“อุดม” คตส.มือชงคดี “ทักษิณ” ไม่มีใบสั่ง…ยุติธรรม 100 เปอร์เซ็นต์

หลังจากรัฐบาลไทยขุดสนธิสัญญาระหว่างสยาม-สหราชอาณาจักร อายุ 107 ปี เพื่อขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลบหนีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำคุก 5 ปี ในคดีโครงการรับจำนำข้าว

ทว่า เงื่อนปม-ผลพวงของการรัฐประหารโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจทำให้ความพยายามของ “รัฐบาลทหาร” สิ้นหวัง-ดับลงเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พลิกจาก “รับกลายเป็นรุก” ดัดหลัง “รัฐบาลทหาร” เบิก “พยานปากเอก”-“หลักฐานชิ้นสำคัญ” ใช้เป็น “ไม้เด็ด” ให้การข้ามโลกว่า เป็น “คดีการเมือง”

เผยความลับทักษิณรอดคุก

“อุดม เฟื่องฟุ้ง” อดีตรองประธานศาลฎีกา อดีตผู้พิพากษาอาวุโส อดีตอธิบดีศาลอุทธรณ์ และยังเป็นอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

“อดีตตัวละครเอก” ใน “องค์กรพิเศษ” ที่ “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” อดีตผู้ก่อการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ก่อกำเนิดขึ้นเปิดหมดเปลือกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงเหตุผลที่ไม่ขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนายทักษิณให้กลับมารับโทษ-สาเหตุสำคัญที่อังกฤษจะไม่ส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ เฉกเช่นนายทักษิณ-นายกฯพี่ชาย

“ปัญหา คือ สมัยนั้นหลังจากศาลตัดสินนายทักษิณให้จำคุกในคดีที่ดินรัชดาฯ แล้วมีนักข่าวมาขอสัมภาษณ์ว่า กรณีคุณทักษิณต้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ตอนนั้นผมไม่กล้าให้สัมภาษณ์ เพราะถ้าให้สัมภาษณ์ก็ต้องพูดว่า เขาไม่ส่งให้ ซึ่งมันจะเป็นกระแสสังคมโยนมาที่รัฐบาลปฏิวัติขณะนั้น แต่ตอนนี้ผมพูดได้ (หัวเราะ)”

กังขาคดี คตส.สาปสูญ

ถึงแม้เคยเป็นอดีต คตส. แต่เขายังมองไม่ออกถึงปรากฏการณ์คดีที่เคยอยู่ในมือกว่า 10 ปี เพิ่งมาผลิดอกออกผลในช่วง “รัฐบาล คสช.”

“ผมก็ไม่รู้ว่าผู้รับผิดชอบต้องการอะไร ต้องถาม ป.ป.ช.และดีเอสไอ ซึ่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานักการเมืองที่สามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น”

ในฐานะเจ้าของสำนวนคดีมหากาพย์ทุจริตโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เขาตั้งข้อสังเกตว่า สำนวนการสั่งฟ้องนักการเมือง-ข้าราชการ-เอกชน ที่ส่งไปยัง ป.ป.ช.กว่า 10-15 สำนวน “ล่องหน” ไปอย่างปริศนา ทำให้บางสำนวน “ขาดอายุความ”

ฟอกเงิน ธ.กรุงไทยส่อหลุด

ขณะที่สำนวนกรณีปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กลุ่มกฤษฎานคร ซึ่งจำเลยถูกศาลตัดสินจำคุกกลายเป็นนักโทษไปหมดแล้ว แต่ดีเอสไอเพิ่งมาแจ้งข้อกล่าวหา “พานทองแท้ ชินวัตร กับพวก” เพิ่มเติมล่าสุด ก็ “สุ่มเสี่ยง” ทำให้ “คดีหลุด”

“ผมอยู่ในคณะอนุกรรมการตรวจสอบคดีนี้ แต่ตอนหลังเมื่อกรุงไทยตัดสินแล้ว ยังมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอีกหลายคน ซึ่งมีส่วนกระทำผิดทางอาญา แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับการดำเนินการ”

อย่างไรก็ตาม เขา “ยืนยันหนักแน่น” ว่า คตส.ทำตามหลักฐาน-กฎหมายในขณะนั้น “ไม่มีใบสั่ง” ไม่มีใครมาแทรกแซง แต่เขายอมรับว่า ใน คตส.ก็ไม่ได้เคลียร์ทุกคน

