 5 พ.ค. 2562 อาจจะถูกขุดขึ้นมาบนดินให้สังคมวิจารณ์กันอีกครั้ง