“จตุพร” เจรจาอารยะก่อนตายหมู่ “ทักษิณ” ยังอยู่-หมดนาทีทอง “ประยุทธ์”

สัมภาษณ์พิเศษ

สงครามการเลือกตั้งยุติไปตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 22 พ.ค. 2557

แต่พลันที่โรดแมป คสช.เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย แสงสว่างการเลือกตั้งเริ่มปรากฏที่ปลายอุโมงค์ พรรคการเมือง-นักการเมือง ที่เคยหยุดนิ่ง งดกิจกรรมการเมืองโดยคำสั่ง คสช. เริ่มกลับมาเคลื่อนไหวคึกคัก

วิวาทะการเมืองกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล จากที่แต่ก่อนมีแค่เนือง ๆ หากตอนนี้เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น

ขณะที่เครือข่ายการเมืองฝ่ายผู้มีอำนาจขยับตัวเคลื่อนไหวรุนแรง ใช้ลูกไม้เก่าเดิน-ดูดอดีตนักการเมืองเข้าร่วมเป็นพวกประกาศหนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี รอบ 2

การเมืองยังทวนเข็มนาฬิกาสู่วังวนเดิมก่อนการรัฐประหาร แต่ “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศภายหลังออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ สถานที่ที่เขาเรียกว่า “สุสานคนเป็น” ว่า วิกฤตความขัดแย้งในเมืองไทย มีแต่ตายก่อนแก้ ไม่ได้แก้ก่อนตาย

ในช่วงชีวิตที่ตกต่ำที่สุด อยู่ในเรือนจำนานที่สุด 1 ปี 15 วัน จากการติดคุกทั้งหมด 4 ครั้ง เขาได้สนทนากับนักโทษการเมือง คุยกับอดีตคู่แค้นคนละข้าง อย่าง “สนธิ ลิ้มทองกุล” อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ หนึ่งในแกนนำกลุ่ม กปปส. เขาจึงตกผลึก

หลังจากพ้นห้องขังเพียง 4 วัน “จตุพร” สนทนากับประชาชาติธุรกิจ ถึงสูตรการปรองดองที่เขาตกผลึกจากห้องขัง โดยเขาเริ่มต้นกล่าวว่า…..

“คุกเป็นสถานที่ที่ต่ำในชีวิตของทุกคน เป็นที่สุดของที่สุดของชีวิต อุปมาอุปมัยว่า คนตายไปอยู่ในสุสานคนตาย แต่เนื่องจากเราไม่ตาย จึงไปอยู่ในสุสานคนเป็น สิ่งที่เราทำข้างนอกได้ ไม่สามารถทำในคุก เป็นการอธิบายความว่า ต้องทำตัวเหมือนคนที่ตายไปแล้ว และยอมรับสภาพของความเป็นจริงว่า เราเป็นแค่นักโทษเท่านั้น”

“ถ้าเราคิดถึงอดีต เราจะเป็นคนที่มีความทุกข์มากที่สุด เพราะลำดับเรื่องราวต่าง ๆ แล้วจะเข้าข้างตัวเอง คิดถึงอนาคตก็จะสำคัญตนผิด ดังนั้นอยู่ในโลกความเป็นจริงให้ได้ เป็นนักโทษที่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของราชทัณฑ์อย่างครบถ้วนจึงจะอยู่ได้”

“การเข้าไปอยู่ในสุสานคนเป็น ถ้าใครพกความคับแค้น ความเจ็บปวดรวดร้าวในชีวิตเข้าไป คนนั้นก็จะอยู่ในคุกอย่างทรมานมากที่สุด พื้นที่ในคุกจึงเป็นพื้นที่อโหสิกรรมให้แก่กัน การอภัยระหว่างกัน ดังนั้นการที่เราเจอใคร แม้ก่อนหน้านั้นเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกัน แต่พื้นที่ในคุกเราจะดำรงภาวะอย่างนั้นไม่ได้ เพราะไม่ใช่สนามที่เราต่อสู้อะไรกัน เพราะเราต่างฝ่ายต่างมาถึงจุดที่สุดในขณะที่มีชีวิตแล้ว การอภัยให้แก่กัน ถือว่าเป็นหน้าที่”