“ไม่คิดว่าการตั้ง คตส.ขึ้นมา จะทำให้ความเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมลดน้อยลง ขึ้นอยู่กับว่าเราทำตามกติกาหรือไม่ ทำตามกฎหมายที่ถูกต้องหรือไม่ ทำตามพยานหลักฐานหรือไม่”

“ต้องเข้าใจว่า คุณทักษิณร้องแรกแหกกระเชอมาตั้งแต่ตอนยึดอำนาจแล้วว่าเขาถูกแกล้ง แต่ไม่เคยพูดว่าถูกแกล้งอย่างไร และคนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำนั้นก็ติดคุกเยอะแยะ ส่วนที่ยกฟ้องในช่วงหลังก็มีเบื้องหน้า เบื้องหลังในบางคน ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง หรือมีบารมี ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปได้”

2 ช่องทางขอตัวยิ่งลักษณ์

กว่า 45 ปีในบทบาท-หน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล เขาอธิบายหลัก-ขั้นตอนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อเป็นการปูพื้นฐาน เพราะถึงแม้ “แวดวงตาชั่ง” จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เรื่องใหญ่ในทางการเมือง

“อดีตอธิบดีศาลอุทธรณ์” เริ่มต้นว่าหลักการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ต้องขออนุญาตศาลอุทธรณ์ของประเทศผู้ถูกร้องขอ ให้เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด โดยหลักการจะส่งได้หรือไม่ “ต้องมีสนธิสัญญาระหว่างกัน” โดยหลักในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนมี 2 วิธี

“วิธีที่ 1 โดยอำนาจตุลาการ เป็นระบบสากล ต้องมีตัวผู้ต้องการส่งและให้โอกาสคัดค้านในชั้นศาล วิธีที่ 2 โดยอำนาจบริหาร ส่งให้ตามความพอใจของประเทศผู้ถูกร้องขอ ไม่ผ่านศาล ผิดธรรมเนียมสากล ไม่เป็นที่ยอมรับ”

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าจะส่งหรือไม่ส่ง “จะต้องเป็นความผิดของทั้งสองประเทศ และระบุไว้ในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างสองประเทศ”

ตำแหน่งการเมืองยันต์กันผี

เขาเหลาประเด็นให้แหลมคม ในความพยายามของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ร้องขอส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่ออังกฤษว่าภายหลังรัฐบาลไทยยื่นคำร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว อังกฤษต้องมีตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ที่อังกฤษแน่นอน และส่งให้อัยการอังกฤษพิจารณาว่าเป็นความผิดเข้าเกณฑ์กฎหมายเดียวกันหรือไม่ ถ้ามีความผิดเหมือนกัน จึงจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อไต่สวนและเปิดโอกาสให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์คัดค้าน แสดงพยานหลักฐาน

เมื่อ “หนทางเดียว” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือ “คำคัดค้าน” ว่าเป็น “คดีการเมือง” ศาลอังกฤษจะพิจารณาจากพยาน-หลักฐาน-คำพิพากษาของศาลการละเลย-ไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่นั้น

“โดยหลัก ถ้าไม่ใช่ความผิดเดียวกันของทั้งสองประเทศจะไม่ส่ง หรือถ้าเป็นความผิดของทั้งสองประเทศ แต่ความผิดนั้นเป็นคดีการเมือง ไม่ส่งเด็ดขาด”

“อุดม” ขยายความ คำ “คดีการเมือง”

ว่า กฎหมายไม่ได้กำหนดบทนิยามไว้ ไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์ว่า อะไร คือ คดีการเมือง

“หลักปฏิบัติของทุกประเทศมีหลักเกณฑ์ว่า ถ้าเป็นผู้กระทำผิดขณะดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถูกดำเนินคดีภายหลังให้ถือว่าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง”

อะไร คือ ตรรกะ-ความคิดของผู้ที่ทำหน้าที่ชี้เป็น-ชี้ตาย ก่อนเข้าแดนประหาร ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาว่า คดีที่เป็น “คดีการเมือง” ศาลจะไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

“เหตุที่เขาถือหลักอย่างนี้ เพราะหลักของการเมืองจะประกอบด้วย 2 ฝ่าย ที่มีแนวคิดแตกต่างกัน หมายความว่า เป็นเรื่องของแต่ละฝ่ายที่จะแย่งชิงกันมาซึ่งผลประโยชน์และอำนาจ”

