“ทวีศักดิ์” ลมใต้ปีก “สุเทพ” ภาคต่อ กปปส.-เดิมพันสู้คดีกบฏ

พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เปิดตัวคณะกรรมการบริหารพรรค (เฉพาะกิจ) ที่มี “ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” หัวหน้าพรรค และ “ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง” เลขาธิการพรรค โดยมี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้ก่อตั้งพรรคเชิด-ชูมือผู้ร่วมก่อตั้งโหวตรับรอง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ทวีศักดิ์” พ่อบ้านพรรค รปช. คนแรก ถึงเบื้องหน้า-เบื้องหลังการทำพรรคและเรื่องคอขาดบาดตายของ “ลูกความ-นายสุเทพ” เจ้าของฉายา “ลุงกำนัน” ถึงเรื่อง “คดีความ” ในฐานะสวมหมวก “ทนายความคู่บุญ”

ชูธงปฏิรูป 

1 ในฐานะผู้ก่อตั้งพรรค เขาเริ่มโดย “ชูธง” นำการปฏิรูปเพื่อสานต่อเจตนารมณ์กลุ่ม กปปส. และยืนยันว่า รปช. ไม่ใช่ “พรรค กปปส.”-“พรรคสุเทพ” เพราะ “ผู้ก่อตั้งพรรค” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่ม กปปส.

“ไม่มีใครคิดว่าวันหนึ่งจะต้องมาตั้งพรรค เพราะมวลมหาชนที่ร่วมชุมนุม กปปส. ประกอบด้วยคนหลายหมู่เหล่าที่ออกมาจำนวนไม่น้อยมีใจบริสุทธิ์ ไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมือง”

“เมื่อผ่านเหตุการณ์ปี”57 รัฐบาลและ คสช.เข้าบริหารประเทศมีเสียงเรียกร้องถึงเจตนารมณ์กปปส. เช่น การปฏิรูปตำรวจ การกระจายอำนาจ”

“เราคิดว่ายังมีภารกิจที่ต้องเดินต่อแน่นอน เพราะการปฏิรูปเป็นกระบวนการระยะยาว เป็นภารกิจที่ต้องทำและสานต่อ”

เขายอมรับว่า แกนนำ กปปส.หลายคนไม่อยากให้ตั้งพรรค-ไม่มาร่วมก่อตั้งแต่ความสัมพันธ์ฉันมิตรยังคงอยู่

“คนที่ขึ้นเวทีหลากหลาย เราจึงต้องเคารพ และไม่ควรนำเอาคำว่า กปปส. ซึ่งเป็นนามธรรม ภาพรวมทั้งหมดของทุกภาคส่วนมาสื่อถึงความเป็นพรรค”

ภาคต่อ 204 วัน กปปส. 

“เลขาธิการ รปช.” เชื่อว่า รปช.จะไม่ล้มเหลว-ซ้ำรอยการตั้งพรรคการเมืองของอดีตกลุ่ม พธม. เพราะการชุมนุมกลุ่ม กปปส.เป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์-มวลมหาประชาชน “ทุ่มสุดตัว” กว่า 204 วัน บนท้องถนน

“ในการรวมตัวกันของประชาชนทุกเหตุการณ์ย่อมมีวันสิ้นสุด แต่ใครจะทำตามเจตนารมณ์และลงมือทำจริง ที่ผ่านมาปรากฏหลายครั้งว่า เจตนารมณ์การชุมนุมแต่ละครั้ง ตั้งแต่ 14 ตุลา ฯ 16 การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตร ฯ เมื่อไม่มีองค์กรขับเคลื่อนต่อ ข้อเรียกร้องของประชาชนก็จะค่อย ๆ จางไป”

“ดังนั้น ความคิดเรื่องการตั้งพรรคจึงเกิดขึ้น ถ้าเราเป็นพรรคการเมืองเสียงข้างน้อย อย่างน้อยเป็นปากเป็นเสียง ถ้าบังเอิญเรามีส่วนเป็นพรรครัฐบาล นโยบายของประชาชนต้องได้รับการปฏิบัติ ไม่ใช่เข้าไปต่อรองกันว่า ใครจะเอากระทรวงอะไร”

ประชาชนเป็นเจ้าของพรรค

ในฐานะมือกฎหมายชั้นครู เขามองเห็น “โอกาส” จากกฎหมายพรรคการเมือง-กติกาใหม่การเข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งหน้าให้พรรคมีสาขาทุกภาค มีตัวแทนในทุกจังหวัด

“ครั้งนี้เป็นนวัตกรรมใหม่และอุดมการณ์พรรค คือ ทำอย่างไรจะเป็นพรรคของประชาชนจริง ๆ”

