สนช.ยังไม่ส่งศาล รธน.ปมกฎหมายผู้ตรวจฯ อ้างรอเคาะตั้งไม่ตั้ง กมธ.ร่วมก่อน

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 11 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ตนได้รับคำร้องจากกลุ่มสมาชิก สนช.จำนวน 34 คน นำโดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสนช.เพื่อขอให้ประธาน สนช. ส่งร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หรือไม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยประเด็นที่กลุ่มสมาชิก สนช.สงสัยว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ คือ การกำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระตามที่กำหนดไว้บทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่ สนช.มีการแก้ไข

“ผมพิจารณาจากคำร้องของ นพ.เจตน์แล้วเห็นว่า ได้ส่งคำร้องถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพราะมีการเข้าชื่อหนึ่งในสิบตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ส่วนตัวยังไม่ได้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะร่างพ.ร.ป.ดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และผู้ตรวจการแผ่นดินว่าจะมีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันหรือไม่ภายใน 10 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ โดยหากเมื่อพ้นกำหนดดังกล่าวแล้วผู้ตรวจการแผ่นดินและ กรธ.ไม่ได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย สนช.ก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ทันที แต่หากองค์กรใดองค์กรหนึ่งเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน ก็ต้องดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันก่อน” ประธานสนช.กล่าว

เมื่อถามว่า การยื่นเรื่องคำร้องดังกล่าวถือเป็นความขัดแย้งภายใน สนช.หรือไม่ เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ สนช.ก็ได้มีการแก้ไขเนื้อหา แต่กลับยังมีการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก นายพรเพชรกล่าวว่า ไม่ได้เป็นเรื่องความขัดแย้ง เพราะเป็นกรณีที่สมาชิก สนช.ใช้สิทธิในฐานะสมาชิกรัฐสภาเพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนคำวินิจฉัยที่ออกมาจะเป็นบรรทัดฐานให้กับ สนช.สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ในอนาคตหรือไม่ ยังตอบในเวลานี้ไม่ได้ เพราะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาก่อน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นด้วยกับการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเป็นร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความชัดเจน มิเช่นนั้นอาจจะเป็นปัญหาในอนาคตหากมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังร่า งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้ว นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.ป. สนช.ได้ส่งไปให้นายกรัฐมนตรีจนถึงขณะนี้มีทั้งสิ้น 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2.ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ 3.ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

ที่มา : มติชนออนไลน์