“คุณยิ่งลักษณ์ถูกศาลพิพากษาคดีที่การกระทำอยู่ระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมือง (นายกรัฐมนตรี) และถูกดำเนินคดีในช่วงที่รัฐบาลปัจจุบันซึ่งยึดอำนาจมาจากรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ เพราะฉะนั้น ต่างประเทศจึงไม่ไว้ใจว่า จะให้ความยุติธรรมกับคนที่คุณยึดอำนาจมา หรือจะใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซงหรือไม่ แม้จะมีรัฐบาลเลือกตั้งในภายหลังก็ตาม”

หวั่นรัฐบาลทหารแทรกแซง

“หลักในการพิจารณาของศาลทั่วโลก คือ การจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปให้ประเทศผู้ร้องขอพิจารณานั้น ต้องดูว่าประเทศนั้นจะให้ความยุติธรรม ถูกต้องทุกขั้นตอนหรือไม่ มีอำนาจแทรกแซง สั่งการทางการเมืองหรือไม่”

“ฉะนั้น คดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นที่น่าสงสัยได้ว่า อาจจะถูกสั่งการจากผู้มีอำนาจทางการเมือง ศาลไม่ให้เลย เพราะการจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปให้ประเทศใดประเทศหนี่งพิจารณา จะต้องได้รับการพิจารณาจากอำนาจตุลาการที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม 100% ถึงจะส่งให้”

คำถามคำโต คือ แล้ว “ข้อหักล้าง” อะไร ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์อาจจะใช้ประกอบ “คำให้การ” ว่า คดีจำนำข้าว คือ คดีการเมือง ? โดยที่ศาลอังกฤษเห็นว่า มี “น้ำหนักมากพอ”

“ศาลถือหลักว่า ประเทศนั้นปกครองโดยระบบที่ถูกต้อง รัฐบาลถูกต้องหรือไม่ ถ้ารัฐบาลไม่ถูกต้องตามหลักทั่วไป ไม่ส่งให้” และเขายกคดีความผิดทางอาญาตัวอย่างที่ศาลสูงแคนาดาพิพากษาไว้แล้ว คือ คดีฉ้อโกงธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง

“ผู้ต้องหาหลบหนีไปแคนาดา ถึงแม้ศาลอุทธรณ์แคนาดาตัดสินว่า ให้ส่ง แต่มีการยื่นไปยังศาลสูงสุดแคนาดา ซึ่งยืนตามศาลอุทธรณ์ แต่ศาลสูงสุดเห็นว่า ขณะนั้นอยู่ในสภาพการบริหารประเทศจากรัฐบาลที่ไม่ได้มาโดยปกติ ถูกต้อง ชอบธรรม จึงให้รอไว้ก่อน จนกว่าจะมีรัฐบาลที่ถูกต้อง ชอบธรรม ถึงจะส่งให้ในอีก 2-3 ปีต่อมา” ไม่ไว้ใจอำนาจพิเศษ

“หลักคิดของอำนาจตุลาการทุกประเทศยืนอยู่บนหลักคิดว่า การจะส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปให้ประเทศใด คนที่ถูกส่งไปต้องได้รับการพิจารณาตามขั้นตอน และกระบวนการที่ถูกต้อง ชอบธรรม หากมีอะไรที่เห็นว่าจะเป็นอันตราย ไม่ให้เลย”

“หลักกฎหมายที่เป็นสากล คือ คนทุกคนต้องรับผิดชอบ สมมุติอังกฤษจะส่งคุณยิ่งลักษณ์เป็นผู้ร้ายข้ามแดน ตามที่รัฐบาลไทยขอ อังกฤษก็ต้องรับผิดชอบต่อชาวโลกว่า การส่งไปถูกต้องหรือไม่ หากเกิดไม่ได้รับความเป็นธรรมให้ต้องรับผิดขึ้นมา โลกไม่คบเลยนะ ต้องเป็นไปตามครรลองที่ถูกต้อง ประเทศใดที่ปกครองโดยอำนาจพิเศษ ไม่มีใครไว้ใจ”


การรัฐประหารจึงเป็นดาบสองคม-ช่องโหว่ให้คนผิดลอยนวล-คนบริสุทธิ์ต้องถูกรับโทษ