“เริ่มต้นจากให้ประชาชนร่วมลงทุน ลงขัน ให้ประชาชนรู้สึกว่ามีหุ้น อยากลงทุน เกิดความรู้สึกมีส่วนเกี่ยวข้อง หวงแหน ส่งเสียงได้ในทุกเรื่องในพรรค ประชาชนมีสิทธิ์ มีเสียงจริง”

“ขณะที่ข้อบังคับพรรคให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้เกิดความแข็งแรง มีพลัง ถ้าสะท้อนให้เห็นได้ว่า พรรครับฟังเขาจริง พรรคไปได้ ประชาชนมีความหมายเพราะมีอำนาจจริง”

ไม่เป็นศัตรู-ไม่ใช่สาขา ปชป.

การผละออกจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ของนายสุเทพ-สายเลือดเทือกสุบรรณ ซึ่งมีฐานเสียงทับซ้อน-ดึงคะแนนเลือกตั้ง กับ ปชป. โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ หรือด้วย “สายใย” ระหว่าง รปช. กับ ปชป. อาจเป็นพรรคสาขา 2 ประชาธิปัตย์ ?

“ฐานมีส่วนทับซ้อนกันระดับหนึ่ง ความคิดทางการเมืองแตกต่างกันได้ แต่ไม่ได้เป็นศัตรูกัน ส่วน รปช.ไม่ใช่พรรคสาขา ปชป.แน่”

“แต่ละพรรคมีบุคลิกของตัวเอง แต่แน่นอน เพื่อนพ้อง น้องพี่ รู้จักมักคุ้นกัน รักใคร่กันดี เคารพนับถือกัน แต่บทบาททางการเมือง เราคงไม่อาจทำตัวเป็นสาขา หรือเป็นติ่งของ ปชป.”

ส่วนบรรทัดสุดท้าย รปช. กับ ปชป. หรือพรรคการเมืองใดจะร่วมกัน เขาเอาสถานการณ์เป็นตัวตั้ง-เอาอุดมการณ์และนโยบายพรรคเป็นเกราะกำบัง

“ถ้าจะรวม หรือร่วมกับใคร เอาอุดมการณ์ นโยบายมาวางดูกัน สมมุติมีพรรคไหนบอกว่า อุดมการณ์เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เอา ก็เลิกพูดกันตั้งแต่วันแรก”

ไม่นิยมนายกฯทหาร

ขณะที่ท่าทีชู-ไม่ชู “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ คนต่อไป การพูดว่าจะสนับสนุน-ไม่สนับสนุนใครเป็นนายกฯ วันนี้ยังไม่มีใครตอบได้ชัด และเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ทั้งนายสุเทพ แม้กระทั่งหัวหน้าพรรค

“ถ้าบอกว่าเป็นพรรคของประชาชนแต่ท่านสุเทพหรือว่าที่หัวหน้าพรรค บอกว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯเสียแล้ว มันไปต่อไม่ได้”

“สมมุติถึงสถานการณ์หนึ่ง ผลการเลือกตั้งออกมา เกิดพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเสียงข้างมาก พรรคการเมืองคงมีการถกเถียงกันภายในพรรค และมีมติพรรค คงไม่มีใครรวบหัวรวบหางให้เอาหรือไม่เอาอะไรได้”

ทว่าคอนเน็กชั่นภายในพรรค-นายสุเทพที่โยงใย กว้างขวาง เกาะเกี่ยวกับคนในรัฐบาล-คสช. จึงถูกเหมารวมเป็นค่ายเดียวกับทหาร

“ไม่ใช่แน่นอน ไม่มีใครนิยมชมชอบว่า ต้องเอาทหารมาเป็นนายกฯ หรือต้องเอาทหารมาเป็นส่วนสำคัญของการเป็นรัฐบาล”

“สัญชาตญาณของฝ่ายการเมืองและประชาชน ไม่มีใครต้องการให้เกิดรัฐประหาร ไม่มีใครอยากให้ทหารมาเป็นผู้นำรัฐบาล ถ้าเลือกได้”

ภาคใต้ขอเป็นที่สอง 

ส่วนยุทธศาสตร์ของพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า (ว่าที่) เลขาธิการ รปช.วิเคราะห์ว่า การนับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสมทำให้คะแนนประชาชนไม่ตกน้ำ

“รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นใจ สมมุติ ส.ส.เขต แทบไม่ได้เลย แต่เรามีโอกาสได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่น่าจะน้อย เพราะคะแนนของประชาชนไม่มีวันตกน้ำ”

