ครม.สัญจร เห็นชอบข้อเสนอแผนยกระดับเศรษฐกิจใต้รวมวงเงิน 2 แสนล้าน

เมื่อเวลา 14.30น. ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 6/2561 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุงและสงขลา และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรังและสตูล ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบข้อเสนอแผนงานและโครงการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน รวม 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ สนับสนุนอุตสาหกรรมการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน 2.การท่องเที่ยว 3.การยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตทางการเกษตร 4.การพัฒนาคุณภาพชีวิต 5.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมวงเงินราว 2 แสนล้านบาท

โดยแบ่งเป็นโครงข่ายคมนาคมโลจิสติกส์ 28 โครงการ วงเงิน 128,391 ล้านบาท ประกอบด้วย ถนน 43,000 ล้านบาท ท่าเรือ 628 ล้านบาท สนามบิน 1,338 ล้านบาท และรถไฟทางคู่ 83,378 ล้านบาท ทั้งนี้ จะทยอยอนุมัติงบประมาณตั้งแต่ปี 2562-2565 แต่โครงการที่เสนอส่วนใหญ่อยู่ในแผนงานของกระทรวงคมนาคมแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีโครงข่ายคมนาคมเพื่อเชื่อมภาคใต้ฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย และโครงข่ายคมนาคมจากเหนือลงใต้ รวมถึงการพัฒนาชายฝั่งทะเลสองฝั่ง ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

ฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วยโครงการ Thailand Riviera ระยะทาง 515 กิโลเมตร (กม.) คงเหลือ 177 กม. สิ้นสุดที่ จ.ชุมพร โดยภาคเอกชนเสนอให้ต่อไปถึง จ.สงขลา รวมถึงการก่อสร้างทางเลียบทะเลสาบสงขลาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งที่ประชุมได้ขอรับไว้พิจารณาเพื่อศึกษารายละเอียด

ทั้งนี้ มีโครงการใหม่เป็นโครงการรถไฟทางคู่ 4 โครงการที่ภาคเอกชนเสนอ ซึ่งจะเริ่มการศึกษาและออกแบบภายในปี 2562 ได้แก่ 1.สายชุมพร-ระนอง เชื่อมต่อการส่งสินค้าสองชายฝั่ง 2.สุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น จ.พังงา 3.สุราษฎร์ธานี-ดอนสัก และ 4.พังงา-กระบี่ รวมระยะทาง 345 กม. วงเงิน 83,506 ล้านบาท และโครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 8 ลงไปถึงอ.สุไหง-โกลก เพื่อช่วยแบ่งเบาการจราจรมอเตอร์เวย์หมายเลข 4 โดย แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ปี 2561- 2564 นครปฐม-ชะอำ (PPP) ระยะที่ 2 ปี 2565-2569 ชะอำ-ชุมพร ระยะที่ 3 ปี 2570-2574 ชุมพร-สงขลา ระยะที่ 4 ปี 2575-2579 สงขลา-นราธิวาส-สุไหง-โกลก

ส่วนการปรับปรุงด้านสนามบินนั้น เอกชนได้เสนอให้ปรับปรุงท่าสนามบินหาดใหญ่และจ.กระบี่ และในปี 2562 จะก่อสร้างอีก 2 สนามบิน คือ นครศรีธรรมราชและตรัง โดยการเพิ่มอาคารผู้โดยสาร 2 อาคาร ส่วนสนามบินจ.ชุมพรและระนองเป็นการปรับปรุงรันเวย์เพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร ทั้งนี้ จะพัฒนาสนามบินสุราษฎร์ ฯ ชุมพรและระนอง (ท่าเรือระนอง) เชื่อมต่อ 3 สนามบินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(SEC) จะเชื่อมโยง 4 จังหวัด โดย จ.ชุมพรคือแหล่งผลไม้และท่องเที่ยว จ.ระนอง คือ ท่าเรือสู่เมียนมา สู่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ส่วน จ. สุราษฎร์ธานี และจ. นครศรีธรรมราช คือพื้นที่เกษตรที่จะเป็นแหล่งผลิตและแปรรูป พร้อมกันนี้ จะมีเส้นทางรถไฟรางคู่เชื่อม จ.ชุมพรและจ. ระนอง เป็นการเชื่อมพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) กับทะเลอันดามัน ทำให้สินค้าแปรรูปจากจังหวัดในภาคใต้สามารถส่งไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTEC มีสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทยและเข้าไปถึง EEC จะเป็นโครงการใหญ่เคียงคู่ไทยแลนด์ ริเวียร่าจากจ.เพชรบุรีสู่ จ.ชุมพร

