นับถอยหลัง ปิดฉากภารกิจ มีชัย ทิ้งมรดก กม.เลือกตั้งชาติ-ท้องถิ่น

แม้ว่ายังไม่รู้ว่าลูกผีลูกคนสำหรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 36 คน ชงเรื่องแก้ไขในสภากันอีกรอบ

หลัง 616 รายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง เผยโฉมออกมาโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งชุด “ศุภชัย สมเจริญ” นั่งเป็นประธาน เป็นผู้คัดเลือก กลับไม่ถูกตาต้องใจร่างทรง คสช.ในคราบนิติบัญญัติ

แต่สำหรับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ 21 อรหันต์ กรธ.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานปั้นรัฐธรรมนูญ วางกฎกติกาการเมืองแสนเขี้ยว รัดกุมนักเลือกตั้งในอนาคตไม่ให้ “แหกคอก” ออกนอกลู่ นอกกติกา

ให้มีใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม แก่ กกต.ไว้ใช้จับทุจริตเลือกตั้ง-ขีดเส้นการบริหารราชการแผ่นดิน ห้ามใช้นโยบายประชานิยม

พร้อมกับทำคลอดกฎหมายลูก 10 ฉบับ แบ่งเป็นกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ซึ่ง 1 ในนั้นคือ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ที่กำลังตะลุมบอน “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” กันอยู่ใน สนช. ส่วนอีก 6 ฉบับที่เหลือเป็นกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระ-องค์กรตามรัฐธรรมนูญ

กรธ.กำลังจะจบภารกิจ เก็บข้าวของแยกย้ายกลับบ้าน

วาระการพิจารณาของ กรธ.ปัจจุบันนี้เหลือเพียงวาระทบทวนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ทีละมาตรา เผื่อถึงคราวทางตันทางการเมืองจะได้หยิบฉวยมาแจงกับสังคม

นาทีนี้ กรธ. 21 คนงานไม่ชุก ไม่มีวาระร้อนการเมืองใด ๆ อีก มีเพียงการประชุมสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

แต่คนที่ยังชุกมือเป็นระวิง คือ หัวขบวน “มีชัย” เพราะนอกจากนั่งคุมวางกรอบกติกาการเลือกตั้งระดับชาติ ทั้งในรัฐธรรมนูญลงไปถึงการออกกฎหมายลูก ทั้งกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กฎหมาย กกต. และกฎหมายพรรคการเมือง

วันไหนที่ไม่มีประชุม กรธ. หรือหลังจากจบประชุม กรธ.ที่อาคารรัฐสภา “มีชัย” ยังข้ามฟากไปประชุมที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) นั่งหัวโต๊ะพิจารณากฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นอีก 6 ฉบับ

ประกอบด้วย 1.พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 2.พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 (อบต.) 3.พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 (อบจ.) 4.พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 5.พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 และ 6.พ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542

ซึ่งที่ประชุมพิจารณาปรับแก้เสร็จแล้ว 5 ฉบับจาก 6 ฉบับ เหลือเพียงฉบับเดียวที่ยังค้างอยู่ คือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม.ที่ล่าช้า แต่ทั้ง 5 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งในระดับภูมิภาค จะมีการชงเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ได้ภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อตรงกับ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯกล่าวผ่านสื่อ “มีชัย” จึงต้องเร่งมือ-คุมงานทุกกระบวนการ

“สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ร่วมประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาเล่าบรรยากาศว่า “ท่านมีชัยแกเก่งจริง ๆ แกนั่งหัวโต๊ะ นั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์เอง เป็นเสมียนเองด้วย พิมพ์เร็ว ทั้งคิด ทั้งร่าง ทั้งพิมพ์ ส่วนคนที่มาให้ความเห็นก็คอยติชม คนในห้องประชุมยังจดไม่ทันว่าท่านพิมพ์อะไร”

ยังไม่นับกฎหมายอื่น ๆ ที่มือกฎหมายระดับ “พญาครุฑ” นั่งร่างเองกับมือเช่นกัน ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ

“มีชัย” เคยพูดถึงภาระร่างรัฐธรรมนูญที่แบกไว้บนบ่าตั้งแต่ปี 2558 ไว้ว่า หลังจากกฎหมายลูก 10 ฉบับผ่านการเห็นชอบจาก สนช.ทั้งหมด เขาจะวางปากกา ปิดฉากภารกิจการเป็น กรธ.

“เพราะโดยสภาพร่างกายทำไม่ได้ จะเกิดอะไรขึ้นก็พ้นวัยของเราที่จะทำ โชคดีที่ร่างกายไม่ล้มกลางคัน มันแสนเข็ญนะ ใช้พลังงานมากที่สุดในชีวิต เพราะไม่ได้ทำที่รัฐสภาอย่างเดียว ต้องไปทำที่คณะกรรมการกฤษฎีกา กฎหมายก็เร่งกันทั้งนั้น วันหนึ่งประชุม 3 รอบ 4 รอบ เลิกจากประชุม กรธ. 2 ทุ่มยังประชุมต่อ เป็นช่วงที่ประเดประดัง เราเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่จะออกตามรัฐธรรมนูญก็ส่งให้เราทำ”

“ผมเป็นคนโชคดี ลืมมันได้ พอออกมาจากห้อง อย่ามาถามว่าเมื่อกี้ประชุมเรื่องอะไร ผมลืม ไปเรื่องใหม่เลย ส่วนเรื่องใหม่ไปถึงก็รู้ว่าจะทำเรื่องอะไร แต่พอออกก็ลืม แต่ตลอดเวลา 2 ปีกว่ากินยานอนหลับทุกคืน เพราะต้องการหลับลึก ไม่เช่นนั้นร่างกายเผชิญไม่ได้ เพราะคนอายุปูนนี้ตอนบ่ายต้องนอนแล้ว ผมฝึกมานานแล้วต้องนอนอย่างน้อย 15 นาที 20 นาที แต่มาทำรัฐธรรมนูญ 2 ปีไม่ได้หลับไม่ได้นอน จึงต้องหลับให้มันลึก”

เตรียมปิดฉากภารกิจ 2 ปี 11 เดือนที่เขานั่งร่างกติกาประเทศ คุมเบ็ดเสร็จเขียนทั้งกติกาเลือกตั้งใหญ่-ท้องถิ่น