“การพูดคุยในจุดที่ไม่มีหัวโขน เพราะทุกคนเท่าเทียมกันในการเป็นนักโทษ เป็นการพูดโดยที่ไม่มีเปลือกว่าตัวเองเคยเป็นอะไรมา เมื่อสถานะอยู่ในจุดที่ต่ำสุดก็สามารถคุยในปัญหาของส่วนรวมที่จะหาหนทางออกในวันข้างหน้า เพราะสถานที่นั้นเป็นสถานที่ที่ทุกคนต่างน้อมรับชะตากรรมกันเป็นหลักแล้ว เป็นที่ยุติโดยการถูกจำขัง”

“ในระยะเวลา 10 กว่าปี ผมกับคุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) ไม่เคยฟาดฟันกันเรื่องส่วนตัว เพียงแต่คุณสนธิกับผมยืนคนละจุด มีความเห็นแตกต่างกัน ทำตามความเชื่อของแต่ละคน มีโอกาสคุยแลกเปลี่ยนกันที่โรงพยาบาล ทุกคนได้เห็นในบริบทของชีวิต เห็นเส้นทางของตัวเอง แต่มุมมองในอนาคตเป็นอย่างไรก็ต้องคิดอ่านกันต่อแต่ตอนนี้ก็สามารถพูดคุยกันด้วยความเข้าใจกันได้”

ตกผลึกปรองดองจาก “เรือนจำ”

หลังจากคุยกับอดีตคู่ต่อสู้ทางการเมือง “จตุพร” กล่าวถึงการ “กลัดกระดุมปรองดอง” ว่า การปรองดองต้องมองโจทย์ข้างหน้าก่อน ใครตอบได้ไหมว่า ถ้าเลือกตั้งเสร็จเราจะไม่มีวิกฤต ได้นายกฯคนนอกก็มีวิกฤตอีกแบบ ได้นายกฯคนในก็มีวิกฤตอีกแบบหนึ่ง และในแต่ละวิกฤตไม่มีใครกล้ายืนยันได้ว่า เราจะไม่บาดเจ็บล้มตายกันอีก

“ความจริงโมเดลการเมืองขณะนี้ เหมือนก่อนการเลือกตั้งปี 2535 ที่เรียกว่า 35/1 และช่วงระหว่างเว้นถึง 35/2 มีคนตายและสูญหาย บาดเจ็บเป็นพันคน เราเองคิดถึงปลายทางได้ เพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่มีอะไรผิดแผกแตกต่าง เพียงแต่ตัวละครเปลี่ยน แท็กติกบางอย่างอาจเปลี่ยนไป”

“รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ และการขับเคลื่อนของซีกการเมือง รวมถึงผู้มีอำนาจปัจจุบัน ผลการเลือกตั้งไม่ว่าออกมาทิศทางใดเกิดเรื่องทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีนายกฯคนนอก หรือนายกฯคนใน ออกมาแบบใดมีปัญหากันทั้งคู่ และจะเกิดวิกฤตทั้งคู่”

“จึงบอกว่าเราควรที่จะคุยกัน เพราะถ้าเราไม่คุยกัน ประเทศไทยสรุปกันแล้วว่า ต้องตายก่อนแก้ ทั้ง 14 ต.ค. 16 พ.ค. 35 แม้แต่ พ.ค. 53 ดังนั้น ชีวิตผมผ่านเหตุการณ์มา มีคนตายเกือบ 200 ชีวิต ผมไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ข้อเสนอผมไม่ได้ทำให้เสียเวลา แต่สังคมต้องหยุดคิดว่า สิ่งที่ผมพูดเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ผมชวนที่จะหลีกเลี่ยง”

ปลดชนวน “ตายก่อนแก้”

หากจะปลดชนวนเรื่อง “ตายก่อนแก้” จะเริ่มจากอะไร “จตุพร” กล่าวว่า “ทุกสิ่งมันเป็นปัญหาหมด แม้กระทั่งปัจจุบัน เรื่อง พ.ร.ป.กกต. คิดจะแก้ ปัญหาสร้างเอง ก่อเรื่องเอง ท้ายสุดก็เป็นปัญหาเอง รัฐธรรมนูญทุกประเด็นสร้างปัญหาให้อนาคตทั้งสิ้น นักการเมืองเนื่องจากไม่มีการเลือกตั้งนาน ก็หลับหูหลับตาเลือกตั้งกันเสียก่อน ไม่ได้วางแผนว่าหลังเลือกตั้งอะไรจะเกิดขึ้น