สำหรับรายละเอียดโครงการ ด้านโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ประกอบด้วย ทางถนน ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงข่ายเส้นทางเพื่อเชื่อมต่อในเชิงพื้นที่ทั้งแนวตะวันตก-ตะวันออกและแนวเหนือ-ใต้ จำนวน 4 โครงการ คือ โครงการขยายทางหลวงชนบทสุราษฎร์ ฯ หมายเลข สฎ 3012-บรรจบทางหลวงหมายเลข 44 (ถนนเชื่อมทางหลวงหมายเลข 44 และหมายเลข 401 และท่าเรือท่าทอง) โครงการขยายทางหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 415 ตอนบางคราม-พนม ระยะทาง 26.780 กม. โครงการขยาย 4 ช่องทางจราจร ทางหลวงหมายเลข 4009 ตอนนาสาร-เวียงสระ-บางสวรรค์-อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ระยะทาง 68.483 กม.และ โครงการระบบโลจิสติกส์จากสถานีรถไฟ จ.ชุมพร เพื่อเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึก จ.ระนอง สนับสนุนเชื่อมโยง EEC

2.เร่งรัดการก่อสร้างและพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งอ่าวไทย (Thailand Riviera) 3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้ – ทุ่งสง จำนวน 3 สายทาง ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 4019 ตอนทุ่งใหญ่-ช้างกลาง ระยะทาง 13.650 กม. ทางหลวงหมายเลข 4110 ตอนทุ่งใหญ่ – บางรูป 4.500 กม. ทางหลวงหมายเลข 4305 ตอนทุ่งสง – จำปา 3.200 กม. และ 4.ก่อสร้างเส้นทางมอเตอร์เวย์ ตั้งแต่ จ.ชุมพร-สุไหง โก-ลก จ.นราธิวาส

ส่วนโครงการทางถนน ฝั่งอันดามัน ได้แก่ 1.โครงข่ายคมนาคมทางถนนเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวและการเกษตรสองฝั่งสมุทร (อ่าวไทย-อันดามัน) ประกอบด้วย 1.ทางเลี่ยงเมืองกระบี่ 29 กม. 2.ถนนวงแหวนรอบเมืองตรัง (บ้านนาขา-บ้านควนปริง) 3.ถนนวงแหวนรอบเมืองตรัง (บ้านควนปริง-บ้านควน) 4.ขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4 บ้านราชกรูด จ.ระนอง ถึง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

5.ขยาย 4 ช่องจราจร หมายเลข 401 ตอนแยกโคกเคียน-เขาสก-พนม-ช่อชาลี 94.642 กม. 6.ขยาย 4 ช่องจราจร หมายเลข 4006 จากราชกรูด-พะโต๊ะ-หลังสวน 7.ขยาย 4 ช่องจราจร หมายเลข 4156 เขาพนม-ทุ่งใหญ่ 40.475 กม. 8.ขยาย 4 ช่องจราจร หมายเลข 404 ตอน อ.ย่านตาขาว-อ.ละงู 71.400 กม. 9.ทางหลวงแนวใหม่สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว จ.ภูเก็ต หมายเลข 4026 ระยะทาง 22.40 กม. และ 10.ก่อสร้างถนนเชื่อมโยง จ.สตูล-เปอร์ลิส

ระบบราง ฝั่งอ่าวไทย สนับสนุนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และ เร่งรัดก่อสร้าง 3 โครงการ ได้แก่ 1.รถไฟทางคู่สุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น 158 กม. 2.รถไฟทางคู่สายดอนสัก-สุราษฎร์ธานี 3.รถไฟทางคู่สายชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง และ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ขอรับการสนับสนุนระบบรางจากสถานีกันตัง-ท่าเรือนาเกลือ จ.ตรัง

สำหรับทางน้ำ ฝั่งอ่าวไทย 1.การพัฒนาและสนับสนุนท่าเรือสำราญ 2.เร่งรัดก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 และ 3.ท่าเรืออเนกประสงค์เพื่อเชื่อมแลนด์บริดจ์ของท่าเรือชุมพร-ระนอง ฝั่งอันดามัน ได้แก่ 1.ปรับปรุงท่าเทียบเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต และท่าเลน จ.กระบี่ 2.ปรับปรุงท่าเทียบเรือแพขนานยนต์ข้ามฟากเกาะลันตา 3.ท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) จ.กระบี่

ทางอากาศ เร่งรัดพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จ.สงขลา โดยปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสาร เพิ่มลานจอดเครื่องบิน อาคารจอดรถยนต์และเส้นทางเข้า-ออก

 


ที่มา มติชนออนไลน์