“ยกตัวอย่าง จังหวัดตรัง ที่ 1 ปชป.มาแน่ รปช.ขอที่ 2 ที่ 3 ก็พอ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้ได้คะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์บ้าง ซึ่งเป็นวิถีทางทางการเมืองที่ทำให้ไม่มีใครกินรวบทั้งหมด”

“การเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นไปได้ว่า คนที่เป็นอดีต ส.ส.เก่า ยึดกุมสภาพพื้นที่-คะแนนเสียงไว้ได้ แต่ รปช.ไม่ค่อยมีอดีต ส.ส. เพราะเขาเงื่อนไขเยอะ และการที่พรรคมีอุดมการณ์ เขาอาจเห็นเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เพ้อฝัน แต่เราต้องการพิสูจน์ว่า ความฝันของเราเป็นความจริงได้ ค่อย ๆ เดินทีละก้าว ค่อย ๆ โตไป ยุทธศาสตร์พรรคไม่ได้เน้นนักเลือกตั้ง แต่ต้องการคนหน้าใหม่”

ภารกิจทำคลอดพรรค

“ความจริงผมปฏิเสธตำแหน่งภายในพรรคหลายรอบ แต่เพื่อนพ้องขอร้องให้รับก่อน เพราะว่าความเป็นนักกฎหมายมีขั้นตอนต้องดำเนินการหลายเรื่องกับ กกต. ประกอบกับรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.พรรคการเมือง กฎเกณฑ์ ประกาศของ กกต. และคำสั่ง คสช. (เน้นเสียง) มีหลายอย่างต้องระมัดระวัง ผลีผลามไป ดีไม่ดีเหยียบกับระเบิด พรรคไม่ทันเกิด”

หนักใจคดีสุเทพ-กปปส.

เมื่อต้องสวมหมวก 2 ใบ ใบ 1 เลขาธิการ รปช. อีกใบ 1 ที่มี “ลูกความ” คดีชุมนุมทางการเมืองที่มีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต ทำให้เขายัง “คิดไม่ตก” ว่า จะแบ่งรับ-แบ่งสู้กับ 2 ภาระอันหนักอึ้งอย่างไร

“ผมคิดมากเลย ผมบอกกับทีมกฎหมายทั้งหมดว่า ถ้ามีใครช่วยรับภาระตรงนี้ไปบ้าง ผมอยากให้เป็นคนนั้นไปเลย เพราะผมยังมีงานคดีที่ต้องใช้สมองอยู่พอสมควร”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคณะกรรมการบริหารชุดนี้เป็นชุดก่อตั้ง ยังไม่ใช่ชุดถาวรที่มีวาระ 4 ปี

“ถ้าหากผมต้องส่งไม้ต่อเรื่องคดีความ ผมถือว่าคงไม่เป็นเวลาที่ยาวนานนัก จนถึงขั้นผมต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต เลิกวิชาชีพทนายความไปเลย แต่หากจำเป็นผมก็ต้องตัดสินใจ ต้องไม่ให้งานในอาชีพของผมต้องเสียหาย เพราะถ้าหากว่าผมต้องดูแลงานในอาชีพแล้วตรงนี้ (เลขาฯ รปช.) ไม่เต็มที่ ผมก็ต้องเปิดทางให้คนอื่นเข้ามาแทน เพราะเป็นเรื่องของบ้านเมือง”

ดังนั้น ขณะนี้เขาจึงต้องเพลามือเรื่องคดีความ แต่หากที่ประชุมพรรคเลือกเป็น เลขาธิการ รปช.ชุดถาวร คงจำเป็น “ต้องวางมือคดีทั้งหมด”

เมื่อเป้าหมาย “พลพรรค” คือ การชนะศึกเลือกตั้ง-ร่วมขบวนรัฐบาล แต่อีกเป้าหมาย คือ การว่าความให้ “ลูกความ” ต้องชนะคดี-พ้นข้อหากบฏ

“เรื่องคดีความเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย พลาดพลั้งไปติดคุกติดตะราง เสียหายเดือดร้อน ผมต้องรับผิดชอบโดยจรรยาบรรณวิชาชีพ ผมถือว่าตรงนั้นเป็นจุดสำคัญยิ่งยวด”

“ส่วนกระบวนการทางการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป ผมคิดว่าพรรคมีตัวเลือกไม่น้อย ไม่จำเป็นต้องเป็นผมก็ได้ เรื่องพรรคเชื่อว่ามีคนทำแทนได้แน่ แต่ยังช่วยพรรคต่อไป ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่ง”