แต่ละฝ่ายคิดว่าจะเข้าไปเป็นรัฐบาล แต่ไม่ได้ดูปัจจัยของรัฐธรรมนูญและกลไกของอำนาจที่จะพาประเทศเข้าสู่จุดเดิม”

“เราไม่ได้ชวนให้เสียเวลา แต่ชวนให้คิดว่าถ้าเลือกตั้งกลับมาแล้ว ได้นายกฯไม่ตรงกับที่ประชาชนต้องการ อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าได้นายกฯคนนอก แล้วตรงข้ามกับผลการเลือกตั้งของประชาชน แรงเหวี่ยงจะเกิดมาก หลังการเลือกตั้งเสร็จต้องประเมินอารมณ์ของประชาชนให้ชัดว่า ไม่เหมือนอารมณ์ของประชาชน ณ ปัจจุบัน เพราะผ่านการหาเสียงต่าง ๆ และเต็มไปด้วยความหวัง การไปหักมุมโดยฉับพลันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่”

“ส่วนนายกฯคนในก็ไปไม่รอด ชัดเจนว่าถ้าสถานการณ์การเมืองไม่ชัดเจน รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ยังไม่ทันแถลงนโยบายก็ล้มกันแล้ว เรารู้ว่าไปไม่รอด เพราะต้องไปตายตั้งแต่ในวุฒิสภา องค์กรอิสระ นี่คือสภาพความเป็นจริง ถ้าผิดยุทธศาตร์ชาติก็พ้นรัฐบาล สภาพข้างหน้ามีแต่วิกฤตปัญหา จะไม่มีเรื่องการพัฒนาประเทศได้”

หนทางออกที่สมดุลกันระหว่างผู้มีอำนาจปัจจุบัน กับนักการเมือง ที่จตุพรคิดและเสนอ คือ ทุกฝ่ายต้องหันหน้าคุยกันว่าจะยอมรับ “กติกา” ที่ร่างโดย คสช. กันได้มากแค่ไหน

“ต้องคุยกันให้ชัดว่า ท้ายที่สุดภายใต้กติกาอันริบหรี่ แต่ละฝ่ายจะยอมรับได้กันขนาดไหน ถ้าไม่คุยกัน เราก็เห็นอยู่แล้ว เลือกตั้งเสร็จไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าคะแนนเสียงออกมาอย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดก็เป็นวิกฤต บวกกับประชาชนมีความลำบากทางเศรษฐกิจมายาวนาน เราก็หวั่นเกรงว่าจะรุนแรงกว่าปี”35 เพราะปี”35 ไม่มีภาวะที่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจเหมือนในปัจจุบัน”

“วันนี้ชวนให้สังคมคิด ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำในสิ่งนั้น การที่เราเห็นทางข้างหน้าไม่ได้พยากรณ์อย่างเลื่อนลอย แต่บอกกงล้อประวัติศาสตร์ เป็นเช่นนั้นอยู่เสมอ ยังหนีไม่พ้นกงล้อนี้ จึงชวนว่าอย่าเดินตามกงล้อนี้ได้ไหม ประวัติศาสตร์ได้อธิบายความไว้หมด”

มีเครดิตแค่ไหนที่ทุกฝ่ายถึงต้องฟังคนชื่อ “จตุพร” เขาตอบว่า “ไม่ต้องการให้ใครฟังหรือไม่ฟัง แต่ต้องการให้ใครก็ตามฉุกคิดเอง ไม่ต้องคิดถึงหน้าผม คิดถึงหน้าตัวเอง ลองทบทวนอย่างช้า ๆ

