‘ธนาธร’ ลั่น ปัญหาประมงแก้ให้ยั่งยืนได้ ไม่ต้องใช้วิธีแบบทหาร

เพจเฟสบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เผยแพร่ข้อคิดเห็นของนายธนาธร เรื่องการแก้ปัญหาประมง โดยระบุว่า

ปัญหาประมงแก้ได้ ไม่ต้องใช้กลไกทหาร ไม่กี่วันก่อน ผมได้มีโอกาสไปสำรวจความเดือดร้อนของผู้อยู่ในอุตสาหกรรมประมงที่สมุทรสาคร ที่นอกจากจะเผชิญพิษเศรษฐกิจตกต่ำ กำลังซื้อหดหาย ยังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากผลพวงของการใช้กลไกทหารแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย

การทำประมงในระดับที่เกินศักยภาพการผลิตของท้องทะเลจนระบบนิเวศเสียสมดุล รวมถึงการใช้แรงงานทาส-แรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมง เป็นปัญหาใหญ่ในโลก ไทยในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ ได้รับใบเหลืองเรื่องประมงจาก EU มาตั้งแต่ปี 2558 โดยเรียกรวมๆว่าการติดใบเหลือง IUU (Illegal Unreported Unregulated Fishing) ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมประมงส่งออกที่มีมูลค่าเกือบ 60,000 ล้านบาทต่อปี เสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรจาก EU

เมื่อเรื่องนี้เกิดในรัฐบาลทหาร ก็แน่นอนว่าวิธีการแก้ปัญหามาแบบทหารๆ คสช. มีคำสั่งตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) มาแก้ปัญหา IUU โดยให้กองทัพเรือเป็นหัวเรือใหญ่ มีอำนาจสั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จริงอยู่ที่ว่าการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้การทำประมงเป็นไปอย่างยั่งยืน และเคารพสิทธิมนุษยชน เป็นการทำตามแนวทางของ EU ซึ่งตรงกับมาตรฐานสากล และเท่าที่ผมสอบถาม ชาวประมงก็ไม่ได้คัดค้านอะไร พวกเขายินดีจะช่วยรักษาทรัพยากรทางทะเล ให้เป็นแหล่งทำมาหากินอันอุดมสมบูรณ์ไปจนถึงคนรุ่นต่อๆ ไป

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ไทยพยายามแก้ไขปัญหา IUU มาจากการตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจอย่าง ศปมผ. ซึ่งต้องยอมรับว่าการให้ทหารเรือมาควบคุมดูแลกิจการประมง ออกจะผิดฝาผิดตัวอยู่สักหน่อย โดยเฉพาะเมื่อแม้แต่สหรัฐฯและออสเตรเลีย รวมถึงตำรวจสากล ยังยอมรับว่าการประมงผิดกฎหมายเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่ซับซ้อนที่สุดปัญหาหนึ่งในโลก

เรือประมงไทยที่ถูกควบคุมจากหน่วยงานราชการมีประมาณ 7,000 ลำ มีท่าเรือทั้งถูกและผิดกฎหมายกว่า 1,200 แห่ง มีแรงงานในอุตสาหกรรมประมงทางทะเลประมาณ 70,000 คน ประมาณ 70% เป็นแรงงานต่างด้าว ปัญหาที่ทับซ้อนกันอยู่มีตั้งแต่เรื่องแรงงานทาส ค้ามนุษย์ ไปจนถึงเรื่องใบอนุญาตเรือ มาตรฐานอุปกรณ์จับปลา และแนวปฏิบัติของเรือประมง ทั้งหมดเกิดจากการปล่อยปละละเลยของหน่วยงานรัฐเอง ทำให้ปัญหาหมักหมมยาวนานจนยากจะแก้ไข และเมื่อต้องการแก้ไข คสช.ก็อยากได้ผลสำเร็จแบบเร่งด่วนทันควัน โดยใช้ความเด็ดขาดของทหารเข้าไปสั่งการ ในระยะแรกก็มีแผนระยะยาวเป็นระบบดีอยู่ แต่เมื่อได้รับฟีดแบ็กจาก EU ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงฉับพลันทุกครั้ง แถมยังเร่งให้ได้ผลภายใน 3 วัน 7 วัน บวกกับมีคสช.เข้ามาล้วงลูกเป็นระยะ ซึ่งแน่นอนว่าท่ามกลางความผันผวนรวนเรของนโยบายเช่นนี้ ชาวประมงรายย่อยคือผู้ได้รับผลกระทบหนักที่สุด

ผมขอย้ำอีกครั้งว่าชาวประมงที่ผมได้เจอที่สมุทรสาคร ส่วนใหญ่บอกตรงกันว่าไม่ได้คัดค้านการเปลี่ยนแปลง แก้ไขกฎหมาย ทำประมงให้ถูกหลักสากล แต่พวกเขาไม่ต้องการนโยบายที่ออกมาแบบไม่รอบคอบ เปลี่ยนแปลงไปมา และไม่ศึกษาให้ดีว่าสอดคล้องกับบริบทการประมงของไทยหรือไม่

แนวทางการแก้ปัญหาประมงที่ยั่งยืน เป็นธรรม ไม่ใช่การใช้อำนาจเด็ดขาดของทหาร แต่คือการเอาหลักสากลเป็นตัวตั้ง แล้วรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมทั้งหมด ก็จะได้กฎหมาย นโยบาย ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย แม้จะช้ากว่าอำนาจสั่งการคสช. แต่นโยบายนั้นจะนำไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ทั้งของประเทศ ชาวประมง และสิ่งแวดล้อม

 

ที่มา มติชนออนไลน์