ลดความอยากลง คิดเรื่องส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว แล้วหลับตาลงนิ่ง ๆ คิดดูว่า ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตามหนทางไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง จะเกิดอะไรขึ้นโดยที่ไม่มีผมเกี่ยวข้อง เอาเรื่องบ้านเมืองมาเป็นตัวตั้งไม่ต้องคิดว่าใครเป็นคนพูด ให้ทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางออก ความจริงแล้วเราอดทนรอคอยให้สถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ได้ แต่มันต้องสังเวยกับชีวิตของประชาชน ซึ่งเราไม่ต้องการอีกแล้ว”

แนะวิธีลบภาพทักษิณ

ความขัดแย้งช่วง 10 ปีเศษ หลังจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ถูกยึดอำนาจ คู่ต่อสู้ของทักษิณเปลี่ยนหน้า เปลี่ยนตาไปหลายคน แต่ “ทักษิณ” ยังอยู่ และยังประกาศสู้ ถ้าจะปรองดองต้องทำอย่างไรกับคนชื่อทักษิณ

“จตุพร” กล่าวว่า “ขณะนี้สิ่งที่ใหญ่กว่าบุคคล คือ ความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ได้มองที่ตัวบุคคล แต่ความเดือดร้อนของประชาชนกับวิกฤตศรัทธาที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ถ้ามาบรรจบพบกันจะกลายเป็นวิกฤตชาติที่ใหญ่มาก ถ้าคิดแค่ตัวบุคคลก็ข้ามไปไม่ได้ เราเดินไปข้างหน้า 3 ก้าว เพื่อถอยหลัง 2 ก้าวเหรอ ยิ่งเดินยิ่งช้าลง ต้องเอาบ้านเมืองมาเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เรื่องของพรรค หรือองค์กรใดก็ตาม”

“แต่การจะลบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต้องมีสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเกิดขึ้นก็จะลบสิ่งนั้นได้ ความจริงเรามีนายกฯ 29 คน แต่พอเกิดวิกฤตใด ๆ ขึ้นมา หรือแก้ไขอะไรไม่ได้ ก็มักจะยกบุคคลให้เป็นปัญหา

10 ปีที่ผ่านมา ทุกคนเป็นคำตอบว่าการจะแก้ไขได้ คือการยอมรับของประชาชนไม่ว่าเป็นใครก็ตาม ประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือกับคนที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาชาติ”

“แต่สังคมเราเลือกตัวบุคคลในการหยิบยกเมื่อเกิดปัญหา เพื่อสร้างเรื่องเพื่อกลบปัญหาต่าง ๆ เป็นกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้เสมอ สังคมไทยยังติดอยู่กับการว่าคนอื่นว่าเลว แล้วให้ตัวเองดีขึ้น ทั้งที่ตัวเองไม่ทำความดีอะไรเลย แต่ถ้าตัวเองทำความดีแข่งจนเป็นความดีที่มากกว่า ประชาชนก็ยอมรับโดยปริยาย”

ในทางกลับกัน ระบอบประยุทธ์จะสิ้นสุดตรงไหน ? จตุพรกล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่า พล.อ.ประยุทธ์ใช้ความคิดอย่างแยบยลระมัดระวัง ไม่ตึงจนขาด เป็นการเข้าใจบริบทของสังคมไทย

ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา พอตึงสักพักก็ต้องออก รุนแรงมากก็ขอโทษ

“เส้นทางต่อไปก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ปัญหาเศรษฐกิจเผชิญกันทั่วหน้า และทุกคนมีความหวังว่า การเลือกตั้งจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ระหว่างทางก็เห็นสิ่งที่เป็นอุปสรรค ดังนั้น ปลายทางผมว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องคิดตามลำดับ ไม่ว่านักการเมืองจากการยึดอำนาจ หรือจากการเลือกตั้ง มักไม่เลือกเวลาไปที่ดี

แต่ละคนมีเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตกันทั้งหมด บางเวลาคิดจะไปก็ไปไม่ได้แล้ว เพราะเลยเวลามาแล้ว ห้วงเวลาที่ดีที่สุดของคนที่เป็นผู้นำ ไม่ว่ามาโดยวิถีใดเป็นนาทีทอง ถ้าเลยนาทีทองไปแล้ว สถานการณ์จะเป็นคนละเรื่อง”

แล้วนาทีทองของ “พล.อ.ประยุทธ์” ผ่านไปหรือยัง ?

“ผมว่า พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะรู้ดีที่สุด”